New CEO

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

พวกเขาและเธอเกิดขึ้นในช่วงสงครามเวียดนาม เติบโตมากับการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยที่มีสีสันมากที่สุดช่วงหนึ่ง เวลาของพวกเขาและเธอมาเร็วมากทีเดียว ในฐานะรุ่นที่ 2 ยุคใหม่ เป็นปรากฏการณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งในปี 2547 ที่กำลังจะผ่านไป

พวกเขาและเธอแตกต่างกับรุ่นที่ 1 ที่โอกาสมาเร็วกว่ามาก ยิ่งไปกว่านั้นยังดูจะมีโอกาสมากที่สุดในประวัติศาสตร์ธุรกิจไทยเลยทีเดียว เป็นครั้งแรกที่คนหนุ่มสาวอายุไม่ถึง 30 ปี ได้ก้าวขึ้นตำแหน่งสูงสุดขององค์กรธุรกิจยุคใหม่ ในประวัติศาสตร์กลุ่มคนหนุ่มสาวที่เคยทำสถิติอย่างเป็นระบบ อายุจะมากกว่า 30 ปี ก็นับว่ามากแล้วในยุคนั้น ว่าไปแล้วก็คือในช่วงสงครามเวียดนามนั่นเอง กลุ่มคนเหล่านี้มีทั้งทายาทธุรกิจรุ่นใหม่ และมืออาชีพที่ผ่านการศึกษาอย่างดี ประสบการณ์ทำงานที่ดีนั่นเอง

การก้าวขึ้นของรุ่นที่ 2 มีความหมายที่น่าสนใจหลายมิติ

รุ่นที่ 1 ที่เป็นฐานของรุ่นที่ 2 ถือเป็นผู้มาใหม่รุ่นล่าสุดของคนไทย ซึ่งผมเคยเขียนอรรถาธิบายไว้พอสมควร ผู้มาใหม่รุ่นนี้สามารถสร้างอาณาจักรธุรกิจภายในช่วงเวลาเพียงทศวรรษเดียวเท่านั้น กลุ่มนี้นำโดยทักษิณ ชินวัตร ภายใต้เงื่อนไขสังคมไทยพัฒนาและปรับเปลี่ยนรากฐานต่อเนื่องจากสงครามเวียดนาม ต่อเนื่องมาในยุควิกฤติการณ์น้ำมัน วิกฤติการณ์ตลาดหุ้นครั้งแรก เป็นภาพสะท้อนที่สังคมเปิดตัวเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมระดับโลกอย่างเต็มที่ คนรุ่นแรกนี้ เติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยปัจจัยอย่างน้อย 2 ประการ

หนึ่ง วิถีชีวิตของคนไทยสมัยใหม่ (ที่สัมพันธ์กับสินค้าและบริการสมัยใหม่) ได้ขยายฐานจากชุมชนในเมืองหลวง ออกสู่หัวเมืองและขยายตัวไประดับภูมิภาคอย่างรวดเร็ว

สอง โอกาสในการระดมทุนที่กว้างขึ้น มิได้จำกัดอยู่ที่ฐานการเงินของระบบธนาคารไทยเดิม หากอยู่ตลาดทุนและระบบธนาคารโลก

แม้ว่ารุ่นที่ 1 ในฐานะผู้มาใหม่จะเติบโตมาอย่างรวดเร็ว แต่ก็ผ่านแรงเสียดทานมาไม่น้อยทีเดียว พวกเขามีความคล่องตัว มีความสามารถ ลักษณะบุคคลสูงมาก โดยเฉพาะความสามารถ ที่ผสมผสานระหว่างความรู้การบริหารทุนสมัยใหม่เข้ากับอำนาจนิยม ระบบอุปถัมภ์ดั้งเดิม ซึ่งยังคงอยู่

คนรุ่นที่ 2 จึงมีบันไดที่ทอดผ่าน พวกเขาสมควรจะมีโอกาสมากกว่าคนรุ่นแรก ยังไม่ใช่สรุปที่จะกระทำได้ขณะนี้ เพราะความจริงมีสถานการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นและผันแปรมากกว่ายุคที่รุ่นที่ 1 เคยประสบมา

แม้ว่าคนรุ่นสอง ได้รับโอกาสที่มีตั้งแต่เดิมในช่วงที่รุ่น 1 ที่กำลังเติบโต พวกเขาและเธอจึงมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างดี อาจจะเรียกว่าดีที่สุดในช่วงประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาของรุ่นถัดมาเลยทีเดียว ส่วนใหญ่ผ่านการศึกษาอย่างดีจากต่างประเทศ

คนรุ่นที่ 2 ยังโชคดีอีกชั้นหนึ่ง นั่นคือสถานการณ์สังคมไทยในเมืองใหญ่และหัวเมืองเปลี่ยนปรับฐานไปมากทีเดียว การเติบโตของคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นอายุ 20 ปีขึ้นไป เป็นฐานตลาดที่ใหญ่มาก และมีบุคลิกที่แน่ชัด ว่าด้วยยุทธศาสตร์ทางธุรกิจแล้ว ฐานตลาดใหม่กลุ่มนี้ คืออนาคตของสังคมไทยในหลายมิติ รวมถึงตลาดสินค้าที่มีความกว้างใหญ่ ดังนั้นผู้บริหารที่เป็นรุ่นที่ 2 ซึ่งถือว่าอยู่ในวัยเดียวกัน เป็นสมมติฐานว่าพวกเขาย่อมเข้าใจตลาดใหม่ได้ดี

คนรุ่นที่ 2 โชคดีที่เข้ารับช่วงภารกิจในภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา นับเป็นจังหวะที่คนรุ่นที่ 1 จงใจทำไว้ ดังนั้นความคึกคักและสีสันของคนรุ่น 2 ในช่วงปี 2547 จึงมาด้วยปัจจัยข้างต้น

อย่างไรก็ดี ในปัจจัยที่เอื้ออำนวย ย่อมซ่อนอุปสรรคไว้ด้วย ที่สำคัญก็คือสถานการณ์ต่างๆ ของสังคมไทยได้ปรับเปลี่ยนฐานความไม่แน่นอน ความผันแปร ไปอีกระดับหนึ่ง ที่ทั้งคนรุ่น 1 และ 2 ไม่มีประสบการณ์มาก่อน

ความไม่แน่นอน ความผันแปรของสังคมระดับโลกมีเพิ่มมากขึ้นอย่างที่ต้องปรับฐานความคิดเดิมเสียสิ้น ความผันแปรที่ว่านี้ ไม่เพียงภาวะทางเศรษฐกิจของโลก ในระดับกว้างเท่านั้น ยังรวมถึงองค์ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นลบล้างความรู้เดิมมีมากขึ้นอย่างมาก แรงขับเคลื่อนของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนฐานเป็นเทคโนโลยีระดับผู้บริโภคกันเป็นระบบแล้ว มีพลังมากขึ้น ที่สำคัญจากนั้น วิถีชีวิตที่ผันแปรยังสะท้อนมายังกลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ โดยเฉพาะคนรุ่นอายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งถือว่าเป็นอนาคตของสังคมด้วย

คนรุ่น 2 จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนเช่นนี้มากขึ้นในปีถัดๆ ไป

คนรุ่นที่ 2 ที่ผ่านสถานการณ์ที่มีความวิตกกังวลอย่างชัดเจน ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นไปก็จะกลายเป็นพลังของสังคมไทยยุคใหม่อย่างแท้จริง

แต่อย่างไรก็ตาม กฎพื้นฐานที่ว่า ผู้คนที่ผ่านการทดสอบนั้นได้ ย่อมมีน้อยกว่าคนที่ไม่ผ่าน ยังเป็นจริงเสมอ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.