ผ่าทางตันรวมทศท.กสท


ผู้จัดการรายวัน(13 มีนาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ผ่าทางตันรวมทศท.กับกสท.หลังแนวคิด “ไกรสร พรสุธี” ที่ยุบทศท.รวมกสท. ถูกต่อต้านหนักจากสหภาพฯ เพราะหมกเม็ดประเด็นการแปรสัญญาและค่าเชื่อมวงจรเอื้อประโยชน์เอกชน และไม่แยแสปัญหาแรงงาน คณะกรรมการชุด “ศรีสุข จันทรางศุ” ปลัดกระทวงคมนาคมปัดฝุ่นแนวทางจัดตั้งบริษัทรวมทุน แล้วเปลี่ยนสภาพทศท.และกสท.เป็นบริษัทลูก เตรียมเสนอที่ประชุมกนร.

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่าแนวคิดของคณะกรรมการนโยบายศึกษาการรวมกิจการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย(ทศท.) กับการสื่อสารแห่งประเทศไทย(กสท.) ที่มีนายศรีสุข จันทรางศุ ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ที่ได้รับความเห็นชอบจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมาภายหลังการประชุมร่วมกันระหว่างนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รมว.คมนาคมคาดว่าจะใช้วิธีการจัดตั้งบริษัทรวมทุนในรูป Telecom Holdingหรือบริษัทแม่ขึ้นมาก่อนเพื่อถือหุ้นในทศท.และกสท. หลังจากนั้นจึงนำหุ้นในบริษัทรวมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในขณะเดียวกันทศท.และกสท.ก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนองค์กรทั้ง 2 เข้าด้วยกัน

คณะทำงานดังกล่าวมีกรรมการประกอบด้วยประธานบอร์ดของทั้ง 2 หน่วยงาน ผู้อำนวยการทศท. ผู้ว่าการกสท.ตัวแทนกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม ที่ได้รับนโยบายให้ศึกษาเป็นเวลา 30 วัน

แนวทางการรวมทั้ง 2 หน่วยงานดังกล่าวจะทำให้บริษัททศท.และบริษัทกสท.จะมีสภาพเป็นหน่วยธุรกิจหรือ Business Unit ในบริษัทรวมทุนและมี Executive Committee ประกอบด้วยผู้แทนจากทั้ง 2 บริษัท และอยู่ภายใต้การกำกับนโยบายจากบอร์ดบริษัทรวมทุน

“แนวทางนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดี่ที่สุดโดยแยกไปรษณีย์ออกไป เนื่องจากแนวทางที่คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งตามพรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจมีปัญหามากและยากที่จะปฏิบัติได้”

แนวทางที่คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัททศท.และกสท.ตามพรบ. ทุนรัฐวิสาหกิจได้โครงสร้างใหม่ประกอบด้วย 1.บริษัทที่รวมกันระหว่างทศท.และกสท.2.บริษัทบริหารสัญญาร่วมการงานซึ่งจะดูแลสัญญาสัมปทานของทศท.และกสท.3.บริษัท ไปรษณีย์ไทย โดยทั้ง 3 บริษัท จะอยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง

นอกจากนั้นคณะทำงานศึกษากรณีการรวมกิจการทศท.และกสท.(ด้านโทรคมนาคม) ที่ได้รับมอบหมายจากรมว.คมนาคม ให้ศึกษาการรวมกิจการที่มีนายไกรสร พรสุธี รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ก็มีแนวคิดที่จะยุบรวมทศท.กับกสท.เข้าด้วยกัน และให้มีหน่วยงานภายใต้กระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการแปรสัญญาสัมปทาน

แหล่งข่าวกล่าวว่าแนวทางการรวมทศท.เข้ากับกสท.ตามผลศึกษาของคณะทำงานชุดนายไกรสร เป็นเรื่องยากที่จะปฏิบัติเนื่องจากได้รับการต่อต้านจากพนักงานเพราะเป็นการเอื้อประโยชน์กับเอกชนในหลายประเด็นเช่น 1.หากรวม 2 หน่วยงานเข้าด้วยกันปัญหาค่าเชื่อมวงจรหรือแอ็คเซ็สชาร์จที่ดีแทค และทีเอออเรนจ์ต้องจ่ายให้ทศท.เลขหมายละ 200 บาทต่อเดือนก็จะหายไปทันที เพราะเอกชนจะถือว่าเมื่อรวมกิจการแล้วจะกลายเป็นบริษัทเดียวกัน ในส่วนนี้ทศท.จะเสียหายไม่ต่ำกว่าปีละ 6,000 ล้านบาท

2.ในเรื่องการแปรสัญญาสัมปทาน หากยุบรวมทศท.และกสท.เข้าด้วยกัน รวมทั้งยกโอนไปให้บริษัทที่จะตั้งขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะตามแนวทางสมุดปกขาวของสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ที่มีนายไกรสร พรสุธี รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นนายกสมาคมฯ และมีสมาชิกประกอบด้วยบริษัทเอกชนที่ล้วนแล้วแต่มีส่วนได้เสียกับสัญญาสัมปทานทั้งสิ้น

อาจมีปัญหาในแง่กฏหมาย เพราะเอกชนคู่สัญญา ถือว่าคู่สัญญาเดิมคือทศท.และกสท.เปลี่ยนสภาพไปแล้ว ไม่อยู่ในการคุ้มครองของกม.สามารถเบี้ยวค่าตอบแทนหรือถือว่าสัญญาสัมปทานดังกล่าวสิ้นสุดลงทันที โดยที่เอกชนไม่ต้องจ่ายผลตอบแทนสักบาท ซึ่งประเด็นนี้ร้ายแรงกว่าการแปรสัญญาตามกรอบศึกษาของสถาบันทรัพย์สินจุฬาฯที่ทำให้รัฐเสียหายกว่า 2 แสนล้านบาทเสียอีก

3.พนักงานกว่า 2 หมื่นคนของทศท.ไม่เห็นด้วยกับการยุบรวมทศท.กสท. เข้าด้วยกันโดยที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (สรท.) ได้ทำหนังสือถึงรมว.คมนาคมเมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา ชี้แจงในประเด็นที่คณะทำงานของนายไกรสร ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องปัญหาแรงงาน โดยไม่ได้บันทึกประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นที่นายมิตร เจริญวัลย์ ประธานสหภาพฯได้นำเสนอไว้คือ 1.หากมีการรวม 2 องค์กร ต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับสถานภาพของสหภาพฯที่ต้องต่อเนื่องไปยังองค์กรใหม่โดยมิต้องมีการจัดตั้งใหม่ และ2.หากมีการรวม 2 องค์กร ต้องมีความชัดเจนในการทีส่วนร่วมของพนักงานในการขับเคลื่อนองค์กรที่มีสิทธิ์ถือหุ้นในบริษัทได้คนละ 8 เดือน แต่ไม่เกิน 6.5% ของทุนจดทะเบียน ตามที่ได้มีการตกลงกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

“รายงานของคณะทำงานจึงเป็นรายงานที่ไม่สมบูรณ์ และมีข้อมูลไม่ครบถ้วนขาดประเด็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อสถานภาพสหภาพฯและต่อพนักงาน จึงไม่เหมาะ สมที่จะเป็นรายงานเพื่อพิจารณาของผู้บริหารประเทศในการตัดสินใจ การนำเสนอผลการพิจารณาของคณะทำงานต้องมีข้อมูลครบถ้วนตรงไปตรงมา โดยไม่มีการปิดบังซ่อนเร้นเพื่อให้ระดับนโยบายได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนประกอบการพิจารณา”

ในหนังสือดังกล่าวยังระบุว่าความไม่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างกระทันหันซึ่งที่ผ่านมาทศท.ใช้เวลานานเกือบ 5 ปีในการทำความเข้าใจกับพนักงานเกี่ยวกับทิศทางการแปรรูปในนามของสหภาพฯเกรงว่าพนักงานกว่า 2 หมื่นคนของทศท.จะเกิดความไม่มั่นใจในนโยบายดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลไปถึงการต่อต้านการแปรรูปทศท.

แนวคิดของสหภาพฯเห็นว่าทศท.มีประวัติยาวนานเกือบ 50 ปีในขณะที่กสท.เพิ่งก่อตั้งในปี2519 หรือมีอายุเพียง 26 ปี การไต่เต้าในตำแหน่งบริหารต่างๆไม่ว่าจะเป็นระดับกอง ฝ่ายหรือเขต แม้กระทั่งผู้ช่วย รองผู้อำนวยการ เส้นทางของทศท.ยาวไกลกว่ากสท.มากนักในระดับเท่าเทียมกัน ที่สำคัญทศท.มีสินทรัพย์รายได้สูงกว่ากสท. 3-4 เท่า

หากต้องยุบรวมจริงๆ ควรเอากสท.มายุบเป็นส่วนหนึ่งของทศท.มากกว่าแต่ที่สำคัญกว่านั้น วัฒนธรรมองค์กรทั้ง 2 ต่างกันอย่างสิ้นเชิงสามารถสะท้อนออกมาในแนวทางการทำธุรกิจที่เห็นได้ชัดเจน อย่างทศท.พร้อมที่จะแข่งขันกับเอกชนไม่ว่าโทรศัพท์พื้นฐานหรือโทรศัพท์มือถือ แต่กสท.ถนัดประเภทผูกขาดโทรศัพท์ระหว่างประเทศแต่เพียงผู้เดียว หรือชอบที่จะยกสิทธิในการให้บริการต่างๆให้เอกชนอย่างโครงการซีดีเอ็มเอ เรื่องนี้นายไกรสร ในฐานะประธานบอร์ดกสท.รู้ดีที่สุด

“หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจน ก็เหมือนพรรคไทยรักไทยกับความหวังใหม่ ตอนยุบพรรครวมกันก็ต้องยุบความหวังใหม่มาอยู่ไทยรักไทย ยุบพรรคเล็กมาอยู่กับพรรคใหญ่ เหมือนหากต้องรวมทศท.กับกสท. ก็ต้องเอากสท.มารวมกับทศท.มากกว่า” นายมิตร เจริญวัลย์ ประธานสหภาพฯกล่าว

สหภาพฯยังเรียกร้องให้ใช้แนวทางการแปรรูปเดิม คือให้ทศท.จดทะเบียนตั้งบริษัทก่อนแล้วจึงรวมทศท. กับกสท.(ด้านโทรคมนาคม)เข้าด้วยกัน ภายหลังจากที่กสท.แยกโทรคมนาคมกับไปรษณีย์ออกจากกันอย่างชดัเจนและจัดสรรหุ้นในส่วนพนักงานให้เสร็จสิ้น

แนวทางของสหภาพฯดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดของคณะกรรมการของนาย ศรีสุขที่ตั้งขึ้นใหม่ เพราะมองว่าการตั้งบริษัทรวมทุนสามารถแก้ปัญหาเรื่องหุ้นของพนักงานและการแปรสัญญาสัมปทาน เพราะทศท.และกสท.ก็ยังคงอยู่เพียงแต่เปลี่ยนเป็นบริษัทจำกัดเท่านั้น หลังจากนั้นจึงหาแนวทางแปรสัญญาต่อไป

ความไม่ชัดเจนในเรื่องการแปรรูป กำลังก่อให้เกิดความสับสนในทศท.อย่างหนัก แหล่งข่าวกล่าวว่าในช่วงเช้าวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมานายสุธรรม มลิลา ผู้อำนวยการทศท. นายศุภชัย พิศิษฐวานิช ประธานบอร์ดทศท.รองผู้อำนวยการและผู้ช่วยผู้อำนวยการ รวมทั้งโทรศัพท์จังหวัดทั่วประเทศ ได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องการแปรรูปทศท.

ซึ่งในที่ประชุมมีการแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรง เป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจ การบริหารงานของนายสุธรรมและนายศุภชัย ของผู้บริหารระดับสูงทศท.ครั้งแรก เพราะนายสุธรรมจะนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการอีกไม่กี่เดือนในขณะที่นาย

ศุภชัย ในฐานะประธานบอร์ดก็เป็นตำแหน่งทางการเมืองที่อาจถูกปรับเปลี่ยนได้ทุกเมื่อ แต่ปรากฏว่านายสุธรรม ได้ยอมตกลงรวมกับกสท.โดยไม่เคยรับฟังความเห็นของผู้บริหารระดับรองผู้อำนวยการและผู้ช่วยผู้อำนวยการเลย เป็นการดำเนินการโดยพลการเอาอนาคตทศท.เป็นเดิมพัน ทั้งๆที่เป็นเรื่องใหญ่ ควรให้ผู้บริหารที่จะอยู่กับทศท.อีกหลายปีมีโอกาสในการร่วมตัดสินใจบ้าง

นอกจากนี้นายสุธรรมและนายศุภชัยยังเห็นชองบให้หยุดเรื่องกระบวนการเปลี่ยนสภาพองค์กรหรือ Tranformation ออกไปอีก 30 วันเพื่อรอความพร้อมของกสท.ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้บริหารระดับรองไม่เห็นด้วยเป็นอย่างมาก

“เป็นครั้งแรกที่รองผู้อำนวยการและผู้ช่วย กล้าแสดงความเห็นขัดแย้งกับผู้อำนวยการ เพราะที่ผ่านมาทศท.อยู่ในลักษณะน้องๆเกรงใจพี่ แต่คราวนี้เป็นเรื่องใหญ่เกี่ยวกับอนาคตของทศท.ว่าจะอยู่หรือจะไป”

นอกจากนี้คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งตามพรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ยังแต่งตั้งนายไกรสรเป็นประธานคณะทำงานศึกษาผลดีผลเสียของโครงสร้างการรวมกิจการใหม่ และตั้งคณะทำงานศึกษาผลดีผลเสียในการรวมกิจการเพื่อศึกษาปัยหาต่างๆอย่างรอบคอบ และแต่งตั้งนายสมหมาย ภาษี รองปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานคณะทำงาน เพื่อหาคำตอบที่ชัดเจนว่าบริษัทบริหารสัญญาร่วมการงานจะเป็นไปได้เพียงใด และจะผิดกม.หรือไม่ โดยให้ระยะเวลาศึกษาภายในวันที่ 4 เม.ย.

แหล่งข่าวกล่าวว่าแนวทางการรวม 2 องค์กรด้านนายไกรสรที่ต้องการให้ยุบรวมเข้าด้วยกัน และแนวทางของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นใหม่ชุดนายศรีสุข คงเข้าไปพิจารณาร่วมกันในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ที่มีนายปองพลเป็นประธานก่อนเสนอให้ครม.เห็นชอบต่อไป

นายศรีสุข จันทรางศุ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการรวมกิจการระหว่าง องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย(ทศท.)และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงสร้างใหม่กิจการโทรคมนาคม โดยใช้ชื่อว่า บริษัทไทยเทเลคอม จำกัด ซึ่งประกอบไปด้วย หน่วยงานธุรกิจ หรือบียู (BU: Business Units) ดังนี้ คือ1. ทศท. และ 2. กสท. และมีความเป็นไปได้ว่าที่จะเพิ่ม ธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 1900MHz. เป็นอีกหน่วยงานใหม่ โดยมีคณะกรรมการ(บอร์ด) และ คณะกรรมการบริหาร(Executive Committee) ดำเนินการบริหาร และบริษัทไทยเทเลคอม จำกัด จะเป็นบริษัทด้านกิจการสื่อสารโทรคมนาคม ครบวงจรที่พร้อมเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายในปี 2545

โดยบริษัทดังกล่าวจะต้องมีประธานบริหาร(President)เพียงเดียว ส่วนของหน่วยธุรกิจทั้ง 2 หน่วยงาน คือทศท. และกสท.จะอยู่ภายใต้การดูแลของกรรมการผู้จัดการชองแต่ละหน่วยงาน อย่างไรก็ดีขณะนี้จะต้องดำเนินการในเรื่องของสิทธิประโยชน์ของพนักงานทั้ง 2 องค์กร ให้แล้วเสร็จ อาทิ สวัสดิการเงินเดือนของพนักงานจำนวน 6 เท่า เงินเดือนจำนวน 2 เท่าของพนักงานในการซื้อหุ้นในราคาพาร์ และเงินโบนัสพิเศษจำนวน 2 เท่าแก่พนักงาน และนำทรัยพ์สินที่มีอยู่ทั้ง 2 องค์กรมาประเมินเป็นมูลค่าหุ้นต่อไป โดยจะนำสินทรัพย์ต่างๆ ของทั้ง 2องค์กร รวมไว้ในบริษัทไทยเทเลคอม จำกัด

ส่วนเรื่องสัญญาสัมปทานกิจการโทรคมนาคมที่มีอยู่จะมอบอำนาจการบริหารเป็นไปตามสิทธิเดิมของคู่สัญญาฯระหว่างรัฐและเอกชน คือ ทศท. และกสท. โดยเรื่องการแแปรสัญญากิจการโทรคมนาคมจะเป็นคนละส่วนกับการดำเนินการรวมกิจการทศท. และ กสท.



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.