สองทศวรรษเดอะมอลล์กรุ๊ป

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

บริษัทเดอะมอลล์กรุ๊ป ก้าวมายืนอยู่แถวหน้าของวงการค้าปลีกในเมืองไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ ด้วยมูลค่าของยอดขายทั้งหมด 10 สาขา ทะลุหลัก 2 หมื่นล้านบาทมาหลายปี

รากของเดอะมอลล์ กรุ๊ป มาจากศุภชัย อัมพุช มังกรซ่อนกาย ผู้ซึ่งเก็บตัวเงียบใช้เวลาส่วนใหญ่เคลื่อนไหวแต่ในด้านลึก น้อยคนนักที่จะรู้จักมหาเศรษฐีตัวจริงของเมืองไทย ผู้เป็นเป็นต้นแบบ ในการคิดค้นรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมเมืองไทย

เรื่องราวความเป็นมาในชีวิตของเขา น้อยครั้งที่จะหลุดออกมาจากปาก ดังนั้นที่มาของตระกูลอัมพุช ดังต่อไปนี้ บางส่วน "ผู้จัดการ" ได้มาจากประไพ กันเขตต์ พี่สาวบุญธรรมของภรรยาคนแรกของเขา ที่เคยเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังเมื่อ 10 ปีก่อน (ศุภชัย อัมพุช จากเด็กนับขวดเหล้ามาเป็นเจ้าของอาณาจักรพันล้าน ฉบับก.ค. 2530) และบาง ส่วน มาจากคำบอกเล่าของศุภลักษณ์ อัมพุช บุตรสาวผู้เป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันสร้างอาณาจักรเดอะมอลล์

พ่อของศุภชัยอพยพมาจากเมืองจีน เป็นจีนแต้จิ๋วที่ใช้แซ่อื้อ เช่นเดียวกับตระกูลอื้อจือเหลียง ตัวเขาเองเกิดที่อำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ โตและเรียนหนังสือจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะว่าไปแล้วฐานะของครอบครัวในเวลานั้นค่อนข้างดีทีเดียว เพราะพ่อแม่มีอาชีพเป็นยี่กงสีเหล้า หรือยี่ปั๊วประมูลการขายเหล้า ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ รวมทั้งเปิดโรงยาฝิ่นเป็นรายได้หลักอีกด้วย

โชคร้าย พ่อแม่ของเขาเสียชีวิตทั้งคู่ ตั้งแต่เขาเพิ่งแตกหนุ่ม ชีวิตที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ ช่วยเหลือตัวเองต้องเริ่มขึ้นนับตั้งแต่นั้น

ศุภชัยได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาอาศัยอยู่กับพี่สาวในซอยประสานมิตรต่อมาไป ทำงานเป็นเสมียนที่ร้านประไพสวัสดิ์ย่านพระโขนง ได้พบรัก และแต่งงานกับบุญเลี้ยง น้องสาวบุญธรรมของประไพเอง บนชั้นสองของตึกแถวที่พัก คือเรือนหอของคนทั้งคู่ โดยมีลูกชายหญิงทั้งหมด 5 คน

บุตรชายหญิงของศุภชัย และบุญเลี้ยง 5 คนคือ สุรัตน์, ศุภลักษณ์, กฤษณา, สุทธิพงษ์ และอัจฉรา ทั้งหมดมีอายุห่างกันคนละประมาณ 1-2 ปี

เมื่อมีลูกมากขึ้น ศุภชัยเริ่มมองหาธุรกิจใหม่ที่จะเลี้ยงดูครอบครัวให้ดีกว่าเดิม ในที่สุดตัดสินใจกลับไปจังหวัดพิจิตรอีกครั้ง เพื่อเริ่มทำธุรกิจด้านโรงเหล้ากับนงลักษณ์ ภัทรประสิทธ์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน เพราะพี่ชายของพ่อศุภชัยคือ พี่ชาย ของพ่อนงลักษณ์

นงลักษณ์นั้นได้แต่งงานกับวิศาล ภัทรประสิทธิ์ ทั้งคู่มีหัวการค้าที่เก่งมาก ธุรกิจทางด้านโรงเหล้าแถบภาคเหนือทั้งหมดเป็นสัมปทานของกลุ่มนี้มาโดยตลอด

บุญเลี้ยง ภรรยาของศุภชัยเสียชีวิตไปตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ ภรรยาใหม่ของเขาคนต่อมาคือ ประนอม พยาบาลสาวที่โรงพยาบาลศิริราช ที่คอยเป็นห่วงเป็นใย พ่อม่ายลูกติดเป็นพรวนคนนี้อยู่นั่นเอง

ศุภชัยมีลูกสาวกับประนอมอีก 2 คน คือ บุศราคัม และสันทนา ปัจจุบันทั้ง 7 คนได้เข้าร่วมทำงานกับเดอะมอลล์ทั้งสิ้น

ในปี 2507 ศุภชัยเริ่มเปลี่ยนอาชีพใหม่ โดยหันเหมาทำงานด้านธุรกิจบันเทิงด้วยการสร้างโรงหนังมือ 2 กับประไพ แย้มสอาด ผู้เป็นพี่สาว โรงหนังแรกชื่อเฉลิมรัตน์ ตรงข้ามตลาดพระโขนง และหลังจากนั้นในระยะเวลาเพียง 6-7 ปี เขาได้สร้างโรงหนังชั้น 2 มากถึง 7 โรง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กลุ่มพูลวรลักษณ์สร้างโรงหนังชั้น 2 ในย่านตลาดพลูและธนบุรี

ประมาณปี พ.ศ.2513 ธุรกิจโรงหนังชั้น 2 เริ่มแข่งขันกันหนักในขณะเดียวกัน พฤติกรรมของคนก็เริ่มเปลี่ยนไปดูโรงหนังชั้นหนึ่งที่มีเพิ่มขึ้นตามมา ธุรกิจใหม่ที่ศุภชัยตัดสินใจก้าวไปก็คือ ธุรกิจร้านอาหารและอาบอบนวดบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ โดยร่วมทุนกับนงลักษณ์เช่นเคย

จากธุรกิจร้านอาหาร เขาตะลุยสร้างงานใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และงานที่ไม่เคยมีใครกล้าทำมาก่อนเช่นแนนซี่อาบอบนวด, เมรี อาบอบนวด, วาเลนติโน, ฮูหยิน, บีวา ก็ทยอยขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรียงรายทั้งสองฝั่งถนนตั้งแต่แยกเอกมัยไปจนถึงคลองตัน จนในช่วงนั้น ถนนสายนี้ได้รับฉายาว่าถนนสายโลกีย์ และสำหรับนักเที่ยวด้วยกันแล้ว ชื่อเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องอธิบายให้มากความ ส่วนศุภชัยนั้นกลายเป็นเจ้าพอในวงการบันเทิงอย่างแท้จริง แต่เป็นคนที่ทำงานทางด้านบันเทิง ที่ไม่กินเหล้า สูบบุหรี่ ชอบเก็บตัว เคยมีคนกล่าวว่า เขามีธุรกิจการค้ามากมาย แต่ไม่เคยมีใครเห็นหน้าเขา หรือถ้าเห็นหน้าก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร

เขาเป็นคนที่รักลูกรักเมียมาก ป้าประไพ กันเขตต์ เคยย้ำกับ "ผู้จัดการ" เพราะตลอดเวลาที่เขาเริ่มบุกเบิกธุรกิจใหม่ ลูกๆ ของเขาทั้ง 7 คน กำลังอยู่ในวัยเล่าเรียนทั้งสิ้น และเมื่อลูกเริ่มโตเป็นหนุ่มสาว ศุภชัยก็ต้องการที่จะเปลี่ยนแนวธุรกิจของเขาให้มั่นคงกว่าเดิม โดยปล่อยให้โครงการทั้งหมดที่เขาเป็นคนริเริ่มให้คนอื่นบริหารแทน

ธุรกิจใหม่ที่เขามองว่าน่าจะมีช่องทางคือ ศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้า ช่วงนั้นในเมืองไทยมีห้างสรรพสินค้าอยู่เพียงไม่กี่แห่งที่นิยมกันมากก็คือ ไดมารู กับเซ็นทรัล โรบินสัน อนุสาวรีย์ พาต้า อินทรา ส่วนศูนย์การค้าสยามเซ็นเเตอร์ ซึ่งเปิดมาตั้งแต่ปี 2516 นั้น จับกลุ่มตลาดลูกค้าวัยรุ่นโดยเฉพาะ

ไดมารู และเซ็นทรัล ชิดลม คนแน่นทุกวัน ทั้งๆ ที่ไม่ต้องมีกลยุทธ์การขายเลย นานๆ จะมีการ Sale ขึ้นครั้งหนึ่ง โลเกชั่นน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดคือ สิ่งที่ศุภชัยคิดในตอนนั้น ดังนั้นเมื่อเขาไปได้ทำเลประมาณ 4 ไร่บนถนนราชดำริ ก็เลยตัดสินใจทำธุรกิจด้านนี้ทันที

25 มิถุนายน 2524 เดอะมอลล์ ราชดำริ ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของเดอะ มอลล์ กรุ๊ป ก็เกิดขึ้นจากการร่วมทุนของศุภชัยและนงลักษณ์ แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่มีเพียง 4 ไร่ ทำให้ทำได้เพียงห้าง เล็กๆ ประมาณ 8 พันตารางเมตรเท่านั้น

เดอะมอลล์ ราชดำริ เป็นเสมือนที่ซึ่งศุภชัย และลูกๆ คือ สุรัตน์, ศุภลักษณ์ และกฤษณา ใช้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ธุรกิจใหม่ของตระกูล จนกลายเป็นรากฐานสำคัญของประสบการณ์ ก่อนที่จะก้าวไปสู่บริษัทแถวหน้าในวงการค้าปลีกในเวลาต่อมา

ศุภลักษณ์ อัมพุช เคยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ยอมรับว่าโครงการแรก เป็นโครงการที่เหนื่อย และหนักที่สุด เพราะเราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เป็นการเข้ามาทำงานครั้งแรก และยังเป็นโครงการ เล็กกว่าใครเพื่อน มียักษ์ใหญ่เกิดใหม่ประกบตลอด ต้องหาทางสู้ตลอดเวลา จำได้ไปตลอดชีวิตเลย"

ในสมัยที่เดอะมอลล์ราชดำริเกิด ขึ้น ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าอื่นๆ ที่มีอยู่ดูเหมือนจะไม่กระทบเท่าไรนัก ยอด ขายในช่วงแรกยังคงไปได้ดี จนกระทั่งโครงการมาบุญครอง นครแห่งศูนย์การค้าหินอ่อนขนาดใหญ่มหึมา เกิดขึ้นในย่านปทุมวันเมื่อปี 2528 และที่สำคัญกว่านั้นในช่วงเริ่มยุคทองของธุรกิจเรียลเอสเตท ในปี 2530 เจ้าสัวอุเทน เตชะไพบูลย์ ก็ได้ประกาศศักดาเช่าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ฝั่งตรงข้ามเดอะมอลล์ สร้างศูนย์การค้าขนาดยักษ์ เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ โดยตั้งใจจะให้เป็นเกียรติประวัติของตระกูลเตชะไพบูลย์

เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ มีพื้นที่ทั้งหมดถึง 350,000 ตารางเมตร มีห้างสรรพสินค้า ใหญ่ 2 รายคือ เซน และอิเซตัน ประกบอยู่ข้างในศูนย์ด้วย

ไม่ว่าจะพลิกค้นกลยุทธ์การขายอย่างไร ก็ไม่มีทางสู้ได้ ในที่สุดยักษ์เล็กอย่างเดอะมอลล์ก็ยอมถอย และปล่อยให้บริษัทนารายณ์ภัณฑ์ พาวิลเลี่ยน จำกัด เช่าเป็นศูนย์ศิลปหัตถกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในเวลาต่อมา

การถอยครั้งนี้เป็นการถอยไปเพื่อตั้งหลัก เพื่อการบุกครั้งใหญ่อย่างแท้จริง ทำเลใหม่ที่เดอะมอลล์ยึดเป็นหัวหาดในเวลาต่อมาคือ ย่านชานเมืองบนถนนรามคำแหง

ว่ากันว่า ศุภชัยได้แนวความคิดจากอเมริกา ที่พบว่าธุรกิจชอปปิ้งมอลล์ส่วนใหญ่นั้น นอกจากจะรวมตัวกันเป็นกระจุกย่านใจกลางเมืองแล้ว ยังสามารถสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อดักกำลังซื้อย่านชานเมืองได้ด้วย

มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ และกำลังซื้อของผู้คนในหมู่บ้านเสรี หัวหมาก คือ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่สำคัญ ในขณะที่หลายคนยังเป็นห่วงว่าห้างชานเมืองอย่างเอเชี่ยน และห้างไดมารู พระโขนง ที่เพิ่งเกิดขึ้นนั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ปี 2526 ห้างเดอะมอลล์สาขาที่ 2 รามคำแหง ก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กับวางแผนสาขาที่ 3 ต่อในพื้นที่ฝั่งตรงกันข้ามถนนต่อทันที โดยเปิดบริการหลังจากนั้นเพียง 3 ปี เดอะมอลล์ทั้ง 2 แห่งต่อเชื่อมกันด้วยสะพานเลื่อนลอยฟ้า และในปี 2530 เดอะมอลล์ 4 ก็เกิดขึ้น

พื้นฐานทางด้านเอนเตอร์เทนเมนต์ที่แข็งแกร่งในอดีต ได้ถูกดึงมาเป็นจุดขายที่ยิ่งใหญ่ด้วยการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร คือ One Stop Shopping Center เพราะที่นี่เพียบพร้อมไปด้วยศูนย์รวมความบันเทิง มีสนุ้กเกอร์คลับ โบว์ลิ่ง โรงภาพยนตร์และศูนย์อาหารนานาชนิดที่ทันสมัย ร้านอาหารที่มีชื่อในเวลานั้น เช่น โคคา สีฟ้า ลิตเติ้ล โฮม ตบเท้าเข้ามาอยู่อย่างพร้อมเพรียง ช่วยให้จุดนี้กลายเป็นย่านการค้าที่ครบวงจรอย่างแท้จริง

เดอะมอลล์เป็นผู้เปิดตำนานย่านค้าปลีก บนถนนสายนี้และสามารถยืนหยัดอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน ด้วยกลยุทธ์ที่แตกต่างไปจากคู่แข่ง เราคงไม่ลืมกันว่า พร้อมๆ กับที่เดอะมอลล์ 3 เปิดบริษัท ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจค้าปลีกอีกรายหนึ่งที่มีประวัติการทำธุรกิจยาวนานมากกว่าเดอะมอลล์ คือ ห้างเซ็นทรัล ก็มาเปิดสาขาที่หัวหมากเช่นกัน เช่นเดียวกับห้างเวลโก้ ห้างพาต้า ที่ตบเท้าเข้ามาขอเอี่ยวส่วนแบ่งตลาดด้วย แต่ในที่สุดเกือบทุกค่ายก็ต้องล่าทัพถอยกลับไป

เซ็นทรัลต้องพลาดท่าเสียแชมป์ให้แก่เดอะมอลล์ในย่านนี้ และทำให้ชื่อเสียงของเดอะมอลล์เริ่มเป็นที่ยอมรับในวงการค้าปลีกมากขึ้นทุกที

จะว่าไป ศุภชัยและลูกๆ ใช้เวลาในการสร้างแบรนด์ของตัวเอง นับจากการเปิดสาขาแรกเพียงประมาณ 10 ปีเท่านั้น ด้วยสไตล์การทำงานที่คิดเร็ว ทำเร็ว และชอบริเริ่มอะไรใหม่ๆ ของศุภชัย โดยปล่อยให้ลูกๆ บริหาร

หลังจากประสบความสำเร็จในสาขา 2, 3, 4, ในย่านรามคำแหง เดอะมอลล์ กรุ๊ป ก็ได้ยึดนโยบายเดิมคือยึดหัวหาดชานเมือง ในทำเลต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

วันที่ 11 สิงหาคม 2532 เดอะมอลล์ได้เปิดอภิมหาอาณาจักรศูนย์การค้าครบวงจรครั้งใหม่ ที่เดอะมอลล์สาขาท่าพระ ท่ามกลางความสนเท่ห์ของหลายๆ คน ว่าจะสามารถพัฒนาสวนมะพร้าวย่านฝั่ง ธนบุรี ให้กลายเป็นศูนย์การค้าที่พรั่งพร้อมไปได้อย่างไร เดอะมอลล์สาขา 5 มีความใหม่ที่แตกต่างไปด้วยแหล่งบันเทิง และมีสวนน้ำลอยฟ้าแห่งแรกของประเทศไทย ภายในอาคารเดียวกันบนพื้นที่กว่า 150,000 ตารางเมตร

วันที่ 22 ธันวาคม 2534 เดอะมอลล์ 6 หรือเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ก็เปิดตัวขึ้น ในรูปแบบที่ครบวงจรเช่นเดียวกับเดอะมอลล์ 5

วันที่ 5 สิงหาคม 2537 เดอะมอลล์ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ในวงการค้าปลีกในเมืองไทยอีกเมื่อเปิดอาณาจักร ศูนย์การค้าครบวงจรสองแห่งในสองมุมเมือง พร้อมกันคือ เดอะมอลล์ 7 สาขาบางแค และเดอะมอลล์ 8 สาขาบางกะปิ

ทั้งสองแห่งนี้รวมพื้นที่กว่า 600,000 ตารางเมตร และควรมีการบันทึกไว้อย่างยิ่งด้วยว่า เดอะมอลล์สาขาบางแคนั้น มีการทุ่มทุนอย่างมาก เพราะตอนนั้นยักษ์ใหญ่อย่างฟิวเจอร์พาร์คก็ได้ไปเปิดตัวแล้วที่บางแค

"เราเปิดทีหลัง ต้องทำให้ใหญ่กว่าเขา" ศุภลักษณ์ อัมพุช หัวเรือใหญ่ของสองโครงการนี้ กล่าวถึงแนวทางต่อสู้ อย่างเช่น สวนสนุกที่บางแค ตอนแรกการออกแบบให้บริษัท Local Group ก็เปลี่ยนเป็นบริษัทแลนด์มาร์ค จากอเมริกามาออกแบบใหม่หมด ยึดสไตล์ของดิสนีย์แลนด์เป็นต้นแบบ นอกจากดินแดนมหัศจรรย์ ยังมีสวนน้ำ สวนสนุก มีโรงภาพยนตร์ถึง 8 โรง มีโรงโบว์ลิ่ง 30 เลน ระบบคอมพิวเตอร์

ในวันเปิดตัว ศุภลักษณ์ทุ่มเงินจำนวนมหาศาล เพื่อลงทุนซื้อโชว์ ที่เรียกว่า อิมแมจิก้า เป็นโชว์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในดิสนีย์แลนด์ขณะนั้น โดยแสดงโชว์ม่านน้ำ มีเรื่องราวเหมือนเทพนิยาย พร้อมโชว์ภูเขาไฟระเบิด และยังมีน้ำตกจำลองในห้างที่สูงที่สุดในเมืองไทยด้วย

ทุกอย่างคือ ความแตกต่างที่จะส่งผลดึงคนให้เข้ามายังศูนย์การค้าเปิดใหม่ให้มากที่สุด เพราะคนที่เข้าไปไม่ได้เข้าไปเที่ยวอย่างเดียว แต่ต้องไปกิน และซื้อของด้วย

ความแปลกใหม่ต่างๆ ที่ถูกดึงมาใช้ในเดอะมอลล์แต่ละสาขา ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากนิสัยชอบเดินทางท่องเที่ยวของศุภลักษณ์ ที่พร้อมจะเปิดโลกทัศน์ของตัวเองให้กว้างไกล และสามารถปรับเปลี่ยนโครงการของตัวเองให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง

ความสำเร็จของเดอะมอลล์ สาขาท่าพระ และบางกะปิ ทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่ปรามาสเดอะมอลล์ผู้มาทีหลังและดังกว่ากลุ่มนี้ไม่ได้อีกต่อไป

ในขณะเดียวกัน เดอะมอลล์ก็ไม่ได้หยุดนิ่ง จากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนชันกลางมาตลอด เริ่มจับระดับกลุ่มลูกค้าที่กำลังซื้อสูงขึ้น และเคยเป็นลูกค้าเฉพาะที่สำคัญของห้างคู่แข่งอื่น

การเกิดขึ้นของโครงการ ดิเอ็มโพเรี่ยม ที่ร่วมทุนกับกลุ่มโสภณพนิช เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าเดอะมอลล์ต้องการสร้างภาพพจน์ใหม่

"เราต้องการให้ดิเอ็มโพเรี่ยม เป็น Hallmark ของเมืองไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" คือเป้าหมายที่วางไว้ของ ศุภลักษณ์ ผู้หญิงที่ชอบคิดการใหญ่คนนี้

ที่ผ่านมา เดอะมอลล์มักสร้างศูนย์การค้าโดยมีรีเทลเอ็นเตอร์เทนเมนต์เป็นจุดขาย แต่ที่ดิเอ็มโพเรี่ยมถูกกำหนดให้เป็นศูนย์การค้าที่โดดเด่นที่สุดในเอเชีย จุดขายครั้งใหม่จึงเป็นศูนย์รวมแบรนด์เนม เสื้อผ้าชั้นนำระดับโลกแทน ดังนั้นที่นี่จึงเป็นร้านค้ากลุ่มหน้าใหม่เกือบทั้งสิ้น

"คุณศุภลักษณ์เข้มงวดในการเลือก ลูกค้าเข้ามาในศูนย์แห่งนี้มากในเวลานั้น เพราะต้องการเอาร้านที่เป็นสุดยอดจริงๆ ทำให้บางครั้งเกิดกระทบกระทั่งกันบ้างกับร้านรายเดิมที่เคยตามกันมาจากสาขาอื่นๆ" แหล่งข่าวรายหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ร้านกลุ่มใหม่ของเดอะมอลล์เอ็มโพเรี่ยม เช่น หลุยส์ วิตตอง เทอรี่ มูลแกลล์ เวอร์ซาเซ่ ดีเคเอ็นวาย แฟรงค์จิวเวลลี่ เพนดูลัม

โครงการดิเอ็มโพเรี่ยม มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 12 ไร่ 200,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยอาคารสำนักงานสูง 38 ชั้น อาคารศูนย์การค้า 6 ชั้น พื้นที่ 36,000 ตารางเมตร โดยใช้ทีมออกแบบจากต่างประเทศคือ ปาล์มเมอร์ แอนด์เทอเนอร์ บริษัทอาร์ทีเคแอล จากอเมริกาเป็นผู้ออกแบบและวางผังศูนย์การค้า มูลค่าการก่อสร้าง 6,000 ล้านบาท

ดิเอ็มโพเรี่ยม สร้างเสร็จในปี 2540 ซึ่งอยู่ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจพอดี เป็นการเกิดที่ผิดเวลา เพราะกำลังซื้อกำลังถดถอย แต่บทพิสูจน์บทหนึ่งที่ได้รับในเวลาต่อมาคือ สินค้าราคาแพงจริงๆ กลับไม่ได้รับผลกระทบมากมายอย่างที่คาด กลุ่มคนชั้นสูงกลุ่มหนึ่งยังเป็นลูกค้าประจำ ในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงโอกาสทองของนักลงทุนต่างชาติ ที่จะเข้ามาชอปปิ้งในขณะที่ค่าเงินบาทลดลง และยิ่งเป็นห้างที่ติดลมบน เมื่อปีนั้นรถไฟฟ้าสร้างเสร็จ และมีเส้นทางผ่านหน้าโครงการ โดยมีสถานีใหญ่พร้อมพงษ์ด้านหน้าเชื่อมต่อเข้าในโครงการ

รวมทั้งการคมนาคมไปยังใจกลางเมืองอื่นๆ เช่น สีลม และสยามสแควร์ สะดวกขึ้นอย่างมาก ด้วยอิทธิพลของโครงการขนส่งมวลชนนี้

ความยิ่งใหญ่ และความใหม่ของดิเอ็มโพเรี่ยม สร้างผลกระทบให้กับห้างชั้นสูงอย่างเช่น เกษรพลาซ่า และเพนนินซูล่า พอสมควรทีเดียว และเป็นเหมือนสปริงบอร์ดที่สำคัญในการก้าวขึ้นไปทำโครงการระดับชาติครั้งใหม่อีกด้วย

ปี 2543 เดอะมอลล์ก็ได้เปิดโครงการนำร่องโครงการใหญ่ในต่างจังหวัดแห่งแรก คือ เดอะมอลล์โคราช บนพื้นที่ 52 ไร่ เนื้อที่โครงการกว่า 200,000 ตารางเมตร แม้กำลังซื้อของคนจะถดถอย จนเดอะมอลล์โคราชต้องระดมกลยุทธ์ทุกรูปแบบเข้าไปกระหน่ำช่วย แต่ผู้บริหารก็หวังว่ารอเวลาอีกนิด ศูนย์การค้าครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแห่งนี้ก็คงไปได้สวยเหมือนสาขาอื่นๆ แน่นอน

ในเมื่อโครงการระดับภูมิภาค ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กไปแล้วสำหรับผู้บริหารของเดอะมอลล์กรุ๊ป เพราะงานชิ้นต่อไปของศุภลักษณ์นั้นคือ ความยิ่งใหญ่ระดับโลก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.