โคตรโกง

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

เย็นวันหนึ่งของต้นฤดูหนาว มีข้อความสั้นส่งเข้า มายังโทรศัพท์ของผม....

ข้อความมาจาก "เบน" เพื่อนนักเรียนชาวอังกฤษ ความว่า "รู้จักห้องว่างๆ ให้เช่าแถวมหาวิทยาลัยไหม?"

เบน หนุ่มอังกฤษ วัยย่างเบญจเพศ รูปร่างคล้าย เวย์น รูนีย์ เพิ่งเข้าพิธีสมรสกับสาวญี่ปุ่นไปเมื่อปิดเทอมฤดูร้อนที่ผ่านมา พอกลับมาเรียนต่อ (พร้อมเอาแฟนสาวมาอยู่ด้วย) ก็เจอฤทธิ์เดช "จีนปักกิ่ง" เข้าจนได้...

เบนทำสัญญาเช่าห้องพักขนาดสองห้องนอนผ่านบริษัทนายหน้าแห่งหนึ่ง โดยจ่ายเงินค่าเช่าห้องทั้งปีล่วงหน้ารวม 20,000 กว่าหยวน (เทียบเป็นเงินบาทไทยก็ราวหนึ่งแสน) หลังจากฉลองฮันนีมูนในห้องพักห้องใหม่ได้ไม่ถึง 2 เดือนดี เจ้าของบ้านก็มาเคาะประตู.... มิใช่มาทักทายหรือมาสนทนากับลูกบ้าน แต่มาทวงเงินค่าเช่า

อาจด้วยความสะเพร่าของหนุ่มอังกฤษที่หลวมตัวจ่ายเงินค่าเช่าทั้งปีให้กับบริษัทนายหน้าไปก็ว่าได้ เพราะพอรับทรัพย์ก้อนใหญ่ บริษัทนายหน้าดังกล่าวก็ได้อันตรธานหายตัวไปแบบไร้ร่องรอย

"ชิต!!!" หนุ่มอังกฤษระบายอารมณ์ออกมาเป็นภาษาแม่ ด้วยความอัดอั้นตันใจ ที่ถูกตุ๋นเสียเปื่อย

สำหรับนักเรียนต่างชาติที่มาอยู่เมืองจีน "หาบ้านเช่า" นั้นนับว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าปวดหัว จนอาจเป็นเรื่องน่าสะพรึงกลัว หรือฝันร้ายไปเลยสำหรับบางคน

การเดินออกจากหอในรั้วมหาวิทยาลัย มาใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางคนจีนนั้น มีเรื่องที่ต้องระแวดระวังกันทุกฝีก้าว ตั้งแต่นับหนึ่งคือ การเลือกนายหน้า หรือเลือกที่อยู่กันเลยทีเดียว... เบน หนุ่มอังกฤษเป็นตัวอย่างถึงความผิดพลาดที่น่าจดจำไว้เป็นบทเรียน

การต่อรองค่าเช่าบ้าน ไม่เหมือนการต่อรองซื้อของตามตลาด (หากใครมาทำงาน มาเรียน หรือแม้ กระทั่งมาเที่ยวเมืองจีนก็ต่างสามารถใช้กลยุทธ์ "ต่อแล้ว เดินหนี" ได้ผลกันจนเป็นที่รู้จักกันไปทั่ว) เพราะการต่อรองเพื่อเช่าบ้านในเมืองจีนนั้นมีรายละเอียดยิบย่อยมากมาย และแม้ว่าจะเจรจากับเจ้าของบ้าน (ฝังตง : ส่วนลูกบ้าน หรือผู้เช่าบ้านนั้นเรียกว่า ฝังเค่อ : ) จนได้ราคาที่น่าพอใจแล้ว แต่แทบทุกครั้ง เจ้าของบ้านก็มักจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสอดไส้มาทุกครั้ง อย่างเช่น ค่าประกันบ้าน ค่าประกันโทรศัพท์ ค่าเครื่องทำความร้อนในฤดูหนาว ค่าดูโทรทัศน์ ค่าทำความสะอาดส่วนกลาง ค่าเก็บขยะ ฯลฯ

มากกว่านั้น อยู่ไปอยู่ไป หากสัญญาที่เขียนไว้หละหลวม ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็อาจกระเถิบเพิ่มขึ้นมาแบบกะทันหันโดยที่ผู้เช่าไม่รู้ตัว หรือบางครั้งตอนหมดสัญญาจะย้ายออกจากบ้านก็อาจจะโดนริบค่าประกันบ้านไปหน้าด้านๆ เสียอย่างนั้น เนื่องจากเจ้าของบ้านยกข้ออ้างจุดโน้นจุดนี้ว่า การเช่าของเราทำให้เฟอร์นิเจอร์ หรือสภาพบ้านโดยรวมเสียหาย

หลายคนที่อยู่เมืองจีนนานวันเข้า พอเจอความเจ้าเล่ห์เพทุบายเช่นนี้เข้า จากเดิมที่ "รัก" เมืองจีน-คนจีน ก็กลับกลายเป็น "ยิ่งอยู่ยิ่งเกลียด"

ประสบการณ์การเช่าบ้านในเมืองจีนนั้น มองให้ลึกลงไปก็คือ การหาประสบการณ์ขั้นต้นสำหรับการทำธุรกิจกับคนจีนแผ่นดินใหญ่ในภาพใหญ่

เชื่อแน่ว่า นักธุรกิจสัญชาติไทยแทบทุกคนที่มาลงทุนในจีน หรือค้าขายกับคนจีน ต่างเคยพบกับประสบการณ์ "โคตรโกง" เช่นนี้มาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการสอดไส้สินค้าไม่มีคุณภาพ สัญญาไม่เป็นสัญญา รับเงินไปแล้วของไม่ส่ง หรือกรณีใหญ่ๆ อย่างเช่น การเปิดเสรีการค้าผลไม้ ไทย-จีน ที่มีข่าวออกมาเป็นระยะว่าพอรัฐบาลไทยไปทำสัญญากับรัฐบาลกลางจีน เมื่อปลายปี 2546 แล้ว พืช ผัก ผลไม้ราคาถูกจาก จีนก็ทะลักเข้ามาฝ่ายเดียว แต่พอพ่อค้าไทยจะส่งผลไม้ ไปจีนบ้างกลับเจอมาตรการกีดกัน บ้างเจอลูกไม้จากรัฐบาลประจำมณฑลที่บอกว่าเรื่องลดภาษีเป็นเรื่องของรัฐบาลกลางจีนทำ รัฐบาลท้องถิ่นไม่รู้เรื่อง ใครจะเอาผลไม้เข้ามาก็ต้องจ่ายภาษีเหมือนเดิม!?!.... อย่างนี้ก็มี

ผมเคยถามถึงสาเหตุของพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์เหล่านี้กับชาวจีนผู้มีการศึกษาหลายคน ซึ่งคำตอบแบบสรุปรวมที่ได้มาก็คือ

ประการแรก จีนปิดประเทศมานาน เมื่อ 20 กว่า ปีก่อน พอเติ้งเสี่ยวผิงเปิดไฟเขียวเอาระบบตลาดเข้ามาดัดแปลงใช้กับระบบสังคมนิยม สังคมที่ถูกกดมานาน พอเปิดประตู ทุกอย่างก็ทะลักเข้ามา การปรับประเทศไปสู่ระบบตลาดก็คือ ปล่อยให้มีการแข่งขัน เมื่อการแข่งขันรุนแรงเข้า ขณะที่กฎหมาย กฎระเบียบมีช่องโหว่ และการควบคุมจากภาครัฐยังอ่อนแอ คนก็หาทางเล่นนอกเกม เล่นตุกติก เพื่อเอาชนะเอาประโยชน์ใส่ตัวเอง

"เปรียบเทียบอีกแบบ การที่เอาระบบทุนนิยมเข้ามาใช้ ก็เหมือนจีนไปเปิดกล่องแพนดอรา (Pandora's Box).... ในกล่องมันก็มีทั้งความชั่ว ความดี ความหวัง ผสมปนเปกัน"

ประการต่อมา ชาวจีนรุ่นปัจจุบันที่อยู่ในวัยทำการค้า คือในช่วงอายุ 30-50 ปี เป็นที่รู้กันว่าในยุคก่อน ตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์ยึดอำนาจจนถึงช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ.1966-1976) อาชีพอันเป็นที่ใฝ่ฝันของชาวจีนทั่วไปก็คือ นายทหาร รองลงไปก็คือ ข้าราชการ ปัญญาชน นักวิชาการ

ชาวจีนผู้มีพื้นฐานทางครอบครัวดี ได้รับการอบรมดี มีการศึกษาที่เติบโตมาในยุคนั้น ปัจจุบันคนกลุ่มนี้อายุก็จะตกอยู่ในช่วงราว 30-60 ปี กระจายทำงานในตำแหน่งข้าราชการ นายทหาร นักวิชาการ ฯลฯ ตามหน่วยงานภาครัฐทั้งหลาย ส่วนคนที่ไม่ค่อยได้รับการศึกษาก็กลายสภาพเป็นผู้ใช้แรงงาน ประกอบอาชีพอิสระ หรือไม่ก็ค้าขายไป

ด้วยความที่ 20 ปีที่ผ่านมา ระบบตลาดในจีน เพาะพันธุ์เติบโต และกำลังเฟื่องฟูอย่างรวดเร็วอยู่ในปัจจุบัน กลุ่มคนซึ่งไม่ได้รับการศึกษา หรือการศึกษาไม่ค่อยดีนัก ที่เดิมมีสถานะเป็นผู้ใช้แรงงานและสถานะทางสังคมไม่สูง ก็แลเห็นโอกาสเปลี่ยนอาชีพ แปลงสถานะเป็นพ่อค้า-แม่ขาย กระโดดลงไปคลุกในแวดวงธุรกิจอย่างไม่รีรอ

ในทางกลับกัน ชาวจีนกลุ่มที่มีการศึกษาดี กลับละล้าละลัง โดยส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะทิ้ง "ข้าวชามเหล็ก" กระโดดลงไปเสี่ยงตายทำการค้าขาย จึงได้แต่นั่งมองอยู่ตาปริบๆ

ปัจจุบันพ่อค้าจีนส่วนใหญ่เป็นคนที่การศึกษาไม่ค่อยสูงนัก แต่มีหัวในการทำการค้า คนเหล่านี้ก็คิดหาทุกวิถีทางที่จะทำให้ได้เงินมา จะสุจริต หรือทุจริต ไม่สำคัญ เมื่อระบบตลาดมันเปิดให้ฟาดฟันกันได้อย่างเสรี มีเพียงผลการแข่งขันเป็นเครื่องตัดสินชัยชนะ กลยุทธ์ และวิธีการที่ได้มาแห่งชัยชนะจึงถูกมองข้ามไป... ใครจะว่ายังไงอั๊วไม่สน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.