"ไม่ต้องการให้สถาบันต้องแปดเปื้อน"

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

"โดยปกติเขาไม่ต้องการที่จะเปิดเผยสถานะการเป็นนักเรียนเก่าสวนกุหลาบฯ เท่าใดนัก แม้ว่าเขาจะมีความภาคภูมิใจในความเป็นสวนกุหลาบฯ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านักเรียนเก่าคนอื่นๆ และในบางกรณี เนวิน ชิดชอบ ดูจะแสดงความภาคภูมิใจในเรื่องนี้ออกนอกหน้ามากกว่านักเรียนเก่าบางคนด้วยซ้ำ

"เป็นความรู้สึกว่าไม่ต้องการให้สถาบันและบุคคลที่เราเคารพรักท่านอื่นๆ ต้องแปดเปื้อนมากกว่า ตลอดเวลาที่ถูกโจมตีเรื่องภาพลักษณ์ ก็ได้แต่คิดเสียใจที่ไม่มีโอกาสอธิบายให้ประชาชนได้รับรู้ว่าจริงๆ แล้วเราเป็นอย่างไร บางครั้งก็อยากจะโทษว่าเป็นกรรม เป็นเรื่องของนามสกุลที่ต้องเข้ามาสัมผัส มาชิด ก่อนถึงจะชอบ" เนวินกล่าวกับ "ผู้จัดการ" อย่างอารมณ์ดี ในการพบกันเมื่อเย็นวันหนึ่งที่สนามฟุตบอล ภายในศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น

เขาเคยเป็นนักการเมืองหนุ่มรุ่นใหม่ ที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง จากลีลาและประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาอภิปรายในรัฐสภา รวมถึงการปราศรัยหาเสียงในเวทีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างผลงานโดดเด่นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ในกรณี สปก.4-01 จนเป็นเหตุให้มีการยุบสภา และพรรคชาติไทยชนะการเลือกตั้งครั้งใหม่ โดยมีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ในเวลาต่อมา

เมื่อได้รับการปูนบำเหน็จให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และเป็นรองประธานกรรมาธิการการคลังฯ ในปี 2538 เขาได้ขอแปรญัตติ งบประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อใช้ในการซ่อมแซมบูรณะอาคารสวนกุหลาบ หรือตึกยาว โบราณสถานของชาติที่ขึ้นทะเบียน โดยกรมศิลปากรตั้งแต่เมื่อปี 2530 และอยู่ในสภาพทรุดโทรมอย่างหนัก

"ผมไม่ได้บอกใครว่าเป็นศิษย์เก่าสวนกุหลาบฯ เพราะเกรงการครหา ซึ่งในห้องประชุมกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว ก็มีศิษย์เก่าสวนกุหลาบฯ อีกหลายท่าน แต่ไม่มีใครอยากเปลืองตัว ซึ่งหากพิจารณาจากข้อเท็จจริงของตึกยาวที่เป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียน เราไม่ควรปล่อยให้พังทลายลงไปอย่างไร้การดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญของตึกยาว มีมากกว่าการเป็นอาคารเรียนส่วนหนึ่งของโรงเรียนสวนกุหลาบฯ แต่สำคัญในฐานะพิพิธภัณฑ์การศึกษาของชาติ" เนวินย้อนอดีตการแปรญัตติในครั้งนั้นให้ฟัง ซึ่งเขาเชื่อว่าเขามีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้กรรมาธิการท่านอื่นๆ เห็นชอบ

เขาเล่าว่าเคยเป็นนักฟุตบอลของโรงเรียน แต่หลังจากเรียนจนถึงชั้น ม.ศ. 3 ความสนใจในกิจกรรมด้านอื่นๆ เริ่มเพิ่มพูนขึ้น ซึ่งในช่วงปี 2514-2519 ที่เขาเรียนอยู่ในสวนกุหลาบฯ กิจกรรมนักเรียนก็อยู่ในภาวะที่เฟื่องฟูเต็มที่ โดยเขาได้เข้าไปร่วมกิจกรรมกับชุมนุมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง "ก็ไม่ค่อยมีคนรู้มากนัก แต่นั่นอาจเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ประเด็นและการทำหน้าที่อภิปรายเรื่องสปก.4-01 ชัดเจนขึ้น"

แต่นั่นอาจไม่มากเท่ากับนิยามความเป็นสวนกุหลาบฯ ที่เขาระบุว่า ความเป็นสวนกุหลาบฯ คือการคิดและจับประเด็นให้ได้เร็วและดี เพราะในฐานะนักเรียนสวนกุหลาบฯ ที่ไม่ใช่คนเรียนเก่งอย่างเขา หากไม่พยายามเข้าใจประเด็นต่างๆ อย่างรวดเร็วแล้วก็คงไม่มีโอกาสมายืนอยู่ ณ จุดนี้เป็นแน่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.