บทสุดท้ายของโรงแรมสยามอินเตอร์คอนฯ

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อประมาณ 40 ปีก่อน โจเซฟ ซาเลอร์โน นักออกแบบที่มีชื่อเสียงชาวอเมริกัน ได้รับโจทย์จากผู้บริหารบริษัทบางกอกคอนติเนนตอลโฮเต็ลส เจ้าของโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ว่าต้องการให้ออกแบบงานสถาปัตย์ ที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย และชาวเอเชีย ในใจกลางกรุงเทพฯ

งานสถาปัตยกรรมที่มีโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นไม้ ซึ่งหาดูได้ยากแล้วในปัจจุบันจึงออกมาสวยงามอย่างที่เห็น และอยู่คู่ย่านสยามมานานถึง 36 ปี โดยการก่อสร้างตัวอาคาร แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ อาคารกลางที่เป็นล็อบบี้ทรงไทย และห้องพักปีกสวนสองปีกจำนวน 223 ห้องสูงเพียง 2 ชั้น ส่วนที่ 2 คือ อาคารปีกใหม่ 177 ห้อง สูง 6 ชั้น และส่วนที่ 3 คือ อาคารชั้นเดียวเป็นศูนย์การประชุมและการจัดเลี้ยง

อาคารกลางและปีกสวน เปิดบริการเมื่อเดือนมิถุนายน 2509 ก่อสร้างโดยบริษัทเซาท์อีสต์เอเชีย ก่อสร้างตกแต่งโดยนีล พรินซ์ ชาวอเมริกัน

เดือนสิงหาคม 2512 ส่วนที่ 2 ซึ่งก่อสร้างโดยบริษัทอิตัลไทย เปิดบริการ ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ปี 2523 อาคารจัดเลี้ยงและการประชุม ห้องสโรชา หรือสยามบอลรูม เปิดให้บริการ ส่วนนี้ออกแบบโดย โรเบิร์ต บุย แอนด์ แอสโซซิเอทส์ ก่อสร้างโดยบริษัท ไทย โอบายาชิ ตกแต่งโดย โรเบิร์ต บุย แอนด์ แอสโซซิเอทส์

และเมื่อปี 2537 โรงแรมได้สร้างห้องจัดเลี้ยงใหม่อีก 1 ห้องคือ แกรนด์สยาม บอลรูม โดยเปิดบริการเมื่อเดือนธันวาคม 2537

วันเวลาที่ผ่านไปทำให้อาคารหลังนี้ และห้องพักของโรงแรมในส่วนอื่นๆ ทรุดโทรม ไปตามกาลเวลา แต่เมื่อมันเป็นโรงแรมใจกลางเมืองคนที่จะเข้ามาใช้สถานที่แห่งนี้ก็คือชาวต่างประเทศ โจทย์ครั้งใหม่ที่ออกมาจำเป็นต้องสร้างให้มีศูนย์การค้าอยู่ด้วย เพื่อประโยชน์กับคนไทยโดยรวมด้วย และที่สำคัญจะต้องสะท้อนให้เห็นความสวยงามของสถาปัตยกรรม ไม่ให้ยิ่งหย่อนไปจากของเดิม

รูปโฉมใหม่ของโรงแรมระดับ 5 ดาวแห่งนี้จึงต้องประกอบ ไปด้วยชอปปิ้งคอมเพล็กซ์ และสวนสวยกลางเมืองอีก 7 ไร่

จุดขายที่สำคัญของโรงแรมแห่งนี้ตลอด 36 ปีที่ผ่านมา ก็คือ การเป็นโรงแรมที่มีความสูงเพียง 2 ชั้น และตึกสูงเพียง 6 ชั้น ท่ามกลางต้นไม้นานาพันธุ์ อันร่มรื่น

สวนสวยแห่งนี้ซ่อนอยู่หลังโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล โรงแรมระดับ 5 ดาวใจกลางกรุงเทพฯ

"ตัวโรงแรมคงมีการปรับปรุงรื้อทิ้งใหม่หมด แต่ตัวสวน ยังคงเว้นไว้อีกประมาณ 7 ไร่ รูปร่างหน้าตาของสวนอาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ต้นไม้ใหญ่จะไม่แตะต้องเลย สัญญาเลย" ชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการผู้จัดการบริษัทบางกอกคอนติเนน ตอลโฮเต็ลส จำกัด กล่าวอย่างหนักแน่นกับ "ผู้จัดการ" และอธิบายเพิ่มเติมว่า ต้นไม้ต้นไหนที่รกๆ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเสียใหม่ แต่ต้นไม้ใหญ่เก็บหมด ได้ทำข้อมูลเก็บไว้หมดแล้ว

ความสวยงามของภูมิสถาปัตย์ครั้งใหม่นี้ บริษัทได้มอบหมายให้บริษัท Bensley Design Studio & Bunnag Architects International Consultants เป็นผู้รับผิดชอบ Bensley Design Studio หรือ BDS เป็นบริษัทหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเมืองไทยแต่มีชื่อเสียงทางด้านภูมิสถาปัตย์ ที่ฝากผลงานไว้ในโครงการใหญ่ๆ จนได้รับ การยอมรับไปทั่วโลก (อ่านรายละเอียดบริษัทในทีมงานด้านออกแบบและตกแต่งสถาปัตยกรรม)

"คุณคิดดูที่ 7 ไร่กลางเมือง หากตีค่าเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทนะ เราก็ต้องตัดใจเหมือนกัน เพราะต้องการให้เป็น ปอดของคนกรุงเทพฯ จริงๆ คนที่ไปเที่ยวที่พารากอนก็สามารถเข้าไปเที่ยวที่สวนข้างหลังได้ด้วย เพราะมันอยู่ระหว่างพารากอน กับโรงแรม ที่จริงแล้วมันเป็นทางออกที่ดีคือ ทุกคนบอกว่ารักโรงแรมสยาม ไม่น่าจะทุบทิ้ง แต่ของใหม่มันจะต้องสร้างความภูมิใจให้คนทั้งประเทศแน่นอน" ชฎาทิพกล่าวย้ำ

โชคดีอย่างมากที่ "ผู้จัดการ" ได้มีโอกาสบันทึกภาพ ประวัติศาสตร์นี้ไว้ ก่อนที่จะมีการปรับปรุงครั้งใหญ่เพื่อสร้างให้เป็นส่วนหนึ่งของเดอะสยามพารากอน

จากกลุ่มอาคารที่ดูโดดเด่นด้านหน้า เมื่อเดินเลยเรื่อยไปทางเบื้องหลัง สิ่งที่ซ่อนไว้และหลายคนอาจจะยังไม่เคยเห็นคือความร่มครึ้มของพันธุ์ไม้ต่างๆ มากมาย

ต้นหางนกยูงต้นใหญ่หลายต้น ทองกวาว หรือดอกจาน ที่เวลาออกดอกสองสีแดงสดใส ต้นมะขามเทศที่สูงใหญ่ตามอายุ ต้นจำปี ต้นปรง รวมทั้งต้นนุ่นยังมีให้เห็น

แขกของโรงแรมในส่วนของ garden wing บางส่วนสามารถเดินออกประตูด้านหน้ามายังสระน้ำโรงแรม ส่วนอีกด้านหนึ่งของห้องพักจะพบกับลานดอกลั่นทมที่ปลูกไว้เป็นทิวแถว

แหม่มสาวๆ อาจจะกรี๊ดกร๊าด เมื่อเห็นนกยูงทั้งตัวผู้ตัวเมียหลายตัว เดินโชว์ตัวริมทางเดิน เช่นเดียวกับไก่ต๊อก ที่เดินร้องต๊อกๆ คุ้ยเขี่ยอาหารอยู่อย่างคุ้นเคยกับบรรดาแขกฝรั่งเป็นอย่างดี

จากสระใหญ่กลางสวนมีลำคลองเล็กๆ ที่ถูกขุดให้คดเคี้ยว เลี้ยวลัดไปทะลุคลองแสนแสบด้านนอก ริมคลองทั้งสองฝั่งมีทั้งต้นแคฝรั่ง ต้นไทร ไม้น้ำอย่างต้นจาก ก็ยังมีให้เห็นที่นี่ ส่วนชมพู่แก้มแหม่มกำลังออกดอกออกผลเต็มกิ่งก้าน ดูไม่ต่างจากบรรยากาศบ้านสวนชานเมืองเลยทีเดียว

ระหว่างทางเดินเชื่อมต่อไปยังจุดบริการสำหรับแขกต่างๆ อยู่ในสวน เช่น สนามเทนนิส ห้องออกกำลังกาย ยังเต็มไปด้วยดงต้นกล้วย ซุ้มดอกเข็ม เบิร์ดออฟพาราไดส์ ทุกต้นเป็นกอไม้ที่อัดกันแน่นตามระยะเวลาที่ปลูก และดูสมบูรณ์ด้วยความเอาใจใส่ดูแล

บริเวณกลางสระใหญ่นั้นมีศาลาทรงไทยมุงจากหลายหลัง เป็นสถานที่หนึ่งที่ มีงานไทยไนต์ในช่วงเดือนตุลาคม และพฤศจิกายนของแต่ละปี ซึ่งเป็นการโชว์ศิลปวัฒนธรรมแบบไทยๆ

บรรยากาศเงียบสงบ นกส่งเสียงเซ็งแซ่ มีกระรอกตัวเล็กๆ วิ่งไล่บนคาคบของไม้ใหญ่หลายตัว แทบไม่น่าเชื่อว่าจุดที่กำลังยืนอยู่แห่งนี้ ห่างจากสยามสแควร์ ซึ่งมีลีลาความเคลื่อนไหวอันแตกต่างไปโดยสิ้นเชิง แต่ก็ต้องเชื่อเมื่อแหงนเงยขึ้นไปเห็นตึกร้างของอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือ ผืนผ้าขนาดมหึมาขึงอยู่กลางตึกสยามทาวเวอร์ และป้ายโฆษณา DTAC บนยอดตึกใกล้ๆ กัน

อีกไม่นาน สวนสวยแห่งนี้จะได้รับการปรับปรุงครั้งใหม่ Bensley เคยพูดไว้ว่า การสร้างงานด้านภูมิสถาปัตย์เป็นเครื่องวัดให้เห็นถึงความสำเร็จ ของงานนั้นได้เป็นอย่างดี เพราะจะสร้างความประทับ ใจให้เกิดขึ้นกับผู้ที่พบเห็นอย่างไม่รู้ลืม แล้วก็รอคอยที่จะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.