|

เปิดฉาก "แอทธินี เรซิเด้นท์"
โดย
อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
ที.ซี.ซี.แคปปิตอลแลนด์ เปิดตัวโครงการ "แอทธินี เรซิเด้นท์" พร้อมวางแผนเปิด 5 โครงการใหญ่จับลูกค้าระดับสูง ในปี 2548 ที.ซี.ซี.แลนด์ของเจริญ สิริวัฒนภักดี กับบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ แคปปิตอลแลนด์จากประเทศสิงคโปร์ ได้แถลงข่าวการร่วมทุนครั้งแรกไปเมื่อเดือนกันยายน 2546 ด้วยทุนจดทะเบียนครั้งแรก 2,000 ล้านบาท ที.ซี.ซี.แลนด์ ถือหุ้น 60 เปอร์เซ็นต์ และแคปปิตอลแลนด์ถือหุ้น 40 เปอร์เซ็นต์
การทำธุรกิจของ ที.ซี.ซี.แลนด์ มีทิศทางชัดเจน คือเข้าไปซื้อหรือเทกโอเวอร์โครงการมาดำเนินกิจการต่อ เช่น โรงแรมทั้งในประเทศ และต่างประเทศ สนามกอล์ฟ ศูนย์การค้า รวมทั้งที่ดินเปล่าบางแปลง ส่วนการนำที่ดินเก่ามาพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจะเป็นบทบาทของ ที.ซี.ซี. แคปปิตอลแลนด์
เงียบหายไปเตรียมการ ทั้งเรื่องระบบ บุคลากร และมืออาชีพที่ดึงเข้ามาร่วมทีมนานกว่า 1 ปี ในที่สุดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2547 ที่ผ่านมา การเปิดตัวโครงการแรก "แอทธินี เรซิเด้นท์" อย่างเป็นทางการก็เกิดขึ้น ในพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ หลังโรงแรมพลาซ่า แอทธินี เป็นคอนโดสูง 40 ชั้น จำนวน 219 ยูนิต พื้นที่ขายทั้งหมด 40,200 ตารางเมตร ราคาขายโดยเฉลี่ยประมาณ 1 แสนบาทต่อตารางเมตร ขนาดเล็กสุด 2 ห้องนอน 94 ตร.ม. ส่วนใหญ่จะมีขนาด 3 ห้องนอน 200 กว่าตร.ม. มูลค่าโครงการประมาณ 4,000 ล้านบาท
จุดขายของโครงการนี้นอกจากทำเลดีใจกลางเมืองแล้ว สิ่งที่ผู้บริหารกล่าวย้ำตลอดเวลาก็คือ เป็นโครงการที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูง เพราะต้องการให้จุดนี้คือตัวเบิกทาง สร้างความเชื่อมั่นในการก้าวไปทำโครงการต่อไปในอนาคต ซึ่งกำหนด positioning ของบริษัทไว้ชัดเจน โดยโฟกัสเฉพาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายระดับบน ในราคาขายเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาทต่อตารางเมตร
และนี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไม ที.ซี.ซี.แลนด์ จึงเลือกแคปปิตอลแลนด์เข้ามาเป็นพันธมิตร เพราะนอกจากเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาที่ดินมาแล้วทั่วโลก ผู้ถือหุ้นใหญ่ของแคปปิตอลแลนด์ยังเป็นรัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งมีความน่าเชื่อถือในการบริหารงานที่มีระบบและความโปร่งใส
ที่สำคัญหากจะก้าวเป็นยักษ์ใหญ่ทางด้านการพัฒนาที่ดินในเร็ววัน ไม่ใช่ค่อยเป็นค่อยไปอย่างที่ผ่านมา ที.ซี.ซี.แลนด์ จำเป็นต้องใช้วิธีเรียนลัด
"ระบบของแคปปิตอลแลนด์มีมานานมาก เราได้เอามาใช้เลย เป็นวิธีการเรียนลัดที่ได้เปรียบ ไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมโครงการ ระบบการบริหารการก่อสร้าง ซึ่งจะช่วยได้อย่างมาก ในเรื่องการบริหารต้นทุน การควบคุมการทำงานด้วยระบบไอที ทุกอย่างเขามีไว้หมด เราเพียงดาวน์โหลดเอามาต่อยอดใช้ได้ รวมไปถึงการทำการตลาด ประสบการณ์ และจุดบกพร่องต่างๆ ของการขายโครงการในต่างประเทศ คือสิ่งที่เอามาปิดช่องว่าง ในโครงการของเรา นอกเหนือจากการควบคุมคุณภาพโครงการที่เคยเป็นจุดแข็งของบริษัทนี้ตลอดมา"
คอนเนกชั่นในการทำธุรกิจ ความแข็งแกร่งของพาร์ตเนอร์ในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะที่สิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง คือข้อได้เปรียบสำคัญในเรื่องการขาย รวมทั้งการทำตลาดกับชาวต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทย และชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในสถานทูตต่างๆ ย่านถนนวิทยุ เพลินจิต
วัลลภา ไตรโสรัส อธิบายเพิ่มเติมและกล่าวต่อว่า
"แคปปิตอลแลนด์อาจจะมือใหม่ในเมืองไทยที่มีค่ายใหญ่อื่นๆ อย่างแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือกลุ่มอื่นๆ เป็นเจ้าตลาดอยู่แล้ว แต่เราต้องสร้างบทบาทตรงนี้ขึ้นมาให้ได้ โดยใช้คุณภาพของโปรดักส์เป็นตัวบุก และคาดว่าจะใช้เวลา 3-5 ปี ขึ้นมาติดอันดับให้ได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพของตลาดด้วย"
สำหรับโครงการที่วางแผนไว้ในปีต่อไปคือบ้านเดี่ยวระดับพรีเมียม ย่านถนนเกษตร-นวมินทร์ บนที่ดิน 300 ไร่ ที่เคยเตรียมไว้ทำโปรเจกต์ศูนย์ประชุม ซึ่งจะนำมาทำเป็นบ้านเดี่ยวเพียง 70 ไร่ก่อน พร้อมๆ กับแผนพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมย่านถนนพหลโยธิน
สำหรับแนวทางพัฒนาที่ดินของที.ซี.ซี.แคปปิตอลแลนด์ จะเป็นคอนโดมิเนียม 60% บ้านเดี่ยว 30% และอาคารสำนักงานอีก 10%
"แอทธินี เรซิเด้นท์" จึงป็นบทพิสูจน์ฝีมือบทแรกของวัลลภาและทีมงานของ ที.ซี.ซี.แคปปิตอลแลนด์
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|