ทิม แทม หน้าปากซอย

โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

สำหรับ ทิม แทม (Tim Tam) แล้ว คนออสเตรเลียเกือบทุกคนรู้จักเป็นอย่างดี

ทิม แทม เป็นขนมเวเฟอร์เคลือบช็อกโกแลตซึ่งมีหลายรส แต่รสที่สร้างชื่อเสียงให้ทิม แทม เป็นที่รู้จักกันไปทั่ว คือรสช็อกโกแลต หรือรสดั้งเดิม (original)

สามารถพูดได้ว่า ใครมาเที่ยวออสเตรเลียเป็นต้องซื้อกลับไปฝากคนที่บ้าน ถือเป็นขนมประจำชาติอย่างหนึ่ง แม้ว่าเจ้าของทิม แทม ที่แท้จริงในปัจจุบันจะเป็น บริษัทอเมริกันไปแล้วก็ตาม

สำหรับในเมืองไทยอาจจะหาซื้อได้ค่อนข้างยากสักหน่อย

แต่ในเมืองจีนแล้ว อีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า (นับจากวันเขียนต้นฉบับ) ทิม แทม จะไปประดับอยู่บนแผงในร้านค้ากว่า 700 ร้านในเมืองชายฝั่งตะวันออกอย่าง กวางจู และเซินเจิ้น ในชื่อ Tian Dian โดยขายในราคา 5.5 หยวน หรือประมาณหนึ่งดอลลาร์ออสเตรเลีย (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 30-31 บาท) ในขณะที่สปอตโฆษณา ทิม แทม รวมถึงโฆษณาข้างรถเมล์เริ่มต้นไปพักใหญ่แล้ว

นี่คือการประกาศการบุกเมืองจีนของสินค้าอุปโภคบริโภคออสเตรเลียนแบรนด์อย่างแท้จริง หลังจากที่สินค้าหนักประเภททรัพยากรธรรมชาติ เหล็ก แร่ธาตุ และพลังงาน ส่งเข้าประเทศจีนมานานแล้ว

กลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นักธุรกิจชั้นนำของออสเตรเลียส่วนหนึ่งเดินทางไปปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ เพื่อพูดคุยและศึกษาถึงแนวทางในการบรรลุข้อตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ระหว่างประเทศออสเตรเลียและจีน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อตกลงอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปีหน้า

ปลายเดือนตุลาคม ธนาคารกลางของจีนประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเก้าปี โดยขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานสำหรับสินเชื่อสกุลเงินหยวนระยะ 1 ปี จากเดิม 5.31% เป็น 5.58% และขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 1 ปี 0.27% เช่นกัน โดยเพิ่มจาก 1.98% เป็น 2.25%

ต้นเดือนพฤศจิกายนมีการส่งสัญญาณจากรัฐบาลจีนที่อาจจะเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 8.277 หยวนต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ซึ่งกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 1995 โดยยอมให้เคลื่อนไหวขึ้นลงได้เพียง 0.03% เท่านั้น

ก่อนหน้านี้กลุ่มประเทศ G8 โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาเรียกร้องแกมกดดันให้ประเทศจีนผ่อนคลายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งประเทศจีนก็ยังไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องเท่าใดนัก โดยหลายฝ่ายมองว่า ประเทศจีนกำลังรอจังหวะก้าวอยู่ เพราะวันหนึ่งอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนจะต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน

ผลจากการส่งสัญญาณจากรัฐบาลจีน ทำให้ค่าเงินหยวนปรับตัวเพิ่มขึ้นในตลาดซื้อขายล่วงหน้า

ก่อนหน้านี้มีการส่งสัญญาณผ่านสื่อต่างประเทศอย่างรอยเตอร์ (ซึ่งผมเคยเขียน ถึงในบทความเรื่อง "มังกรกระซิบ" มาแล้ว) โดยการให้สัมภาษณ์ของนายเหวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรีของจีนว่า เศรษฐกิจจีนเติบโต รวดเร็วมากเกินไป จนจำเป็นจะต้องชะลอการเติบโต ซึ่งครั้งนั้นดัชนีตลาดหุ้นสำคัญๆ ทั่วโลกดิ่งลง โดยเฉพาะตลาดหุ้นออสเตรเลีย ซึ่งมีหุ้นของกลุ่มทรัพยากรธรรมชาติที่ไปลงทุนค่อนข้างมากในประเทศจีนเป็นหุ้นกลุ่มหลัก

วิเคราะห์กันว่า นี่คือสามขั้นตอนของรัฐบาลในการชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจจีน โดยขั้นตอนแรก รัฐบาลจีนหยุดหรือเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อผ่านระบบธนาคารของรัฐ การเข้มงวดในการใช้ที่ดิน และการลดการใช้เหล็ก อะลูมิเนียม และซีเมนต์ในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ซึ่งรัฐบาลจีนได้ทำแล้วในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมกับการให้สัมภาษณ์ของนาย เหวิน เจีย เป่า ดังกล่าวข้างต้น

ขั้นตอนที่สองคือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยการขึ้นดอกเบี้ยถือเป็นการเริ่มต้นของกระบวนการในขั้นตอนที่สอง ซึ่งจะตามมาด้วยอีกหลายๆ มาตรการ

สำหรับขั้นตอนสุดท้ายคือ การปรับเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนั่นเอง

ประเทศออสเตรเลียส่งออกไปประเทศจีนเพิ่มขึ้น 12.6% และนำเข้าเพิ่มขึ้น 11.2% ในปีที่ผ่านมา

สำหรับประเทศออสเตรเลียแล้ว เรื่องราวของจีนถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากเกือบทุกๆ วัน เราจะได้อ่านข่าวคราวทางด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีน เพราะสำหรับประเทศออสเตรเลีย ประเทศในแถบเอเชียถือเป็นคู่ค้าคู่ขายที่สำคัญมานานแล้ว โดยก่อนหน้านี้ คู่ค้าอันดับหนึ่งคือ ญี่ปุ่น ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นจีนในปัจจุบัน

รายงานล่าสุดจากนิตยสาร BRW เกี่ยวกับมุมมองของบริษัทออสเตรเลียต่อการลงทุนในตลาดประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย โดยศึกษาผลกระทบทางด้านการลงทุนภายหลังเหตุการณ์การก่อการร้ายในประเทศอินโดนีเซีย พบว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 นั้น ประเทศในกลุ่มเอเชียอาคเนย์ถือเป็นหนึ่งในแหล่งลงทุนห้าอันดับแรกของประเทศออสเตรเลีย แต่หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ รวมถึงการก่อการร้ายในช่วงสองสามปีหลังที่ผ่านมา โดยเฉพาะการระเบิดที่ไนต์คลับบนเกาะบาหลีในเดือนตุลาคมปี 2002 ซึ่งส่งผลให้ชาวออสเตรเลียเสียชีวิตมากถึง 88 คน กอปรกับการระเบิดหน้าสถานทูตออสเตรเลียประจำกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็ทำให้แทบจะกาชื่อประเทศในแถบนี้ออกไปได้เลย นี่ยังไม่รวมเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งกลายเป็นข่าวต่างประเทศที่สำคัญในหลากหลายสื่อของออสเตรเลียซึ่งหาอ่านหาดูได้เกือบทุกวัน

นิตยสาร BRW ชี้ชัดว่า เศรษฐกิจตกต่ำจากปี 1997 และการก่อการร้ายเป็นสาเหตุสำคัญที่สุด ที่ทำให้บริษัทเอกชนออสเตรเลียไม่สนใจมาลงทุนในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ทุ่มเงินไปในประเทศจีนแทน โดยกระทรวงการค้าและต่างประเทศของออสเตรเลียรายงานว่า ภายในสิบปีข้างหน้านี้ GDP ของประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์จะเท่ากับ 6% ซึ่งต่ำกว่าที่ควรจะเป็นถ้าไม่มีปัญหาเรื่องการก่อการร้าย และบอกว่าประเทศจีนน่าลงทุนกว่ามาก

ประเทศออสเตรเลียส่งออกไปฟิลิปปินส์ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2001 และปี 2003-2004 ที่ผ่านมาลดลงถึง 14.6% จากปีก่อนหน้า เพราะฟิลิปปินส์ถูกมองว่า เป็นสวรรค์ของกลุ่มผู้ก่อการร้าย

การส่งออกไปมาเลเซียลดลงเกือบ 20% โดยเฉพาะการลงทุนในมาเลเซียของบริษัทออสเตรเลียลดลงมากถึง 69% นับจากปี 1996 ในขณะที่มาเลเซียมาลงทุนในออสเตรเลียเพิ่มขึ้นถึง 342%

แต่กับประเทศอินโดนีเซียถือเป็นฝันร้ายอย่างแท้จริง โดยรายงานจากสำนักงาน สถิติแห่งชาติออสเตรเลีย พบว่า การลงทุนในอินโดนีเซียลดลงจากมากกว่า 9,000 ล้าน เหรียญก่อนปี 1997 เหลือเพียง 2,600 ล้าน เหรียญในปัจจุบัน โดยมีรายงานว่าการลงทุนในอินโดนีเซียเมื่อปีกลายที่ผ่านมา มีเพียง 178 ล้านเหรียญเท่านั้น โดยบริษัทที่ลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทเก่าแก่ที่ลงทุนมาหลายสิบปีแล้วทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม บริษัทออสเตรเลียกลับมีแนวโน้มลงทุนในประเทศเวียดนามมากขึ้น สาเหตุหนึ่งก็คือ ประเทศเวียดนาม ไม่ได้ให้การสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในสงครามบุกอิรัก ทำให้ประเทศเวียดนามค่อนข้างปลอดภัยจากการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นทั่วไปในประเทศแถบนี้ นอกจากนี้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูงเป็นรองแค่ประเทศจีนเท่านั้น ทำให้ตลาดเวียดนามหอมหวนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นโยบายทางเศรษฐกิจที่ผันผวนของรัฐบาลเวียดนาม ก็ยังคงเป็นอุปสรรคที่ทำให้บริษัทออสเตรเลียต้องคิดให้รอบคอบมากขึ้น

กับประเทศสิงคโปร์ ถือเป็นคู่ค้าคู่ลงทุนที่สำคัญยิ่ง เพราะสิงคโปร์มาลงทุนในออสเตรเลียมากเป็นอันดับห้า และเป็นตลาดส่งออกสิบอันดับแรกของออสเตรเลีย นอกจากนี้ออสเตรเลียยังมีข้อตกลงเอฟทีเอกับประเทศสิงคโปร์ โดยทำขึ้นก่อนประเทศไทยประมาณหนึ่งปี

เมื่อมองถึงประเทศไทย มีข่าวเล็กๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ธุรกิจว่า ข้อตกลงการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย ทำให้บริษัทออสเตร เลียโดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และสิ่งทอวางแผนที่จะเปิดโรงงานร่วมทุนกับคนไทยมากขึ้น โดยอาศัยประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าว โดยจะเริ่มต้นในวันที่ 1 มกราคมปีหน้า ซึ่งเป็นวันที่ข้อตกลงมีผลบังคับใช้

ในยุคโลกาภิวัตน์ ข่าวสารที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งย่อมส่งผลไปถึงประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพราะทุกวันนี้ เราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว เราล้วนมีความสัมพันธ์กับประเทศ อื่นๆ ทั่วโลก

ดังนั้น เหตุการณ์ที่ตากใบจึงส่งผลซ้ำเติมความรู้สึกของชาวออสเตรเลียต่อการลงทุนในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างหลีกหนีไม่พ้น

ผมหวังว่า วันหนึ่งออสเตรเลียจะกลับมาสนใจลงทุนในแถบประเทศเอเชียอาคเนย์อีกครั้ง และเมื่อนั้นเราอาจจะหาซื้อทิม แทมได้ที่ร้านอาโกปากซอย ไม่ต้องบินไกลมาซื้อถึงออสเตรเลีย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.