|
ส่องกล้องแนวคิดธีรวิทย์ จารุวัฒน์ซีอีโอคนแรกที่ไม่ใช่ "ลูกหม้อทศท"
ผู้จัดการรายวัน(7 ธันวาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
เปิดแนวคิด "ธีรวิทย์ จารุวัฒน์" ที่ชนะใจกรรมการสรรหาและบอร์ดทศท ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้วยมุมมองสร้างความเข้มแข็งจากฐานธุรกิจเดิมอย่างโทรศัพท์พื้นฐาน และแสวงหาโอกาสใหม่จากธุรกิจที่ทศทไม่ได้ให้สัมปทานเอกชน พร้อมกับการสร้างทีม สร้างความเป็นผู้นำ และการตลาดที่แข็งแกร่ง พร้อมทั้งความชัดเจนของโครงสร้างรายได้ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
นายธีรวิทย์ จารุวัฒน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่การเงิน (CFO) บริษัท อสมท กล่าวว่าในวันนี้ (7 ธ.ค.) จะเข้าไปเจรจากับบอร์ดบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น เกี่ยวกับรายละเอียดสัญญาการจ้างภายหลังจากที่บอร์ดทศท มีมติคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานบอร์ด ทศท ให้เหตุผลที่เลือกนายธีรวิทย์จากรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมาให้น้อยกว่า 3 ชื่อว่าเป็นเพราะบอร์ดให้น้ำหนักในเรื่องความสามารถเชิงธุรกิจ เชิงพาณิชย์ มนุษยสัมพันธ์และการประสานงาน โดยมองว่าในการบริหารธุรกิจปัจจุบันความสามารถในการบริหารด้านการเงินถือว่ามีความสำคัญอันดับ 1 รองลงมาคือความสามารถด้าน การตลาด และรองลงมาเป็นความสามารถในการบริหารด้านเทคโนโลยี ซึ่งนายธีรวิทย์จะต้องบริหารงานให้บรรลุตามยุทธศาสตร์ 9 ข้อ ของทศทคือ
1.การสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว 2.สร้างความพึงพอใจ เกินความคาดหวังและมีความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า 3.ทำการตลาดเชิงรุกเพื่อส่งมอบสินค้าและบริการตามความต้องการของลูกค้า 4.เป็นศูนย์รวมการให้บริการมัลติมีเดีย คอนเทนต์ และแอปพลิเคชัน 5.เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายในประเทศที่ทันสมัย โทรศัพท์ประจำที่ โทรศัพท์สาธารณะและบริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง 6.บริการก้าวไกลเชื่อมโยง โลกไร้พรมแดน 7.เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือระบบ 3G รายแรกของประเทศ 8.ให้บริการสื่อสารไร้สาย ทางสายที่สามารถสร้างความสะดวกสบายและประหยัดให้กับลูกค้า (Convergence) และ 9.การเพิ่มสมรรถนะของบุคลากรและองค์กร
นายธีรวิทย์ปัจจุบันอายุ 46 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท การจัดการและนโยบายพลังงาน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ปริญญาโท บริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท การเงิน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ด้านประสบการณ์ทำงานเคยเป็นวิศวกรเครื่องกล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย วิศวกรวางแผน บริษัท ยูโนแคล (ประเทศไทย) รองผู้จัดการฝ่ายวางแผน บริษัท เงินทุนเอกธนกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.เอกโฮลดิ้งส์ ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการ บริษัท พัชรประกันภัย รองผู้จัดการใหญ่สายวางแผน บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมิกัลไทยหรือทีพีไอ และปัจจุบันเป็น CFO บริษัท อสมท
นายธีรวิทย์กล่าวว่าในความเห็นส่วนตัวคิดว่าการที่บอร์ดทศทตัดสินใจเลือกให้เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นเพราะความเป็นคนนอกที่ไม่มีอคติกับทศท และไม่มีสายสัมพันธ์หรือคอนเน็กชันกับบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจโทรคมนาคม แต่มีคุณสมบัติพอที่จะบริหารองค์กรขนาดใหญ่อย่างทศทให้เติบโตไปได้ และการเป็นคนนอกจะทำให้การประเมินผลงานในช่วง 6 เดือน ทำได้ง่ายเพราะหากไม่ผ่านการประเมินผลก็ต้องลาออกไป
"การเป็นคนนอกหากประเมินผล 6 เดือน ไม่ผ่านก็ลาออกไป แต่ถ้าเลือกจากคนในอาจมีปัญหาในประเด็นนี้มากกว่า"
เขากล่าวว่าการตัดสินใจมาสมัครตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ทศท เป็นเพราะทศทเป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีความท้าทายสูงและน่าจะมีโอกาสแสดงความสามารถในการบริหารงานได้มากรวมทั้งเป็นตำแหน่งที่สูงกว่า ซึ่งใช้เวลาเตรียมตัวล่วงหน้า ในการศึกษาข้อมูลประมาณ 2 สัปดาห์ โดยดูจากข้อมูลของสถาบันการเงินต่างประเทศที่มองในมุมที่ปราศจากอคติ ซึ่งน่าจะวิเคราะห์องค์กรได้อย่าง ลึกซึ้ง
"ตอนนี้ผมทำการบ้านพอสมควร พร้อมเริ่มงานได้ทันทีต้นปี 2548"
อย่างไรก็ตาม การจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจทำให้การบริหารในองค์กรที่มีสินทรัพย์มากกว่า 1 แสนล้านบาทและทำรายได้หลายหมื่นล้านบาท ได้รับแรงต้านน้อยลงเพราะ ผู้บริหารระดับสูงของทศทส่วนใหญ่มักจบจากคณะดังกล่าว รวมทั้ง คอนเน็กชันในสถาบันการศึกษาเดียวกัน ที่ผู้บริหารระดับสูงทั้งในวงการโทรคมนาคม หรือวงการสถาบันการเงิน ก็มีจำนวนมาก อย่างนายวิทิต สัจจพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคมก็ถือว่าจบการศึกษาร่วมสถาบันตั้งแต่มัธยมสวนกุหลาบและวิศวะ จุฬาฯ หรือนายบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหารชินคอร์ปก็เป็นเพื่อนรุ่นพี่สถาบันที่เคยรู้จักและพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกรณีหนี้ทีพีไอสมัยที่เป็นรองผู้จัดการใหญ่
"ผมรู้จักคนมาก ต้องยอมรับว่า วิศวะจุฬาฯเป็นผู้บริหารอยู่ในหลากหลายวงการ อาจมีประโยชน์ที่ช่วยทำ ให้พูดคุยกันได้ง่ายขึ้น อย่างกสทก็มีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตอาจร่วมมือ กันเชิงนโยบายมากขึ้น"
นายธีรวิทย์กล่าวถึงการเสนอกรอบแนวคิดในการบริหารกับคณะกรรมการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ทศทว่าทศท มีทั้งจุดแข็งจุดอ่อน และมีโอกาสในการสร้างมูลค่ามากขึ้น โดยเฉพาะจากธุรกิจที่ทศททำอยู่และไม่ได้มีการให้สัมปทานใครนอกจากนี้จำเป็นต้องมีการสร้างทีมการตลาดขึ้นมา อาจเป็นคนนอกหรือคนในก็ได้ ซึ่งทศทก็เหมือนรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่คนมีฝีมือบางทีไม่มีโอกาสหรือไม่มีเวทีที่จะได้แสดงฝีมือ ต้องมีการสร้างการทำงานร่วมกันเป็นทีม มีการสร้างความเป็นผู้นำ
อย่างไรก็ตาม ทศทจำเป็นต้องสร้างความชัดเจนในสัญญาสัมปทานเพราะบริษัทเอกชนคู่สัญญาอยากแกะตัวเองออกจากสัญญาที่ทำให้ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ทศทปีละรวมกันหลายหมื่นล้านบาท รวมทั้งเพื่ออิสระในการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงขึ้นและนโยบายรัฐก็ต้องการให้เกิดการแข่งขันเท่าเทียมรวมทั้งการ เปิดเสรีจากต่างประเทศจะเริ่มปี 2549
ทศท จึงหลบเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นนี้ยาก เพราะส่วนแบ่งรายได้หากเอกชนต้องจ่ายไปจนสิ้นสุดอายุสัญญาซึ่งเป็นเรื่องดีกับรายได้ทศทแต่สิ่งนี้ไม่ได้แสดง ผลประกอบการที่แท้จริงและยั่งยืน ในขณะที่เรื่องค่าเชื่อมโครงข่ายหรืออินเตอร์ คอนเน็กชัน ชาร์จ กำลังจะถูกนำมาใช้ทำให้การแกะสัญญาสัมปทานต้องรีบดำเนินการเพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น
นอกจากนี้ การที่ทศทต้องการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลดาหลักทรัพย์ฯหรือมีพันธมิตรต่างประเทศ โครงสร้างรายได้ ที่เป็นอยู่สร้างความไม่ชัดเจนต่อสถาบันการเงินต่างประเทศในการมองฐานะที่แท้จริงของทศท
"สิ่งสำคัญคือความชัดเจนจากสัมปทานทศทต้องได้การชดเชยที่ดีและทำให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวซึ่งเรื่องนี้ต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานทั้งหมดให้มากที่สุด ซึ่งทศทสามารถแข็งแรงได้จากธุรกิจเดิมอย่างโครงข่ายพื้นฐานที่มีอยู่และธุรกิจใหม่ที่ยังไม่ได้ทำและยังไม่ได้ให้สัมปทานใครไป"
สำหรับภารกิจในบริษัท อสมท ของเขาถือว่าลุล่วงไปแล้วกับการนำหุ้น อสมท เข้ากระจายในตลาดหลักทรัพย์ หลังจากที่เริ่มงานในตำแหน่ง CFO อสมทในเดือนส.ค.2547 ซึ่งประเด็นการนำหุ้นทศทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯในมุมมองเขาต่างจากอสมท ที่มีความชัดเจนด้านโครงสร้างรายได้มากกว่า ส่วนสัญญากับเอกชนอย่าง BEC TERO Entertainment ซึ่งปัจจุบัน จ่ายส่วนแบ่งรายได้ในจำนวนน้อย ก็ไม่เป็นปัญหาเพราะมีแต่จะต้องจ่ายมากขึ้น ในขณะที่สัญญาสัมปทานของทศท เอกชนจ่ายมากอยู่แล้ว มีความต้องการกลับกัน และต้องการความอิสระในการแข่งขัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากกว่า แต่ต้องทำให้เกิดความชัดเจนก่อนกระจายหุ้น
"บีอีซี หรือยูบีซี จ่ายปีละ 500 กว่าล้าน แต่บริษัทโทรคมนาคมจ่ายให้ทศทปีละ 2 หมื่นกว่าล้าน สเกลมันต่างกันมาก แต่ผมไม่มีวาระซ่อนเร้นในการเป็นซีอีโอ ผมไม่กลัว"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|