บทบาทใหม่ของ EXIM


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) เมื่อได้มีการลงนามในข้อตกลงกับ KfW IPEX Bank (KfW International Project and Export Finance Bank : ธนาคารสินเชื่อเพื่อการส่งออกจากเยอรมนี) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล โดยมีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธานในพิธี

ถึงแม้ว่า KfW จะเข้ามามีตัวตนในไทยตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน แต่การลงนามในครั้งนี้ถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ครั้งสำคัญ ของทั้ง 2 ฝ่าย

แต่สำหรับ EXIM แล้ว การลงนามครั้งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จากเดิมที่เน้นเฉพาะการให้บริการด้าน สินเชื่อ มาเพิ่มบทบาทในฐานะตัวกลางที่มีส่วนผลักดันให้มีการส่งออกมากยิ่งขึ้น ผ่านกระบวนการให้ความรู้แก่นักลงทุน

KfW IPEX Bank เคยเป็นเพียงแผนกหนึ่งของ KfW (Kreditanstalt fuer Wiederauflau : สถาบันเครดิตเพื่อการบูรณะและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี) แต่เพิ่งแยกตัวออกมาเป็นธนาคาร ภายใต้การดูแลของ KfW เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายที่จะขยายการดำเนินธุรกิจไปยังต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นธนาคารอิสระอย่าง เต็มตัว ภายในปี 2551

ภายใต้ข้อตกลงที่ได้มีการลงนามกันในวันนั้น นอกจาก EXIM จะได้รับความร่วมมือในเรื่องการเงินจาก KfW IPEX แล้ว นับจากนี้ไปสถาบันการเงินทั้ง 2 จะทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญระหว่างกัน โดยหวัง ว่าด้วยข้อมูลและการถ่ายทอดความเชี่ยวชาญจากผู้มีประสบการณ์ อย่าง KfW IPEX นั้น ไทยจะสามารถเพิ่มบทบาทในตลาดการค้าระหว่างประเทศมากกว่าที่เป็นอยู่

ทั้งการเพิ่มมูลค่าการส่งออก และรวมไปถึงการสร้างฐานการผลิตในต่างประเทศ

นอกเหนือจากข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับประเทศเยอรมนีที่ EXIM จะได้รับแล้ว ขอบเขตยังครอบคลุมถึงประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป ซึ่งไทยเห็นว่าประเทศเหล่านั้นยังมีศักยภาพอีกมาก ในขณะที่ KfW IPEX จะได้ประโยชน์จากการที่ไทยเป็นศูนย์กลาง การพัฒนาในภูมิภาคฯ

ถือเป็นการขยายฐานลูกค้าของ KfW IPEX ไปพร้อมๆกับการพัฒนาภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นหน้าที่เช่นเดียวกับสำนักงานภูมิภาคของ KfW IPEX ที่ประเทศตุรกี จีน อังกฤษ และบราซิล

ในระยะแรกเริ่ม EXIM จะได้รับเงินกู้จำนวน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจของ EXIM เอง ซึ่งไม่ได้เป็นจำนวนที่มากมายนัก ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือ และความช่วยเหลือด้านวิชาการ

"ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง 3 หน่วยงาน อันได้แก่ SME Bank, BOI และ EXIM Bank แต่การเพิ่มบทบาทของ EXIM Bank ในครั้งนี้ จะมีส่วนทำให้การส่งออกสินค้าไทยแข็งแกร่งยิ่งขึ้น" สมคิดบอก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.