|
จีนกับการตามล่าหาน้ำมัน
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
จีนกำลังต้องการน้ำมันมากกว่าครั้งใดๆ และกำลังตามล่าหาแหล่งน้ำมันและพลังงานที่มั่นคง เพื่อรักษาความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของตนต่อไป
เมื่อเศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างร้อนแรง ความต้องการพลังงานของจีน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันก๊าซ ถ่านหิน และไฟฟ้า ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ทุกวันนี้จีนบริโภคพลังงานเป็นสัดส่วนถึง 12.1% ของการบริโภคพลังงานทั่วโลก หรือเป็นที่สองรองจากสหรัฐฯ (24%) เท่านั้น จากเดิมที่จีนเคยบริโภคพลังงานเพียง 9% เมื่อ 10 ปีก่อน
สาเหตุที่จีนมีความต้องการพลังงานสูงขึ้นอย่างพรวดพราด เป็นเพราะยุทธศาสตร์การปรับตัวสู่ความทันสมัยของจีนในทุกด้าน ล้วนตั้งอยู่บนความสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานที่หลากหลาย และยังต้องมีปริมาณมหาศาลด้วย
โดยอุตสาหกรรมพื้นฐานของจีน เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม และเคมี ต้องใช้พลังงาน จากกระแสไฟฟ้าและถ่านหิน ในขณะที่ชนชั้นกลางของจีนที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ต้องการน้ำมันเพื่อให้ความอบอุ่น และน้ำมันเบนซินสำหรับยานพาหนะ
กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ประเมินว่าภายในปี 2010 จีนจะมีรถยนต์ทุกชนิดเพิ่มขึ้นเป็น 56 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าของจำนวนในปัจจุบัน และภายในปี 2020 ความต้องการน้ำมันของจีน จะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าของปัจจุบัน เป็น 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนความต้องการก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า เป็น 3.6 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อปี และความต้องการถ่านหินจะพุ่งขึ้น 76% เป็น 2.4 พันล้านตันต่อปี
กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ ยังทำนายต่อไปว่า ภายในปี 2025 จีนอาจต้องนำเข้าน้ำมันถึง 75% ของน้ำมันทั้งหมดที่จีนใช้และจะบริโภคน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนถึง 10.6% ของน้ำมันทั้งหมดที่โลกผลิตได้
ความต้องการน้ำมันและพลังงานที่สูงลิ่วของจีน จะมีอิทธิพลต่อราคาน้ำมันและการลงทุนในด้านพลังงานทั่วโลก นอกจากนี้ยังจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการที่จีนเป็น ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาล โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ความต้องการน้ำมันของจีนจะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะผลักดันราคาน้ำมันโลกให้พุ่งสูงขึ้นในช่วงหลายปีต่อจากนี้
สำหรับประเทศที่คำนึงถึงเสถียรภาพและความมั่นคงมาก่อนสิ่งอื่นใดอย่างจีน ย่อมเห็นว่าการต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ โดยไม่อาจพึ่งตนเองได้ในด้านน้ำมันและพลังงานนั้น เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าจีนคงจะหลีกเลี่ยงชะตากรรมแบบเดียวกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลกไปไม่พ้น โดยทุกวันนี้สหรัฐฯ ต้องพึ่งพิงน้ำมันจากชาติส่งออกน้ำมันอย่างซาอุดีอาระเบีย ไนจีเรีย และเวเนซุเอล่าด้วยความไม่สบายใจ
จีนเองเคยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิ แต่ทุกวันนี้กลับกลายเป็นต้องนำเข้าน้ำมันถึง 40% ของน้ำมันที่ใช้ เนื่อง จากการผลิตน้ำมันในบ่อน้ำมันขนาดใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือใกล้กับเมือง Daqing และ Liaohe ได้ลดระดับลงอย่างมาก ส่วนการขุดเจาะแหล่งน้ำมันและก๊าซแหล่งใหม่ๆ ทำได้ยาก เพราะแม้จีนจะมีแหล่งสำรองน้ำมันและก๊าซจำนวนมหาศาล อยู่ใต้ทะเลทรายทางตะวันตกสุด แต่ก็อยู่ในระดับที่ลึกมาก ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่า มากในการขุดเจาะ และยังไม่นับค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียไปกับการขนส่งน้ำมันที่ขุดได้ เป็นระยะทางไกลมากจากตะวันตกสุด มายังเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกที่เจริญทางเศรษฐกิจของจีน ด้วยท่อส่งและเครือข่ายการขนส่งที่ล้าหลังของจีน น้ำมันคือคำตอบสุดท้าย
ไฟดับนับเป็นเรื่องปกติในช่วงฤดูร้อนของจีน แต่ปีนี้อาจเป็นครั้งแรกที่คนจีนจะต้องเจอไฟดับในช่วงฤดูหนาว ปัญหาเกี่ยวกับพลังงานของจีนยังมีปัญหาขยะพลังงานล้น อันเนื่องมาจากเทคนิคการทำเหมืองถ่านหินที่ล้าหลัง และกฎเกณฑ์ควบคุมการก่อสร้างอาคารที่หละหลวม ตลอดจนการมีโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพต่ำ ทำให้จีนต้องใช้พลังงานมากกว่าประเทศอื่นๆ ถึง 3 เท่า ต่อการผลิตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมูลค่า 1 ดอลลาร์
จีนตระหนักดีถึงปัญหาด้านพลังงานของตน และได้ออกนโยบายใหม่ด้านพลังงานซึ่งตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2020 จีนจะแสวงหาแหล่งพลังงานในต่างประเทศได้มากขึ้น เปลี่ยนการพึ่งพิงพลังงานจากถ่านหินเป็นหลัก มาเป็นการใช้ก๊าซธรรมชาติ สร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำ และใช้ประโยชน์จากแม่น้ำที่มีอยู่มากมายมหาศาลของตนให้มากขึ้น ยกเครื่องเครือข่ายการจ่ายกระแสไฟฟ้า และสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมให้มากขึ้น รวมทั้งเพิ่มการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างก้าวกระโดด
โดยจีนตั้งเป้าจะมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ประมาณ 40 เครื่องภายในปี 2020 จากที่มีอยู่ 9 เครื่องในปัจจุบัน และคาดว่าปีนี้จีนจะเปิดประมูลสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบ pressurized water ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ 4 เครื่อง ซึ่งมีบริษัทต่างชาติหลายรายอย่าง Westinghouse Electric ของสหรัฐฯ Areva และ Alstom ของฝรั่งเศส Mitsubishi ของญี่ปุ่น และ Atomic Energy ของแคนาดา ได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมการประมูลแข่งขัน
นอกจากนี้จีนยังได้ให้สัมปทานการสร้างโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ และการใช้พลังงานลม รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีเผาถ่านหินที่สะอาดกว่า ให้แก่บริษัทต่างชาติหลายราย อย่างเช่น GE Energy ซึ่งเพิ่งได้รับสัญญามูลค่า 900 ล้านดอลลาร์จากรัฐบาลจีนในการสร้างกังหัน
อย่างไรก็ตาม การแสวงหาแหล่งน้ำมันจากทั่วโลกเพื่อรับประกันความเพียงพอต่อความต้องการ ยังคงเป็นยุทธศาสตร์หลักของจีน เนื่องจากพลังงานถ่านหินก่อมลพิษมากเกินไป จึงไม่อาจเป็นแหล่งพลังงานหลักของจีนได้นานนัก ส่วนพลังงานนิวเคลียร์ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยถึงแม้จะสามารถสร้างเตาปฏิกรณ์ได้ตามเป้าที่วางไว้ ก็สามารถผลิตพลังงานได้เพียง 4% ของที่จีนต้องการเท่านั้น
ดังนั้น น้ำมันจึงยังคงเป็นคำตอบสุดท้ายของจีนอยู่ ในการที่จะช่วยรักษาการเติบโตของจีนให้คงความร้อนแรงต่อไป และจีนพร้อมที่จะชนกับคู่แข่งทุกรายที่ขวางหน้า อย่างเช่นกรณีการขัดแย้งกับญี่ปุ่น เกี่ยวกับแหล่งก๊าซธรรมชาติ Chunxiao ซึ่งจีนอ้างว่าอยู่ในน่านน้ำของจีน แต่ญี่ปุ่นก็อ้างว่า บางส่วนของแหล่งก๊าซดังกล่าวอยู่ในน่านน้ำของตน และต้องการส่วนแบ่งในก๊าซธรรมชาติ แต่จีนไม่ยินยอมและได้เข้าควบคุมแหล่งดังกล่าวทั้งหมด รวมทั้งได้เริ่มขุดเจาะและวางแผนจะวางท่อส่งเข้ามาที่แผ่นดินใหญ่แล้ว
จีนยังปะทะกับญี่ปุ่นว่าด้วยเส้นทางการวางท่อส่งน้ำมัน จากไซบีเรียของรัสเซียมายังท่าเรือนอกประเทศ โดยจีนต้องการให้รัสเซียวางท่อตรงมายังเมือง Daqing ของตน ในขณะที่ญี่ปุ่นเสนอให้รัสเซียวางท่อมูลค่า 16,000 ล้านดอลลาร์นี้ อ้อมไปยังท่าเรือ Nakhodka ริมฝั่งทะเลแปซิฟิก
จีนพยายามจูงใจรัสเซียอย่างเต็มที่ โดยในเดือนตุลาคม จีนถึงกับยอมอ่อนข้อในข้อพิพาทชายแดนกับรัสเซีย ซึ่งยืดเยื้อมายาวนาน และยังสัญญาจะลงทุนในรัสเซียอีก 12,000 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม คาดว่าญี่ปุ่นจะชนะจีนในงานนี้ เนื่องจากจีนต้องการควบคุมน้ำมันที่รัสเซียส่งผ่านท่อมาสิ้นสุดที่ Daqing ทั้งหมด ในขณะที่หากรัสเซียส่งน้ำมันไปยังท่า Nakhodka นอกจากจะสามารถขายน้ำมันให้ทั้งจีนและญี่ปุ่นแล้ว ยังจะขายให้ประเทศอื่นๆ ได้อีกด้วย
เมื่อรัสเซียไม่อาจสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้จีนได้ จีนจึงต้องมองหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอื่นๆ ต่อไป โดยจีนได้ลงนามในข้อตกลงสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกับหลายประเทศคือ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย อิหร่าน คาซัคสถาน ไนจีเรีย ปาปัวนิวกินี และซูดาน แต่ทั้งหมดนี้รวมกันก็ยังมีสัดส่วนเพียง 10% ของการนำเข้าน้ำมันของจีนเท่านั้น
ขณะเดียวกันจีนก็พยายามชักจูงบริษัทน้ำมันต่างชาติยักษ์ใหญ่ ให้เข้ามาลงทุนสำรวจแหล่งพลังงานใหม่ๆ ในจีนด้วย เพื่อดึงดูดเงินทุนจากต่างชาติ และเป็นวิธีที่จะทำให้จีนได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการสำรวจแหล่งพลังงาน โดยในปี 2000 การเสนอขายหุ้น IPO ของ PetroChina บริษัทในเครือ China National Petroleum ของทางการจีน สามารถระดมทุน ได้ถึง 3 พันล้านดอลลาร์ โดยมี BP ซื้อหุ้นไปถึง 20% (แต่เพิ่ง ขายทิ้งในปีนี้) นอกจากนี้ ExxonMobil และ Royal Dutch/Shell ก็ซื้อหุ้นใน Sinopec บริษัทกลั่นน้ำมันและจัดจำหน่ายน้ำมันของทางการจีน และ Shell ยังซื้อหุ้นในบริษัท CNOOC ของจีนอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทน้ำมันตะวันตกได้ถอนตัวออกจากโครงการสำรวจแหล่งพลังงาน 2 โครงการใหญ่ของจีน ซึ่งมีความสำคัญกับความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคตของจีนอย่างมาก นั่นคือ โครงการพัฒนาแหล่งก๊าซ Chunxiao และโครงการ วางท่อส่งก๊าซ West-East มูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจะวางท่อส่งจากมณฑล Xinjiang ทางภาคตะวันตกไปยังนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออก
แหล่งสำรองพลังงานที่ไม่แน่นอน
สาเหตุใหญ่เป็นเพราะปริมาณสำรองของน้ำมันและก๊าซจากทั้ง 2 แหล่งดังกล่าวมีปริมาณที่ไม่แน่นอน ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และเป็นเพราะจีนแทบไม่เสนอสิ่งจูงใจใดๆ เลยให้แก่บริษัทต่างชาติ รวมทั้งยังเชื่องช้าในการพิจารณาให้สัมปทานแก่บริษัทต่างชาติ
โดยผู้สันทัดกรณีชี้ว่า การที่ Shell ถอนตัวออกจากโครงการ West-East เป็นเพราะผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของโครงการจะตกเป็นของ PetroChina มากกว่า Shell และจีนยังปฏิเสธไม่ให้ Shell เข้าถึงตลาดก๊าซของจีนได้โดยตรง
การลงทุนของบริษัทน้ำมันต่างชาติในจีนจึงมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย โดยมี BP ถือหุ้น 30% ในบริษัทร่วมทุนกับจีน เพื่อสร้างท่าขนส่งและคลังเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวมูลค่า 665 ล้านดอลลาร์ในมณฑลกวางตุ้ง และการบริหารปั๊มก๊าซหลายร้อยแห่งในมณฑลดังกล่าว ส่วน Shell ได้ตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Sinopec ของจีน เพื่อสร้างและบริหารปั๊มน้ำมัน 500 แห่งในมณฑล Jiangsu
อย่างไรก็ตาม ส่วนที่จีนยินยอมให้บริษัทต่างชาติเข้ามามีบทบาทมากกว่าคือ การควบคุมมลพิษจากการใช้พลังงานถ่านหิน ซึ่งยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักถึง 70% ของจีน โดยครัวเรือนส่วนใหญ่ยังคงใช้พลังงานจากถ่านหินในการให้ความอบอุ่น ถ่านหินยังเป็นแหล่งก่อมลพิษหลักของจีนด้วย โดยมีโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินของจีนซึ่งมีประสิทธิภาพต่ำ เป็นตัวหลักในการก่อมลพิษ โดยปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์หลายตันออกสู่บรรยากาศ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ประเมินว่า มีเพียง 5% ของโรงไฟฟ้าในจีนที่มีการควบคุมมลพิษอย่างเข้มงวด
ดังนั้น จีนจึงยอมให้บริษัทต่างชาติที่เชี่ยวชาญในเทคนิคการเผาไหม้ถ่านหินที่สะอาดกว่า เช่น การเปลี่ยนถ่านหินให้อยู่ในรูปของก๊าซหรือเชื้อเพลิงเหลวเข้ามาในจีนได้ แต่นี่ก็ไม่ใช่งานที่ง่ายเลย เพราะในจำนวน 20 เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก เป็นเมืองที่อยู่ในจีนถึง 16 เมือง จนทำให้ชาวจีนเริ่มเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น ธนาคารโลกประเมินว่า มลพิษทำให้จีนต้องเสียค่าใช้จ่าย 170,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งเท่ากับ 12% ของจีดีพี ไปกับค่ารักษาพยาบาลและการสูญเสียประสิทธิภาพการผลิต
แต่ความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อยเท่านี้คงจะไม่เพียงพอ จีนยังจะต้องรักษาการควบคุมมลพิษอย่างสม่ำเสมอเช่นนี้ต่อไป และจะต้องปรับปรุงเทคโนโลยีด้านพลังงานต่างๆ รวมทั้งปรับปรุงการปฏิบัติต่อบริษัทต่างชาติที่เป็นหุ้นส่วนในธุรกิจพลังงานให้ดีกว่านี้ และจะต้องลงทุนอีกหลายพันล้านดอลลาร์ รวมทั้งต้องอาศัยโชคช่วยในการสำรวจแหล่งพลังงานใหม่ๆ ทั้งในจีนและในต่างประเทศ จึงจะสามารถสร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงานอย่างแท้จริงได้ดังที่หวัง
แปลและเรียบเรียงจาก
BusinessWeek November 15, 2004
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|