|
เกษมราษฎร์เด่นที่เครือข่าย
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
ถึงแม้ว่าในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลอยู่เป็นจำนวนมากแต่การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของบางกอกเชน ฮอสปิทอล (KH) ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของนักลงทุนที่มองเห็นอนาคตของหุ้นกลุ่มนี้
KH แตกต่างจากโรงพยาบาลเอกชนรายอื่นๆ ตรงความหลากหลายที่มีอยู่ ทั้งในเรื่องของแหล่งรายได้ สาขาที่ตั้ง และกลุ่มลูกค้า เป็นความหลากหลายที่เกิดขึ้นจากการวางกลยุทธ์มาเป็นอย่างดี
KH ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน เมื่อนายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ผู้มีศักดิ์เป็นอาของ อนันต์ อัศวโภคิน ประธานและกรรมการผู้จัดการบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ซึ่งกำลังประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก
เป็นการเข้าไปดำเนินกิจการต่อจากเจ้าของเดิม และได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางแค คล้ายๆ กับเป็นการเตรียมการว่าจะมีโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ในที่อื่นๆ ตามมา
กลยุทธ์การเข้าซื้อหุ้นในโรงพยาบาล อื่นยังคงถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง เมื่อนายแพทย์เฉลิมได้เข้าซื้อหุ้นในบริษัทสระบุรี เวชกิจ และบริษัทโรงพยาบาลรัตนาธิเบศร์ ควบคู่ไปกับการสร้างโรงพยาบาลขึ้นมาใหม่ ที่ประชาชื่นและสุขาภิบาล 3 จนทำให้ปัจจุบัน KH มีโรงพยาบาลในกลุ่มทั้งหมด 6 โรง แบ่งเป็น 3 โรง ในกรุงเทพฯ และอีก 3 โรง ในต่างจังหวัด
ซึ่งการมีโรงพยาบาลหลายๆ โรงอยู่ในกลุ่ม นำมาซึ่งข้อได้เปรียบในด้านการบริหาร
ประการแรก ทำให้เกิดเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุม สามารถส่งต่อคนไข้ไปให้โรงพยาบาลในเครือที่มีความพร้อมมากกว่า ซึ่งในที่สุดเมื่อมองภาพรวมของทั้งกลุ่ม จะทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีกว่า เกิดประสิทธิภาพมากกว่า
ประการต่อมา เป็นประโยชน์ที่เกิดจาก economy of scale จากจำนวนคนไข้ที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองในเรื่องการจัดซื้อ จัดจ้าง "เราสามารถประหยัดเงินได้ประมาณ 10% จากการจัดซื้อจากส่วนกลาง" นายแพทย์เฉลิมบอก
โครงสร้างรายได้ของ KH ยังถือเป็นจุดแข็ง เมื่อถือว่าเป็นกลุ่มโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มลูกค้าเงินสดและลูกค้าเหมาจ่ายโครงการรัฐ ในอัตราที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด ประมาณ 60 : 40
นับเป็นโรงพยาบาลที่รองรับลูกค้าเหมาจ่ายสูงสุดในประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลพันธมิตรและคลินิกกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ
"ใครบอกว่ารับลูกค้าเหมาจ่ายจากภาครัฐไม่มีกำไร" นายแพทย์เฉลิมบอก พร้อมเสริมว่าเงินค่ารักษาภาครัฐก็สำรองให้ก่อนที่ลูกค้าจะเข้ามาทำการรักษา
ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพิงรายได้จากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง ซึ่งข้อดีนี้มักจะไม่เด่นชัดเมื่อเศรษฐกิจยังดูสดใส แต่เมื่อใดที่เศรษฐกิจมีปัญหา KH ก็ จะสามารถลดอาการบาดเจ็บจากการลดลง ของรายได้ได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลเอกชนรายอื่นๆ
ทั้งนี้ KH ต้องยอมรับผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการปะปนของกลุ่มลูกค้า อาจทำให้การ position ตัวเองเป็นไปอย่างยากลำบากมากยิ่งขึ้น ซึ่งต่างจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ หรือสมิติเวช ที่ position ตัวเองเพื่อลูกค้าระดับบนได้ชัดเจนกว่า
แต่ทิศทางการพัฒนาโรงพยาบาลในอนาคตอันใกล้ ก็คงจะไปในทิศทางเดียวกับที่ KH ดำเนินอยู่ เพื่อตอบรับกับการเปิดเสรีธุรกิจโรงพยาบาล ที่จะมาพร้อมกับผู้เล่นชาวต่างชาติที่มีเครือข่ายและการจัดการที่ดีกว่า
ปัจจุบัน KH กำลังศึกษาโครงการก่อสร้าง International Medical Excellence Center ในกรุงเทพฯ เพื่อรองรับลูกค้าระดับบนและลูกค้าต่างประเทศ ซึ่งได้เริ่มทำตลาดต่างประเทศไปบ้างแล้ว และคาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงไตรมาสแรกของปี 2548
ถึงแม้ว่าราคาของ KH ยังไม่สามารถมาปิดเหนือราคาจองได้หลังจากทำการซื้อขายมาเป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ แต่หากมองในด้านปัจจัยพื้นฐาน PER ยังอยู่ในระดับต่ำอยู่ที่ประมาณ 11 เท่า เมื่อเทียบกับของอุตสาหกรรมที่ประมาณ 22 กอปรกับแนวโน้มที่คนจะเริ่มหันมาใช้จ่ายในเรื่องสุขภาพมากยิ่งขึ้นตามทิศทางการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เชื่อว่าธุรกิจของ KH ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|