เพาเวอร์ไลน์ฯบุกโครงการรัฐเล็งประมูลงานรถไฟฟ้าใต้ดิน


ผู้จัดการรายวัน(7 ธันวาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

PLE ยอมรับงานประมูลแอร์พอร์ตลิงค์ช้า เตรียมแก้ตัวใหม่ประมูลโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินปีหน้าเพื่อหางานในมือเพิ่มอีก 20% จากปีนี้ หรือประมาณ 5 ล้านบาท ขณะงานปี"47 ที่จะรับรู้รายได้ปี"48 มีมากกว่า 4 พันล้านบาท ส่วนการแตกไลน์ธุรกิจกับพันธมิตรายใหม่ในการผลิตกระแสไฟฟ้า คาดจะดำเนินการได้ปีหน้าและเริ่มผลิตไฟฟ้าในปลายปี"49

นายเสวก ศรีสุชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (PLE) เปิดเผยว่า แม้การยื่นซองประมูลในโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ที่เพิ่งผ่านไปแล้วจะล้มเหลว เนื่องจากธนาคารของจีนที่ติดต่อกันไว้ นำเอกสารมาส่งล่าช้ากว่ากำหนด รวมทั้งมติของคณะกรรมการบริษัทที่ประชุมกันช้าไม่ทันการณ์ ทำให้บริษัทไปยื่นซองประมูลล่าช้ากว่ากำหนด จึงหมดโอกาสในการลุ้นรับงานโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ อย่างไรก็ตามในปีหน้า บริษัทยังมีแผนที่จะเข้าประมูลงานของภาครัฐมากขึ้น

สำหรับแผนงานในปี 48 บริษัทเตรียมพร้อมที่จะเข้ายื่นซองประมูลโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินของรัฐที่มีมูลค่าหลายพันล้านบาท สำหรับระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร โครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) อื่นๆ ของรัฐ ซึ่งทำให้บริษัทต้องเตรียมความพร้อมให้มากขึ้น จากที่มีบทเรียนจากการประมูลโครงการแอร์พอร์ตลิงค์

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนเข้าไปประมูลงานภาครัฐมากขึ้น เนื่องจากมีโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐที่รอให้บริษัทผู้รับเหมาต่างๆ เข้ามาร่วมประมูลและบริษัทก็หวังที่จะได้งานจากโครงการของรัฐ

อย่างไรก็ตาม งานเอกชนยังคงเป็นรายได้หลักของบริษัท ส่วนงานภาครัฐจะเพิ่มจาก 15% เป็น 30% ในปีหน้า เนื่องจากโครงการดังกล่าวของรัฐมีเม็ด เงินมหาศาลรอให้ผู้รับเหมายื่นซองประมูล

สำหรับงานในมือของบริษัท (BLACKLOG) ที่จะรับรู้รายได้ในปี 48 มีประมาณ 4 พันล้านบาท และคาดว่าจะมีงานเพิ่มไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท ซึ่งปี 47 ในช่วงต้นปีบริษัทมีงานในมือประมาณ 3,500 ล้านบาท และงานที่จะไปรับรู้ในปีหน้าคืองานที่หาเข้ามาเพิ่มใหม่ในปีนี้ สรุปแล้วบริษัทมีงานทั้งสิ้นปีนี้เกินกว่า 7 พันล้านบาท

นายเสวกกล่าวว่า ในปีหน้าบริษัท ตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้ประมาณ 20% จากก่อนหน้าที่ประมาณการไว้เฉลี่ยปีละ 15% เนื่องจากรายได้ของงานในมือที่จะเกิดขึ้นใหม่ปีหน้านั้น หนุนรายได้เติบโตอีกระดับหนึ่ง ส่วนการลุยงานในต่างประเทศที่ก่อนหน้านี้บริษัทต้องการเข้าไปประมูลงานในประเทศกาตาร์ ซึ่งโครงการสร้างบ้านพักนักกีฬาก็ชนะการประมูล ตาม เป้าหมาย เนื่องจากบริษัทเคยประมูล งานที่กาตาร์มาก่อนหน้านี้และชนะในประเทศนี้มาแล้วด้วย

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าร่วม (BiomassCogen Power Plant Project) ที่มีคู่สัญญาคือ บริษัท พรอสแพค จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจรับจ้างผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องใช้พลาสติก และชิ้นส่วนพลาสติกทุกชนิด โดยกลุ่มพรอสแพค เป็นเจ้าของโรงสีนครหลวง สาขา 1 ตั้งอยู่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีความสนใจในธุรกิจพลังงาน ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีผู้บริหารโครงการที่มีความรู้ความสามารถทางด้านวิศวกรรม และมีประสบการณ์ด้านพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล

การลงทุนโครงการนี้เพื่อขยายธุรกิจด้านพลังงานที่มีแนวโน้มดีและเป็นการสร้างรายได้ในระยะยาวให้กับบริษัท เป็นการลดความเสี่ยงในการ ดำเนินงานที่อิงเพียงธุรกิจรับเหมา และเดินสายงานวางระบบโครงการเท่านั้น ซึ่งบริษัทใหม่แห่งนี้จะมีทุนจดทะเบียน และชำระแล้วเริ่มต้นประมาณ 5 ล้านบาท และจะดำเนินการ เพิ่มทุนจดทะเบียนและเรียกชำระเป็นงวดๆ ตามความจำเป็นของการใช้เงินเพื่อพัฒนาโครงการจนครบ 136 ล้านบาท

โดย PLE จะถือหุ้น 55% คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 75 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของบริษัทที่ตั้งเป้าใช้งบลงทุนในโครงการแตกไลน์ธุรกิจ ครั้งนี้ เพราะบริษัทตั้งเป้าไว้ประมาณ 200 ล้านบาท สำหรับการเข้าซื้อหุ้นในโครงการของบริษัท ไฟฟ้าชนบท จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงสีข้าวในจังหวัดลพบุรี ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,100 ล้านบาท แต่เนื่องจากข้อตกลงในสัญญากับพันธมิตรรายเก่าไม่ลงตัวจึงทำให้โครงการนี้ยกเลิกไป จนกระทั่งบริษัทต้องไปเจรจากับรายใหม่ดังกล่าวเพื่อเดินหน้าในโครงการดังกล่าวตามเป้าหมาย

นายเสวกกล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าเป็นขนาด 10 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างและดำเนินการได้ภายใน 18 เดือน และเริ่มดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปลายปี 49 และรับรู้รายได้ทันที บริษัทคาดว่าจะมีรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้าเดือนละประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งโครงการ นี้ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพราะต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ต่างจากดีลโครงการโรงไฟฟ้าชนบทที่ดำเนินการอยู่แล้ว หากมีการลงทุนก็เริ่มดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทันที สำหรับวัตถุดิบที่บริษัทจะใช้คือแกลบ และ PLE จะซื้อในราคาตันละ 600 บาท จากโรงสีข้าวเพื่อนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า

สำหรับ PLE ปัจจุบันมีทรัพย์สินประมาณ 2 พันล้านบาท มีหนี้สินหมุนเวียน 1,200 ล้านบาท และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ระดับกว่า 1 เท่า

ขณะที่บทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ กล่าวถึงภาพรวมแนวโน้มธุรกิจกลุ่มรับเหมาก่อสร้างในไตรมาส 4/47 ว่า การดำเนินงานยังคงดีต่อเนื่องจากไตรมาส ที่ 3 เนื่องจากมีงานรับเหมาในมืออีกจำนวนมาก และแนวโน้มในปี 48 คาด ว่ากลุ่มรับเหมาก่อสร้างจะยังดีต่อเนื่องไปอีกเนื่องจากจะเป็นการเติบโตตามจำนวนการประมูลโครงการสาธารณูปโภคประมูลที่เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะโครงการของภาครัฐที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ซึ่งปีหน้าจะมีการรับรู้รายได้มากขึ้น เพราะธุรกิจรับเหมาก่อสร้างถือเป็นธุรกิจที่จะรับรู้รายได้ในปีถัดไป โดยเมื่อมีงานในปีนี้ก็จะไปรับรู้ในปีหน้า และจะต้องรับรู้รายได้ตรงเวลา แต่ทั้งนี้ราคาวัสดุก่อสร้าง เช่นเหล็ก ยังคงเป็นตัวกำหนดทิศทางของกำไร และรายได้ของธุรกิจนี้

สำหรับหุ้นที่มีความน่าสนใจในกลุ่มนี้ แนะนำหุ้นบริษัทอิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) เนื่องจากมีงานในมือจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นที่มาของรายได้ รวมถึงโอกาสในการได้งานประมูลโครงการยังมีแนวโน้มที่ดี และในปี 48 คาดว่า ITD จะมีกำไรมากขึ้นเนื่องจากจะมีการสร้างโรงผลิตปูนเป็นของตัวเอง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องการปรับราคาปูน และคาดว่าปัจจัยนี้จะส่ง ผลดีเต็มที่เมื่อโรงปูนผลิตได้เต็มรูปแบบในปี 2549 และบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (PLE) โดยมองว่า หุ้น PLE ยังมีราคาค่าพี/อีถูก ที่ประมาณ 10 เท่า ขณะที่การดำเนินงานในปี 47 มีอัตราเติบโตเกือบ 150% เมื่อเทียบกับปี 2546 เนื่องจากมีงานที่รับรู้รายได้จากปี 2546 ประมาณ 3 พันล้านบาท ซึ่งในปี 2548 มองว่า PLE อัตราเติบโต จะยังโต แต่จะเป็นอัตราเติบโตในอัตราปกติที่ 20%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.