อีทีเอ็นฮุบอีจีวีเป็นไทย100% ชี้บริหารร่วมกันทำธุรกิจสะดุด


ผู้จัดการรายวัน(15 มีนาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

นายวิชัย พูลวรลักษณ์ ประธานบริหารบริษัท เอนเตอร์เทน เธียเตอร์ เน็ทเวิร์ก จำกัด หรืออีทีเอ็น ผู้ดำเนินธุรกิจโรงภาพยนตร์ในเครืออีจีวีและเป็นผู้ถือหุ้นในอีจีวี เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงภาพยนตร์อีจีวี มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้น และการบริหารครั้งใหญ่หลังจากที่ดำเนินกิจการในไทยมาตั้งแต่ปี 2536 โดยตระกูลพูลวรลักษณ์ได้ตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดและกลายเป็นผู้ถือหุ้นฝ่ายเดียวในอีจีวีแล้ว

สำหรับสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เนื่องจาก มีการเจรจากันในบอรด์ของบริษัทซึ่งพิจารณากันว่า การบริหารเดิมของอีจีวีนั้นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย เพราะถือหุ้นจำนวนเท่ากันฝ่ายละ 50% คือ กลุ่มผู้ถือหุ้นชาวไทยกับบริษัท วิลเลจโรดโชว์ จำกัด ประเทศออสเตรเลีย (จากเดิมมีค่ายโกลเด้นฮาร์เวสท์ของฮ่องกงด้วยรวมสามฝ่ายถือหุ้นสัดส่วนเท่าๆกัน แต่ตอนหลังขายหุ้นให้กับวิลเลจโรดโชว์ไปแล้วเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว) ทำให้การบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

“เมื่อมีทั้งสองฝ่ายร่วมกันบริหาร ทำให้ทิศทางการทำธุรกิจ การตัดสินใจทำอะไร รวมทั้งการบริหารงานไม่คล่องตัว ล่าช้า แต่เมื่อวันนี้เราซึ่งเป็นคนไทยเข้ามาซื้อหุ้นทั้งหมด ก็จะทำให้การบริหารงานมีความชัดเจนมากขึ้น”

นายวิชัย ย้ำด้วยว่า ที่ผ่านมาไม่มีปัญหาในการร่วมงานกันแต่อย่างใด แต่เป็นในแง่ของการมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันมากกว่า ซึ่งเป็นธรรมดาของการทำธุรกิจที่ต้องมีความเห็นที่แตกต่างกัน ส่งผลให้เกิดการสะดุดได้ในบางครั้งทางบอร์ดมีความเห็นออกมาว่า หากจะให้อีจีวีมีการเติบโตต่อไป ควรจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยที่จะต้องให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ถือหุ้น และเป็นผู้บริหารไปเลยจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดและเกิดประโยชน์มากที่สุดสำหรับอีจีวี ดังนั้นอีจีวีจึงต้องแตกแล้วโต

การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดจะเริ่มในเดือนพฤษภาคมศกนี้ ซึ่งจะมีทีมผู้บริหารใหม่โดยเป็นคนไทยล้วน ซึ่งขณะนี้ผู้บริหารเก่าตั้งแต่นายเคิร์ธ ซึ่งมาจากวิลเลจโรดโชว์ที่นั่งบริหารได้ประมาณ 8 เดือนแล้ว ก็ยังคงบริหารงานต่อไป เราจะยังไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงอะไร และย้ำด้วยว่า แม้จะเปลี่ยนผู้ถือหุ้น แต่ชื่อยังคงเป็น อีจีวี และโลโก้ก็ยังเหมือนเดิม

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือ ทางวิลเจโรดโชว์ได้ถอนธุรกิจในบางประเทศออก เช่น สิงคโปร์ อินเดีย แต่มีการปรับพอร์ทโฟลิโอในประเทศที่แข็งแรง มีความต้องการที่จะเข้าไปมีอำนาจในการบริหารและถือหุ้นใหญ่ในประเทศที่มีศักยภาพในธุรกิจเอนเตอร์เทน ในเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศ ไทย เกาหลี ไต้หวัน จีน ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่อง โดยจะถือหุ้นทั้ง 100% ซึ่งประเทศไทยก็เป็นเป้าหมายหนึ่งของวิลเลจโรดโชว์ด้วย

ขณะที่ทางผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยไม่ต้องการขาย และต้องการที่จะดำเนินธุรกิจนี้ต่อไป เนื่องจากมีความชำนาญและประสบการณ์มานานจึงได้เจรจากันเพื่อขอซื้อหุ้นคืนทั้งหมดจากออสเตรเลียแทน โดยเงินที่ซื้อนั้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเป็นจำนวนเท่าใด แต่แหล่งที่มาของเงินจะมาจากตระกูลพูลวรลักษณ์เป็นหลัก และสถาบันการเงินส่วนหนึ่ง

ปัจจุบันนี้อีจีวีมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท และคาดว่าจะต้องเพิ่มทุนใหม่ในเร็วๆนี้ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับมูลค่าสินทรัพย์ของอีจีวีที่มีมากกว่า 1,500-2,000 ล้านบาท ซึ่งหลังจากการเปลี่ยนแปลงแล้วนายวิชัย จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดมากกว่า 50% และหลังจากนั้นมีแผนที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย ซึ่งเป็นแผนที่เตรียมมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว รวมทั้งมีแผนการที่จะขยายสาขาต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในวงการโรงภาพยนตร์ หลังจากที่ไม่ได้ขยายสาขามาหลายปี

ปัจจุบันส่วนแบ่งการตลาดของอีจีวีลดลงเหลือแค่ 34% จากเดิมที่มากกว่านี้ และเป็นรองคูแข่ง 3-4% โดยอ้างเหตุผลว่า เป็นเพราะว่าเมื่อมีผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์มากขึ้นย่อมส่งผลให้ตลาดรวมเติบโตขึ้นแน่นอน และเค้กก้อนนี้ก็ต้องถูกแบ่งจัดสรรกันไปเป็นธรรมดา ซึ่งผลประกอบการปีที่แล้วมี 900-1,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 15-30%

อีจีวีหายไปไหน

เป็นที่น่าสังเกตุว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอีจีวีไม่มีการขยายตัวในแง่ของสาขา ทั้งๆที่ตลาดรวมของธุรกิจหนังและโรงภาพยนตร์เติบโตอย่างเต็มที่ และดีกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆเมื่อเทียบในช่วงภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งสาขาล่าสุดของอีจีวีที่เปิดให้บริการก็คือ ที่เดอะมอลล์โคราช ปัจจุบันอีจีวีมีโรงภาพยนตร์ในเครือทั้งสิ้น 79 โรงใน 9 สาขา คือ ซีคอน รังสิต บางแค ลาดพร้าว แฟชั่นไอส์แลนด์ สยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ ศรีราชา โคราช และเซ็นทรัลปิ่นเกล้า

ก่อนหน้านี้อีจีวีประสบกับปัญหาผลการดำเนินงานที่ย่ำแย่ในบางสาขาทำให้ตัองตัดสินใจปิดสาขานั้นทิ้งไปแล้วเช่น อีจีวีบางพลี ซึ่งมี 4 โรง ตั้งอยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมบางพลี ปิดไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว นอกนั้นมีบางสาขาที่ยังมีอาการไม่ดีเช่น สาขาอิมพีเรียลลาดพร้าว ซึ่งมีกระแสข่าวว่าจะปิดเหมือนกัน เพราะปริมาณผู้ชมน้อย ซึ่งตัวศูนย์เองก็ย่ำแย่ด้วย ล่าสุดอิมพีเรียลได้เปิดทางให้บิ๊กซีเข้ามาเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าทั้งหมดแล้ว ทำให้ยังไม่แน่ใจว่าอีจีวีจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ล่าสุดในโครงการบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์สาขาราชดำริตรงข้ามเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ก็มีความเป็นไปได้ว่า อีจีวี จะเปิดให้บริการสาขาใหม่ที่บิ๊กซีสาขานี้ด้วย

ขณะที่คู่แข่งอย่างเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์เติบโตอย่างต่อเนื่องเปิดสาขาใหม่แทบทุกปี ล่าสุดก็เพิ่งเปิดสาขาที่รังสิตเป็นรูปแบบเมกกะเพล็กซ์ขนาดใหญ่จำนวน 16 โรงแห่งแรกในภูมิภาคนี้ ขณะนี้เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์มีสาขาทั้งสิ้น 7 สาขา รวม 65 โรง (ไม่นับโรงหนังไอแมกซ์ 1 โรง จำนวน 600 ที่นั่ง) คือที่ ปิ่นเกล้า รัชโยธิน เอกมัย รามคำแหง เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เชียงใหม่ และรังสิต รวมจำนวนที่นั่งทั้งสิ้น 20,400 ที่นั่ง

นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเปิดสาขาใหม่เพิ่มภายในปีสองปีนี้อีกอย่างน้อย 4 แห่งคือ เซ็นทรัลพระรามสอง เซ็นทรัลพระรามสามซึ่งเข้าไปเทคโอเวอร์โรงหนังเดิมของค่ายสยามยูเอมาทั้งหมดทุกโรง และสาขาที่เซ็นทรัลบางนา และสาขาบางกะปิในเทสโก้โลตัส ซึ่งเมื่อเปิดครบตามแผนงานนี้แล้วจะทำให้เมเจอร์ฯมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 11 แห่งรวม 105 โรงและมีที่นั่งกว่า 32,200 ที่นั่ง และตั้งเป้าหมายส่วนแบ่งการตลาดปีนี้ไว้ที่มากกว่า 50% ขณะที่ปีที่แล้วทำส่วนแบ่งตลาดได้กว่า 40%

ส่วนค่ายเอสเอฟก็ผงาดขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากสาขาแรกที่มาบุญครองเมื่อ 2 ปีที่แล้ว กลับมีสาขาเพิ่มในวันนี้มากถึง 6 แห่งแล้วคือ ปีที่แล้วเปิดรวดพร้อมกันที่เดอะมอลล์สามสาขา และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ก็เปิดสาขาใหม่ที่เซ็นทรัลลาดพร้าวและเซ็นทรัลเฟสติวัลพัทยา และมีแผนที่จะเปิดสาขาใหม่อย่างน้อย 2 แห่งในปีนี้อีกด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.