เอไอเอสกล่อมพาร์ตเนอร์ร่วมหัวจมท้ายบริการเสริม


ผู้จัดการรายวัน(30 พฤศจิกายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ผ่ายุทธศาสตร์นอนวอยซ์ปี 2548 เอไอเอส ด้วยเป้าหมายรายได้กว่า 1 หมื่นล้านบาท ชูคอนเซ็ปต์ ร่วมหัวจมท้าย หวังเดินตามรอยความสำเร็จร้านเทเลวิซ ยกระดับคอนเทนต์ โพรวายเดอร์เป็น Key Strategic Partner ที่เอไอเอส พร้อมทุ่มงบสนับสนุนทุกรูปแบบ

นายกฤษณัน งามผาติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอสกล่าวถึงเป้าหมายรายได้บริการนอนวอยซ์ในปีหน้า ว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากตลาดรวมประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปี 2547 ที่เอไอเอสมีรายได้ประมาณ 7.9 พันล้านบาท

"รายได้จากบริการนอนวอยซ์ของเอไอเอส มากกว่าสถานีทีวีบางช่อง หรือมากกว่าธุรกิจบันเทิงบางบริษัทด้วยซ้ำ"

ปีหน้าฐานลูกค้าของเอไอเอสจะอยู่ที่ประมาณ 17.5-18.5 ล้านราย จากปัจจุบันที่มียอดลูกค้าประมาณ 15 ล้านราย โดยที่ปีหน้าจะมีแพกเกจค่าบริการออกมามากกว่า 30 แพกเกจ ซึ่งบริการนอนวอยซ์ก็จะพ่วงเข้าไปในแพกเกจเหล่านั้น

"ปีหน้าตลาดนอนวอยซ์จะเปลี่ยนแปลงจาก SMS ระหว่างบุคคลกับบุคลที่จะชะลอตัว ก็จะเปลี่ยนเป็นแอปพลิเคชันกับดาต้า ซึ่งจะเติบโตแบบก้าวกระโดด"

นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานธุรกิจ บริการสื่อสารไร้สาย เอไอเอสกล่าวว่าบริการนอนวอยซ์ของเอไอเอสจะมีโมบายไลฟ์ เป็นธงเพื่อสร้าง Wireless Society บนยุทธศาสตร์ สำคัญ 3 ด้านคือ Availability หรือความหลากหลายของบริการ ที่ต้องมีจำนวนมากรองรับความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม Affordability เป็นการดูความเหมาะสมของค่าบริการ ไม่กำหนดตามรูปแบบเดิมๆว่าค่าส่ง SMS หรือ MMS ครั้งละเท่าไหร่ แต่ดูความคุ้มค่าของข้อมูลที่ลูกค้าพร้อมจ่ายค่าบริการ และ Accessibility ต้องให้ลูกค้าเข้าถึงการใช้งานง่าย

เขากล่าวว่าจากเป้ารายได้กว่า 1 หมื่นล้านบาท ในปีหน้า จะมาจากการทำงานร่วมกับผู้ให้บริการข้อมูลหรือคอนเทนต์โพรวายเดอร์มากกว่า 50% ซึ่งเอไอเอสจะแบ่งลำดับความสำคัญของคอนเทนต์โพรวายเดอร์ออกเป็น 3 ประเภทคือ 1.Key Strategic Partner ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ที่เรียกว่าร่วมหัวจมท้ายกับเอไอเอส ร่วมกันทำแผนธุรกิจแอ็กชั่นแพลน แม้กระทั่งเซอร์วิส โรดแมปร่วมกัน ซึ่งเอไอเอสพร้อมซัปพอร์ตเต็มที่ โดยที่บริการต่างๆที่เกิดขึ้นจะสามารถใช้บริการได้เฉพาะลูกค้าเอไอเอสเท่านั้น โดยที่เอไอเอส อยู่ระหว่างคุยกับ 5 คอนเทนต์ โพรวายเดอร์รายใหญ่ที่ทำรายได้ให้มาก

2.Content Partner หรือ Content Aggregator หมายถึงคอนเทนต์โพรวายเดอร์ที่ให้บริการร่วมกับ โอเปอเรเตอร์ทุกราย เอไอเอสก็พร้อมให้ต่อเชื่อมเพื่อให้บริการ และ 3.Other Related Business ซึ่งเป็นธุรกิจอื่นๆ ที่ใช้ประโยชน์จากบริการสื่อสารไร้สาย ไม่ว่าจะเป็นคอนซูเมอร์โปรดักต์ หรือธุรกิจสถาบันการเงินการใช้ประโยชน์ จาก SMS ซึ่งสามารถร่วมทุนกับเอไอเอสในการให้บริการได้

"เอไอเอสจะทำตัวเป็นซัปพอร์ตเตอร์ ให้พาร์ตเนอร์ด้านคอนเทนต์ เจริญเติบโตไปพร้อมๆกับเอไอเอส"

สำหรับธุกริจนอนวอยซ์ของ เอไอเอสมีการวิเคราะห์ว่าประมาณ 88% มาจากด้านเอนเตอร์เทนเมนต์ 9% มาจากด้านอินฟอร์เมชัน 2% มาจากด้าน Messaging และ 1% มาจาก M-Commerce โดยที่การใช้งานด้านเอนเตอร์เทนเมนต์ที่สูง 88% หากแยกย่อยลงไปอีกจะพบว่าเป็นการดาวน์โหลดถึง 54% เกม 3% ออดิโอเท็กซ์ 32% โมบาย อินเตอร์แอ็กทีฟ 11% ซึ่งเอไอเอสพร้อมให้การสนับสนุนคอนเทนต์โพรวายเดอร์ไม่ว่าจะเป็นด้านมีเดียซัปพอร์ต ที่มีงบปีละหลายพันล้านบาท การจัดกิจกรรมการตลาดร่วมกัน หรือการบันเดิลบริการเข้าไปในโทรศัพท์มือถือที่มีการจำหน่ายผ่านเครือข่ายเอไอเอสเดือนละกว่า 5 แสนเครื่อง ซึ่งถือเป็นโอกาสของคอน-เทนต์ โพรวายเดอร์ที่สนใจร่วมทำธุรกิจกับเอไอเอส

ด้านนายสุวิทย์ อารยะวิไลพงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาบริการ สื่อสารไร้สาย เอไอเอสกล่าวว่าปีหน้าบริการนอนวอยซ์ที่คาดว่าจะได้รับความนิยมและมีโอกาสเติบโตประกอบด้วย 1.คอลลิ่ง เมโลดี้ หรือการใช้เสียงเพลงระหว่างรอรับสาย ที่เติบ โตต่อเนื่องจากในปีนี้โดยที่ปัจจุบันมีคนใช้กว่า 3 ล้านคนทำรายได้ให้เอไอเอส 1.2 พันล้านบาท โดยที่รูปแบบในปีหน้าจะมีลูกเล่นมากขึ้นเช่นการจัดเป็นแพกเกจ 10 เพลงในราคาพิเศษหรือการเลือกเพลงแยกตามช่วงเวลาและเบอร์เรียกเข้า

2.บริการในลักษณะเป็นพอร์ทัล หรือการใช้ GPRS โดยที่ขณะนี้มีคนใช้ GPRS ประมาณ 2.4 ล้านคนจากจำนวนเครื่องที่รองรับ 3.3 ล้านเครื่องหรือมีการใช้งานกว่า 72% โดยที่ในปีหน้าจะเพิ่มจำนวนเป็น 7.7 ล้านเครื่องที่รองรับ GPRS ซึ่งถือเป็นโอกาสไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำฟรีคอน-เทนต์มาไว้บนพอร์ทัล โดยที่มีรายได้จากค่าโฆษณา ซึ่งจะเป็นการแบ่งประเภทคอนเทนต์ให้ชัดเจนขึ้นว่าคอนเทนต์ไหนเป็นพรีเมียมซึ่งสามารถเก็บเงินได้ หรือคอนเทนต์ไหนฟรี แต่คอนเทนต์โพรวายเดอร์ก็จะมีรายได้จากค่าโฆษณา

3.บริการ MMS ซึ่งปีนี้เติบโต 5 เท่าจาก 20 ล้านบาท มาเป็น 100 ล้านบาท และคาดว่าปีหน้าจะเติบโตเท่ากัน จากการที่เอไอเอสปรับค่าบริการส่ง MMS เป็นครั้งละ 6 บาท 4.บริการ SMS จะเติบโตด้านแอปพลิเคชัน ในเชิงคอนซูเมอร์ โปรดักต์ โดยเฉพาะในเรื่องโมบาย มาร์เกตติ้ง และ 5.การสร้างคอมมูนิตี้ เพื่อจับกลุ่มลูกค้าเฉพาะด้านเช่นการสร้างคอมมูนิตี้ของ คนชอบตกปลา ซึ่งคอนเทนต์ โพรวายเดอร์สามารถเข้าไปให้บริการในลักษณะการดูแลพอร์ทัลในส่วนนี้ได้

สำหรับการเติบโตของธุรกิจนอนวอยซ์เกิดจาก Customer Value หรือการให้ความสำคัญกับลูกค้าสำหรับบริการเสริม, Innovation ด้านแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าด้านการสื่อ สารข้อมูลที่มีการพัฒนาต่อเนื่องจาก SMS จาก P2P(Person To Person) ก็นำมาใช้ด้านธุรกิจ อินเตอร์แอ็กทีฟ กับรายการทีวีและวิทยุ และการใช้งานที่ง่ายขึ้น

นายสมชัยกล่าวว่าเอไอเอสจัดงานสัมมนาเพื่อรวมพลังพันธมิตรด้าน คอนเทนต์กว่า 200 รายภายใต้แนวคิด Together We Go,Together We Win เพื่อรวมพลังคอนเทนต์ โพรวายเดอร์ให้รับรู้แนวทางธุรกิจด้านนอนวอยซ์ของเอไอเอสปีหน้า โดยความเข้มแข็งของเอไอเอสประกอบด้วย 3 ด้านคือฐานผู้ใช้บริการเอไอเอสที่มากกว่า 15 ล้านราย, วิชันในเรื่องนอนวอยซ์ของเอไอเอสที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Innovation แอปพลิเคชัน การสร้างประสบการณ์ให้ผู้ใช้บริการและการให้ พันธสัญญาหรือคอมมิตเมนต์กับคอนเทนต์โพรวายเดอร์ที่เอไอเอสจะเปลี่ยนบทจากโอเปอเรเตอร์กลายเป็น ซัปพอร์ตเตอร์เพื่อเติบโตไปพร้อมๆ กัน

"เอไอเอสเคยทำสำเร็จกับเรื่องช่องทางอย่างร้านเทเลวิซที่มีแต่คนอยากขยายเพิ่มไม่มีใครอยากออก เรื่องนอนวอยซ์ก็เช่นเดียวกัน"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.