ความเป็นสวนกุหลาบ มุมมองจากด้านในของตึกยาว

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ตึกยาว ที่ทอดตัวยาวตลอดแนวถนนตรีเพชร แม้เมื่อมองจากภายนอก อาคารเก่าแก่ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งนี้จะมีสภาพโทรมทรุด และเป็นประหนึ่งกำแพงขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นการรับรู้ของผู้คนภายนอก ให้คิดสงสัยในกิจกรรมและเรื่องราวที่เกิดขึ้นอยู่เบื้องหลัง

แต่สำหรับผู้คนซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของตัวอาคาร อิฐทุกก้อนกำลังบอกเล่าความเป็นมาและเป็นไป ไม่ใช่เรื่องราวของตึกที่ไร้ลมหายใจ แต่เป็นชีวิตของผู้คนที่กำลังได้ผ่านประสบการณ์การบ่มเพาะจากสถานศึกษาแห่งนี้ และพร้อมจะทอดตัวยาวเป็นประหนึ่งสะพานเชื่อม ให้ผู้คนภายนอกได้พิสูจน์ความแข็งแกร่งของธาตุที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวตนนี้

ขณะที่ผู้คนมากหน้าหลายตา ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้ที่สังคมวงกว้างให้การเคารพนับถือ กำลังเดินสำรวจห้องแสดงนิทรรศการบนอาคารหลังยาว ที่เน้นไปในทางการเชิดชูเกียรติสถาบัน และศิษย์เก่าที่ได้มีโอกาสสร้างชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในชีวิต อีกมุมหนึ่งของโรงเรียนบนตึกสามัคยาจารย์ ซึ่งเป็นที่จัดนิทรรศการแสดงผลงานของนักเรียน เด็กๆ กลุ่มหนึ่งซึ่งรวมตัวกันภายใต้ชื่อ ชุมนุมสวนรักสวน กำลังจัดแสดงนิทรรศการที่เรียบง่าย ด้วยการตั้งคำถามถึงหนังสือสมานมิตร ฉบับ "ศึก..." ที่ใครหลายคนอยากลืม

"ถ้าเราเชื่อว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของโรงเรียนแห่งนี้ ทำไมไม่มีใครกล่าวถึง "ศึก..." พวกผมเชื่อว่าเราสามารถที่จะเรียนรู้ทำความเข้าใจได้ การปิดกั้นหรือจงใจไม่พูดถึง ไม่น่าจะเป็นวิธีการศึกษาที่ถูกต้อง" ภูริ ฟูวงศ์เจริญ แกนนำในชุมนุมสวนรักสวน กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เขาเป็นนักเรียนชั้น ม.4 ซึ่งกำลังจะขยับขึ้นไปสู่ ม.5 เมื่อเปิดเรียนปีการศึกษาใหม่ในอีกไม่ช้า อาการขวยเขินหรือตกประหม่าต่อคำถามที่พรั่งพรูเข้าใส่ มีอยู่บ้าง พอให้รู้สึกได้ถึงความเป็นผู้เยาว์ ที่อ่อนน้อม แต่ดวงตาของเขามีประกายมุ่งมั่นจริงจัง

ภายใต้แนวความคิดที่จะเสนอเรื่องราวของ "ศึก..." ให้สมาชิกส่วนอื่นๆ ของสวนกุหลาบฯ ได้ร่วมกันรับรู้ ถึงการมีอยู่ของหนังสือเล่มนี้ ในลักษณะที่ไม่ยัดเยียดเพียงแต่ขอโอกาสในการพูดคุยแลกเปลี่ยน และร่วมกันประเมินความก้าวหน้าของแนวความคิดเกี่ยวกับการศึกษา ที่มีอยู่ในหนังสือเล่มดังกล่าว ภายใต้สถานการณ์การปฏิรูปการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าความพยายามของภูริ และเพื่อนๆ เสี่ยงต่อทัศนะล้าหลังของผู้คนอีกจำนวนหนึ่งในสวนกุหลาบฯ ไม่น้อย

"ก็มีบ้างครับ ที่ไม่เดินเฉียดเข้ามาเลย แต่ยังไม่ถึงกับจะต่อว่า ซึ่งพวกเราก็เข้าใจได้ เพียงแค่การไม่ปิดกั้นและเปิดโอกาสอนุญาตให้เราจัดนิทรรศการอย่างนี้ เราก็ถือว่าโอเคแล้ว เพราะถ้าจะประเมินกันจริงๆ การหยิบยกเรื่อง "ศึก..." ขึ้นมา เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของโจทย์ปัญหาเกี่ยวกับฐานะทางประวัติศาสตร์ของโรงเรียน เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนปัจจุบันตระหนักถึงการพัฒนาโรงเรียนในระยะยาวมากกว่า"

ภูริ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสวนกุหลาบฯ ในฐานะที่เป็นนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ บ้านของเขาอยู่ถัดเข้าไปในซอยบริเวณศาลาเฉลิมกรุง ห่างจากโรงเรียนไม่ไกลเพียงระยะทาง 1 ทางแยก

"ตอนเรียนอยู่มัธยมต้น ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร แค่เออนะ..เราเป็นเด็กสวนกุหลาบฯ ไม่ได้คิดอะไรมาก อาจเป็นเพราะการได้มาเป็นเด็กสวนกุหลาบฯ ของผมมันง่าย ได้มาง่าย เลยยังไม่รู้สึกอะไร อีกอย่างอาจเป็นเพราะยังเด็ก แต่พอเริ่มหันมามองสวนกุหลาบฯ อีกครั้ง รู้สึกว่า โอ้โฮ รุ่นพี่ๆ ที่จบไปแล้ว แต่ละรุ่นเขาได้ทำได้สร้างอะไรไว้มาก จะมาพังเพราะรุ่นเราไม่ได้"

แม้ว่าเขาจะเป็นนักเรียนที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการสอบคัดเลือก เหมือนนักเรียนเก่ารุ่นพี่ๆ เพราะนโยบายของรัฐมุ่งหมาย ให้แต่ละโรงเรียนรับนักเรียนในพื้นที่บริการเป็นหลัก แต่ผลการเรียนของเขาในช่วงปีที่ผ่านมา ก็จัดอยู่ในเกณฑ์ดี คะแนนเฉลี่ยรวม 3.60 ของเขา ย่อมบ่งบอกได้เป็นอย่างดีถึงความเอาใจใส่ในการศึกษาของเขา ไม่นับรวมหนังสืออ่านนอกเวลาจำนวนมาก ที่เชื่อว่านักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยบางคนก็ยังไม่เคยหยิบอ่าน

"สำหรับนักเรียนสวนกุหลาบฯ เกรดเป็นเพียงตัวเลขสัมพัทธ์ โดยส่วนตัวผมเชื่อว่ามาตรฐานการศึกษาของสวนกุหลาบฯ ต่ำลง เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นก่อนๆ หากลองไปดูข้อสอบของรุ่นพี่เก่าๆ ต้องยอมรับเลยว่า ยากกว่ามาก"

แนวความคิดที่พรั่งพรูออกมาของภูริ ย่อมก่อให้เกิดข้อสงสัย ไม่น้อยว่า "จารีต" หรือวิธีการเรียนการสอนแบบใด ที่ก่อร่างและส่งผ่านทัศนะในเรื่องกิจกรรมและสังคมเช่นนี้ให้แก่เขา ข้อสรุปอาจจะสั้นง่ายในทำนองที่ว่าการได้อยู่เป็นสมาชิกของโรงเรียนแห่งนี้มานานกว่า 4 ปี มีครูเป็นผู้อบรมสั่งสอนเป็นปัจจัยสำคัญ แต่เมื่อได้พบกับ คธาพล ตรัยรัตนทวี เพื่อนร่วมชั้นเรียนของภูริ และเป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรมในครั้งนี้ อาจจะต้องประเมินสมมติฐานนั้นกันใหม่

คธาพล ไม่ได้อยู่ในพื้นที่บริการเหมือนภูริ บ้านของคธาพลอยู่ที่พรานนก ซึ่งอยู่นอกเขตบริการของสวนกุหลาบฯ เมื่อตอนจะเลื่อนชั้นเรียนขึ้นสู่ระดับ ม.1 คธาพลเคยมาสอบเข้าสวนกุหลาบฯ ครั้งหนึ่งแล้ว แต่ครั้งนั้นเขาสอบเข้าไม่ได้ จึงต้องไปเป็นนักเรียนในโรงเรียนของรัฐอีกแห่งหนึ่งในละแวกบ้าน ก่อนที่จะได้เริ่มมาเป็นนักเรียนสวนกุหลาบฯ ในชั้น ม.4 เมื่อปีการศึกษาที่ผ่านมา

"การเรียนการสอนของสวนกุหลาบฯ ไม่ได้แตกต่างจากโรงเรียนเดิมของผมเลย ทั้งสองแห่งเป็นโรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษาเหมือนกัน ใช้หลักสูตรเดียวกัน ซึ่งก็เป็นอย่างนี้มาเนิ่นนานแล้ว สำหรับผม สวนกุหลาบฯ แตกต่างจากโรงเรียนแห่งอื่นๆ อย่างมากในเรื่องของสังคมภายในโรงเรียน"

โรงเรียนเก่าของคธาพล เป็นโรงเรียนแบบสหศึกษา ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า น่าจะเป็นคำตอบที่ดีในการแก้ไขปัญหาการศึกษาของชาติ แต่ในทัศนะของคธาพล นั่นกลับกลายเป็นจุดอ่อนของโรงเรียน เพราะความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้องของนักเรียนในสถาบันเดียวกันเป็นสิ่งที่หาได้ยาก และความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นถูกแทนที่ด้วยปัญหาเรื่องชู้สาวแทน

"ตอนเข้ามาใหม่ๆ ก็รู้สึกสงสัยว่า อะไรในสวนกุหลาบฯ ทำให้กิจกรรมโรงเรียนโดดเด่นอย่างนี้ แต่อยู่มาได้สักระยะก็เริ่มเข้าใจ การถกเถียงกันในหมู่นักเรียน ซึ่งเป็นเด็กผู้ชายล้วนของสวนกุหลาบฯ มันมีความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้อง แบ่งงานกันทำ เคารพกัน ซึ่งล้วนแต่เกิดขึ้นเอง โดยไม่มีการบังคับ ไม่เหมือนกิจกรรมต่างๆ ที่มีในโรงเรียนเก่าของผม ที่กลายเป็นเรื่องพี่จีบน้อง-น้องจีบพี่ เป็นเรื่องของการแสดงออกเพื่อหาคู่ มากกว่าที่จะสนใจในการตั้งประเด็นเพื่อทำกิจกรรม"

คธาพลเล่าว่า ภาพความประทับใจอีกส่วนหนึ่งเกิดขึ้น เมื่อครั้งการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ครั้งล่าสุดที่เพิ่งผ่านพ้นไป เมื่อปลายปี 2544 ไม่ใช่เพราะสวนกุหลาบฯ ได้ครองตำแหน่งชนะเลิศร่วมกับกรุงเทพคริสเตียน แต่เป็นเพราะบรรดากองเชียร์ที่แห่แหนเข้าไปให้กำลังใจนักกีฬา โดยเฉพาะภาพของศิษย์เก่าที่ร่วมกับรุ่นน้องที่เป็นนักเรียนปัจจุบัน ยืนล้อมวงรอบสนามกีฬา เพื่อร้องเพลงโรงเรียนเป็นการขอบคุณให้แก่นักกีฬาและนักเรียน ที่ต้องขึ้นไปแปรอักษรอยู่บนอัฒจรรย์

"สำหรับเด็กอย่างผม มันเป็นภาพที่ยิ่งใหญ่ โรงเรียนอื่นอีก 3 โรงเรียนก็เป็นโรงเรียนเด็กผู้ชายล้วนๆ มีศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบันมากมายพอกัน แต่ทำไมมีสวนกุหลาบฯ เท่านั้นที่ทำได้อย่างนี้ มันทำให้ผมคิดว่าเมื่อเข้ามาอยู่เป็นสมาชิกของที่นี่แล้วจะทำลายชื่อเสียงเก่าๆ ของโรงเรียนไม่ได้ ซึ่งผมเชื่อว่านักเรียนสวนกุหลาบฯ ส่วนใหญ่คิดอย่างนี้"

ชื่อเสียงและเกียรติภูมิของสวนกุหลาบฯ ที่ภูริ และ คธาพล พูดถึง มิได้มีความหมายเพียงเพื่อจะมีส่วนในการอวดโอ้ ความเป็นสวนกุหลาบฯ ซึ่งย่อมหาสาระใดๆ ไม่ได้ กิจกรรมที่พวกเขากำลังทำอยู่ก้าวไปไกลพอๆ กับความคิดและความหวังของพวกเขา

สำหรับพวกเขาแล้ว การเป็นนักเรียนสวนกุหลาบฯ น่าจะหมายถึงการได้มีโอกาสศึกษาในสถาบัน ที่อบรมให้เยาวชนเติบโตเพื่อรับใช้สังคมในวงกว้าง ซึ่งมีความหมายมากกว่าการเป็นเพียงสถานศึกษาที่คอยให้บริการชุมชนในพื้นที่ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างไม่อาจเปรียบเทียบได้

ในบทความของภูริ เรื่อง "ความหวังของเด็กสวนฯ... ปฏิรูปการศึกษา" ซึ่งตีพิมพ์ในสารสวนกุหลาบ ฉบับที่ 19 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2544 ตอนหนึ่งระบุว่า "การปฏิรูปการศึกษาที่เรามีความจำเป็นจะต้องเดินตาม ไม่ว่าแนวทางนี้จะนำเราก้าวไปข้างหน้า หรือพาเราถอยหลังก็ตาม ในฐานะเยาวชนที่ต้องถูกปฏิรูป สิ่งที่ควรมีการระดมความคิดคือทำอย่างไร การศึกษาไทยจะไม่เป็นเพียงแค่กระดาษปริญญาหนึ่งใบ ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นเพียงผู้มีหน้าที่เรียนเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น"

พวกเขายังเชื่อด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่กำลังบั่นทอนสังคมอยู่ก็ คือ ค่านิยมในเรื่องของสถานศึกษา ในทำนองว่าที่นั่นดีกว่าที่นี่ เรียนสถาบันนี้แล้วจะเก่งกว่าสถาบันอื่น เพราะเยาวชนจากทุกสถานศึกษาสมควรที่จะจบการศึกษาออกมาประกอบอาชีพ ด้วยความเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ด้วยข้อได้เปรียบจากสถานศึกษาที่จบออกมา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.