|
โกลเด้นท์ฯผนึกทุกแบงก์ชูเอสโครว์ฯตอกย้ำแบรนด์พรีเมี่ยม-ชี้ช้า1ก้าวแต่มั่นคง
ผู้จัดการรายวัน(8 ธันวาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
โกลเด้นท์แลนด์ชูจุดแข็งพัฒนาโครงการอสังหาฯ ใช้ระบบเอสโครว์ แอคเคานต์ร่วมกับสถาบันการเงินทุกแห่ง ขณะที่สถาบันการเงินแฮปปี้คุมกระแสเงินเข้าและออกได้ ลดความเสี่ยงให้กับเจ้าหนี้ ชี้แม้จะก้าวช้าแต่มั่นคงกับบริษัท
ในช่วงวิกฤตการณ์อสังหาริมทรัพย์เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากจองซื้อบ้านแล้วไม่ได้บ้าน เงินดาวน์ก็ไม่ได้รับคืน รวมเงินดาวน์ที่เสียไปอาจรวมเป็นเงินนับหมื่นล้านบาท ดังนั้นจึงควรมีมาตรการประกันเงินดาวน์ โดยผู้ซื้อต้องได้รับการประกันว่า เมื่อจองซื้อบ้านแล้วจะสามารถได้บ้านตามที่ประสงค์ในระยะเวลาและคุณภาพที่ตกลงกับผู้ขาย และหากผู้ขายไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ ผู้ซื้อจะได้รับคืนเงินดาวน์พร้อมดอกเบี้ย
มาตรการนี้สมควรดำเนินการ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน ส่วนใหญ่ของประเทศโดยตรง และจะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อตลาดมากขึ้น ทำให้เกิดการซื้อขายที่เป็นธรรมมากขึ้น และการซื้อขายเช่นนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในทางหนึ่ง
กฎหมายเอสโครว์ แอคเคานต์ หรือการประกันเงินดาวน์ของประชาชนผู้ซื้อบ้านเป็นร่างกฎหมาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค โดยจะสร้างความมั่นใจ และเป็นหลักประกันให้กับผู้ซื้อบ้าน รวมทั้งยังช่วยป้องกันหรือลดจำนวนผู้ขาย ที่ไม่มีความพร้อมออกจากระบบ และช่วยลดไม่ให้เกิดปัญหากรณีข้อพิพาทในภายหลัง
ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจและให้หลักประกันกับผู้ซื้อ จึงได้นำระบบเอสโครว์ แอคเคานต์ หรือร่างพระราชบัญญัติ การจัดการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ.... ซึ่งจะให้ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงเลือกคนกลาง (เอสโครว์ เอเยนต์) เข้ามาดูแลผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย โดยเอสโครว์ เอเยนต์จะทำหน้าที่นำเงินดาวน์ของผู้ซื้อไปเปิดบัญชีเงินฝากไว้ที่สถาบันการเงิน และจะมีการเบิกจ่ายเงินก็ต่อเมื่อผู้ขาย พร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ให้กับผู้ซื้อ เว้นแต่คู่สัญญาจะตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
ดังนั้น หากผู้ขายไม่ก่อสร้างบ้าน หรือก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตาม สัญญา ผู้ซื้อก็จะได้รับเงินดาวน์คืน พร้อมดอกเบี้ยที่ได้รับจากการฝากเงินดังกล่าว หรือถ้าหากผู้ซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญา ทางเอสโครว์ เอเยนต์ก็จะนำเงินดาวน์ พร้อมดอกเบี้ยนี้มาจ่ายให้กับผู้ขายแทน ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ซื้อและผู้ขายให้ได้รับความ เป็นธรรมจากการซื้อขายบ้าน ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการกำหนดบทลงโทษ สำหรับเอสโครว์ เอเยนต์ กรณีที่ทำให้เกิดความเสียหาย หรือไม่ดูแลผลประโยชน์ให้กับคู่สัญญา โดยระบุโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีปรับไม่เกิน 1 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวนี้ ไม่ได้กำหนดให้ทุกคนจะต้องเข้าสู่ระบบเอสโครว์ แอคเคานต์ แต่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของคู่สัญญา นอกจากนี้ ผู้ซื้อยังต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับคนกลาง หรือเอสโครว์ เอเยนต์ สำหรับการดูแลผลประโยชน์ดังกล่าวด้วย
โกลเด้นท์แลนด์ชูศักยภาพทุกโครงการทำเอสโครว์ฯ
ในปัจจุบันบริษัทพัฒนาอสังหาฯที่จะเริ่มเข้าสู่ระบบดังกล่าว แทบมีจำนวนน้อยมาก เนื่องจากบริษัทที่จะใช้ระบบดังกล่าวฐานะการเงินต้องมีความแข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับ "กระแสเงินสด" ที่ถูกควบคุมจากสถาบันการเงิน แต่สำหรับบริษัทแผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มองต่างมุมกับผู้พัฒนาโครงการรายอื่นๆ
นางวรรณา ชัยสุพัฒนากุล ผู้ช่วยกรรมการบริหาร บริษัท แผ่นดินทองฯ เปิดเผยว่า บริษัทเป็น ผู้ริเริ่มใช้ระบบเอสโครว์ แอคเคานต์ เนื่องจากระบบดังกล่าวจะช่วยคุ้มครองผู้ผ่อนดาวน์ให้ได้ที่อยู่อาศัยตามที่โครงการตกลงไว้ ซึ่งจะว่าไปแล้วโครงการบ้านลาดพร้าว ที่พัฒนามาหลายปีได้ร่วมมือกับธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ลูกค้าผ่อนชำระเงินดาวน์กับธนาคารแทนมาชำระเงินให้กับบริษัทฯโดยตรงในลักษณะบัญชีเอสโครว์ โดยบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบ ขณะที่โครงการต่างๆ ที่ดำเนินการปัจจุบัน ทั้ง โกลเด้น รีเจ้นท์, โกลเด้นนครา, โครงการเฮอริเทจ, โครงการสกายวิลล่าส์ และโครงการ เมแฟร์ มาริออต เอ็กเซ็กคิวทีฟอพาร์ตเม้นท์ และโครงการสกายวิลล่าส์ ขณะที่โครง-การแกรนด์โมนาโคซึ่งเป็นโครงการ บ้านเดี่ยวระดับหรู ก็เป็นอีกโครง- การที่ร่วมกับธนาคารกสิกรไทยใช้ระบบเอสโครว์ฯ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่บางนา-ตราด มูลค่าโครงการ 4,500 ล้านบาท จำนวน 400 หน่วย ราคาขายเฉลี่ย 11-12 ล้านบาท มียอดจองแล้ว 300 ล้านบาท จำนวน 31-32 ยูนิต ซึ่งในเฟสแรกจะพัฒนาบนเนื้อที่ 70 ไร่ หรือ 140 ยูนิต
"ระบบเอสโครว์แน่นอนบริษัท ที่จะเข้าร่วมได้ต้องมีทุนที่หนาแน่น จึงจะทำให้ได้ ซึ่งในส่วนของโกลเด้นท์แลนด์เรามองความมั่นคงและการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยสินเชื่อก็มีความอุ่นใจสามารถควบคุมกระแสเงินไหลเข้าและออกได้ ไม่ใช่แค่นั้นลูกค้าที่มาซื้อโครงการของโกลเด้นท์แลนด์จะเป็นทั้งนักธุรกิจ เจ้าของโครงการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม โอกาสที่แบงก์ จะขายผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าเพิ่มขึ้นมีมากกว่าแค่ปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย" นางวรรณากล่าว
ตามข้อมูลในงบการเงินสิ้นสุด วันที่ 30 กันยายน 2547 บริษัทได้มีเงินฝากออมทรัพย์ของบริษัทย่อย จำนวน 776.3 ล้านบาทในบัญชีเอสโครว์ ซึ่งวัตถุประสงค์เพื่อการรับชำระเงินจากลูกค้าตามสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินและอาคารที่พักอาศัยการเบิกถอนเงินจากบัญชี เอสโครว์จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนด ที่ได้ระบุไว้ในสัญญาเอสโครว์
นางวรรณากล่าวว่า หากมองระยะยาวแล้วระบบเอสโครว์จะมีผลดีต่อบริษัทฯ ทั้งการไม่ต้องมาดูแลบ้านที่เปิดขายแล้วขายไม่ได้ ไม่ต้องมาเร่งติดตามหนี้การก่อสร้าง ควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้ และหากมองเป็นภาพรวมแล้วยังช่วยตรวจสอบการเก็งกำไรของผู้ประกอบการได้
อย่างไรก็ตาม การที่จะประกาศใช้ระบบเอสโครว์แล้ว รัฐบาลควรเปิดให้ผู้ที่พร้อมและสมัครใจเข้าร่วมมากกว่าที่จะบังคับในวงกว้าง เพราะจะส่งผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะบางบริษัทจะมีกระแสเงินสะดุด เช่น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็ก เป็นต้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|