อินเทอร์เน็ตไทยแลนด์ รีแบรนดิ้งเป็น "INET"

โดย ศศิธร นามงาม
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

นอกเหนือจากจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อเล่น "INET" ในการทำตลาด พร้อมกับโลโกใหม่สีเขียวสดใส วิธีการทำธุรกิจก็เปลี่ยนไปด้วย

ว่ากันว่าการตัดสินใจรีแบรนดิ้งบริษัทครั้งหนึ่งนั้น ไม่เพียงแต่จะต้องใช้เงินมหาศาลไปกับการเปลี่ยนความเป็นองค์กรเดิมทั้งหมดมาเป็นองค์กรใหม่เท่านั้น แต่ยังต้องใช้เวลาหลายปีในการศึกษาจนมาถึงระยะปรับเปลี่ยนทุกอย่าง แม้แต่วิธีการทำงาน การทำตลาดก็อาจจะต้องถูกขยับขยายให้ไปในทิศทางเดียวกันด้วย

วันนี้ อินเทอร์เน็ต ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือชื่อใหม่ "INET" ได้พิสูจน์คำบอกเล่าดังกล่าวให้เป็นจริงแล้ว เพราะนอกจากอินเทอร์เน็ต ประเทศไทยจะใช้เวลาในการปรับทุกอย่างจนพร้อมประกาศตัวเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นานกว่า 3 ปี แล้วยังต้องลงทุนด้วยงบประมาณมหาศาลอย่างที่ไม่เคยใช้มาก่อนในประวัติศาสตร์ของบริษัท โดยใช้ไปกับการ เปลี่ยนตั้งแต่โลโกสีเขียวโค้งๆ แบบใหม่ที่ แสดงให้เน้นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องของบริษัท, หัวจดหมาย, ซองจดหมาย, แฟ้ม, โปรโมชั่น สินค้า, แพ็กเกจจิ้งสินค้า รวมถึงทัศนคติการทำงานของพนักงานในบริษัท

ที่สำคัญที่สุดก็เห็นจะเป็นการปรับ ภาพลักษณ์ขององค์กรครั้งใหญ่ให้มากกว่าการเป็นเพียงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือ ISP อย่างที่ใครหลายคนคิด โดยนับจากนี้หลายคนจะเห็นภาพ INET ในคราบของการ เป็น IT Service มากขึ้น ยิ่งกว่านั้น INET ยังได้จัดหมวดหมู่ในการทำธุรกิจของตนเสียใหม่ ขณะที่สินค้าบางตัวล้มหายตายจากไป เนื่องจากผลตอบรับที่ไม่ดีก่อนหน้านี้ แต่ก็มีสินค้าใหม่เกิดขึ้นมาแทนที่ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เรียกว่า Business Solution

ตฤณ ตัณฑเศรษฐี กรรมการผู้จัด การบริษัทอินเทอร์เน็ต ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวไว้ว่า เนื่องจากมุมมองทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เปลี่ยนไป ทำให้ อินเทอร์เน็ตประเทศไทยต้องค้นหากลยุทธ์ใหม่เพื่อตอบรับกระแสดังกล่าว โดยวิธีการหนึ่งก็คือการเปิดองค์กรมากขึ้น ทำให้คนรู้จักบริษัทมากขึ้น ดังนั้นการรีแบรนดิ้งจึงเป็นหนึ่งทางเลือกที่ดีไม่น้อย ขณะเดียวกันนับจากนี้อินเทอร์เน็ตประเทศไทยจะรุกทำตลาดในกลุ่ม Business Solution มากขึ้น ให้ ตรงกับ mission ของบริษัทซึ่งมีมาตั้งแต่เมื่อ ครั้งบริษัทเกิดขึ้นมาในปี 2538 นั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงความรู้ให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การทำตลาดในกลุ่มคอนซูเมอร์หรือให้บริการอินเทอร์เน็ตก็ยังมีอยู่ โดยที่รูปแบบช่องทางในการกระจายสินค้าจะทันสมัยมากขึ้น จากเดิมแค่จำกัดในร้านค้าไอทีจะถูกปรับให้กระจายตามร้านสะดวกซื้อ อาทิ ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น และผ่านทางช่องทางการตลาดใหม่ๆ ที่บริษัทไม่เคยทำมาก่อน แต่สิ่งหนึ่งที่อินเทอร์ เน็ตยังคงเดิมอยู่ในการทำตลาดในกลุ่มนี้ก็คือ การไม่ลดราคาหรือเอาประเด็นด้าน Pricing มาใช้กับการทำตลาดบรอดแบนด์ โดยตฤณ ได้ให้เหตุผลสั้นๆ เพียงว่าน่าจะยังไม่ถึงเวลาในการทำตลาดบรอดแบนด์ เนื่องจากเทคโนโลยียังไม่พร้อมสำหรับประเทศไทย

การปรับทัพครั้งสำคัญของ INET ไม่เพียงแต่จะช่วยลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ ของบริษัทแบบที่ไม่ต้องพึ่งพากลุ่มสินค้าใด เป็นหลักเท่านั้น แต่ยังสร้างความเข้มแข็งให้ กับบริษัทในทิศทางการให้บริการกับกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ที่ทำมาตั้งแต่แรกอยู่ แล้วหลังพบว่าอัตราการเติบโตในกลุ่มธุรกิจ นี้น่าจะโตขึ้นเป็น 45% จากเดิมที่มีส่วนแบ่งรายได้ทั้งหมดของบริษัทเพียง 15% ในอีก 3 ปีข้างหน้า ขณะที่สินค้าในกลุ่มคอนซูเมอร์ อย่างการให้บริการอินเทอร์เน็ตจะลดลงเหลือ 55% จากเดิมที่โตถึง 85% ในปัจจุบัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.