"สวนกุหลาบฯ ในอดีต เปิดให้เด็กคิด และเติบโตโดยไม่สูญเสียตัวตน"

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งผันตัวเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภา จากการเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และได้ชื่อว่าเป็น "ผู้มีฝีปากคมพอๆ กับความคิด"

เขาเข้าเรียนชั้น ม.ศ. 2 ในสวนกุหลาบฯ เมื่อปี พ.ศ. 2508 จากผลของการย้ายตามบิดา (ศิริ อติโพธิ อดีตประธานศาลฎีกา) และมีผลการเรียนดีเป็นที่ 1 ของนักเรียนชั้น ม.ศ. 1 จากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดอุบลราชธานี

"ชื่อเสียงของสวนกุหลาบฯ อาจเป็นผลมาจากต้นทุนที่มีเด็กเก่งๆ จากทุกสารทิศเข้ามาเรียน และทำให้เกิดความหลากหลาย แต่ส่วนประกอบสำคัญน่าจะอยู่ที่ครู ซึ่งมีความภาคภูมิใจในความเป็นครู ไม่ได้คิดที่จะแสวงหารายได้จากการกวดวิชาเหมือนปัจจุบัน" เป็นความรู้สึกที่แก้วสรรสะท้อนออกมา และบ่งบอกนัยของความรู้สึกกังวลต่อปัญหาการศึกษาของชาติได้อย่างตรงไปตรงมา

ความทรงจำและความรู้สึกนึกคิดของเขาที่มีต่อสวนกุหลาบฯ ดูจะกว้างไกลออกไปและเกี่ยวเนื่องกับระบบการศึกษาไทยทั้งระบบ มากกว่าที่จะพร่ำพรรณาถึงความรัก ความผูกพันที่ศิษย์เก่าคนหนึ่งมีต่ออิฐ ปูน ทราย ที่ก่อขึ้นมาเป็นโรงเรียน

"สิ่งที่ผมได้จากสวนกุหลาบฯ เป็นความรู้สึกถึงความเป็นสามัญ บรรยากาศของความเสมอภาพ และเสรีภาพที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นวินัยที่ไม่ได้เกิดจากการบังคับ สวนกุหลาบฯ ในอดีต เปิดให้เด็กคิด และเติบโตโดยไม่สูญเสียตัวตน ซึ่งโรงเรียนในอดีตส่วนใหญ่ก็มีลักษณะเช่นนี้"

แม้เขาจะไม่ใช่นักการศึกษา แต่เขาได้เปิดเผยให้เห็นอยู่เสมอว่า เป็นผู้สนับสนุนการกระจายโอกาส กระจายมาตรฐานทางการศึกษา และจากประสบการณ์ในฐานะอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัยนานกว่า 20 ปี ทำให้เขาประเมินปัญหาของการศึกษาไทยว่า เป็นผลมาจากการลืมอดีต ขณะที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา ก็สนใจที่จะพิจารณาปัญหาจากสภาพปัจจุบัน และมุ่งที่จะเสนอแต่อนาคต

"เวลานี้เหมือนคนที่ขับรถหลงทาง ถ้าไม่ย้อนกลับมาเริ่มต้นที่ทางแยกเพื่อหาทิศทางใหม่ แต่ยังดึงดันจะไปตามทาง ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันผิด มันหลงทาง โอกาสที่จะมีการศึกษาที่พึงประสงค์มันก็เกิดยาก สิ่งที่สมควรกระทำคือการนำพาบรรยากาศของโรงเรียนและการเรียนในอดีตกลับมา ไม่ใช่การเรียน ที่หมายถึงการแข่งขัน ข่มขืนยัดเยียดเด็ก ทำลายเสรีภาพทางความคิด หรือการได้ทำมาหากิน อย่างที่เป็นอยู่"

ขณะที่ทัศนะของเขาต่อบทบาทของสวนกุหลาบฯ และตึกยาว ซึ่งกำลังจะเป็นสถานที่จัดสร้างพิพิธภัณฑ์การศึกษาของชาติ และที่แสดงเกียรติประวัติของสวนกุหลาบฯ ก็เป็นไปในลักษณะที่ไม่ต้องการให้เป็นเพียงการแสดงความรักสถาบัน ที่จำกัดอยู่เฉพาะคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

"ตึกยาว ไม่ควรเป็นเพียงสิ่งที่ตายไปแล้ว และสวนกุหลาบฯ ก็น่าที่จะได้ใช้โอกาสนี้ทบทวนบทบาทของโรงเรียน และทิศทางการศึกษาของประเทศชาติมากกว่า"

เป็นข้อเสนอของแก้วสรร อติโพธิ ศิษย์เก่าสวนกุหลาบฯ เนื่องในโอกาสครบ 120 ปี ของการสถาปนาโรงเรียนที่น่ารับฟังยิ่ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.