|
บิน 30 ชม. ส่องลู่ทางการค้า "เปรู"
โดย
ธานี ลิ้ม
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
หากพูดถึงดินแดนที่มีอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดในโลกสักแห่ง ต้องมีชื่อ อินคา อยู่ในใจ เพราะชนเผ่าอินคานั้นมีชื่อเสียงในด้านความเจริญรุ่งเรือง มีอารยธรรมก้าวไกลกว่าชนเผ่าอื่นๆ ในยุคนั้น
ใช่แล้ว ผมกำลังพาท่านผู้อ่านไปเยือนประเทศเปรู ประเทศของดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่าอินคา (INCA) กับคณะของ ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล ผู้แทนการค้า (Thai Trade Representative) และผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี (Special Envoy of the Prime Minister) ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเดินทางไปเจรจาข้อตกลงการจัดตั้งเขตการค้าเสรีไทย-เปรู (FTA) ครั้งที่ 4 โดยมีผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ของหน่วยราชการจากกระทรวง กรม กอง ต่างๆ อีกประมาณ 30 ชีวิตลัดฟ้าสู่กรุงลิมา เปรู ด้วยระยะเวลาเดินทางร่วม 30 ชั่วโมง
สำหรับผลการเจรจานั้น ดร.กันตธีร์ บอกว่าผลการเจรจาได้คืบหน้าไปกว่า 70% บางส่วนก็เป็นรูปเป็นร่างบางส่วนก็ยังไม่ได้ ซึ่งกรอบที่ได้ก็คือลด 50% ของพิกัดทั้งหมด และต้องมีมูลค่านำเข้าไม่ต่ำกว่า 50% ซึ่งจะเริ่มในวันแรกที่เปิดเขตการค้าเสรี แต่สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับฝ่ายเปรูก็คือ ภาคเกษตร ซึ่งฝ่ายเปรูเป็นห่วงว่าไทยจะได้เปรียบภาคเกษตรเปรู และอาจเข้ามาครอบงำได้ ทำให้เกษตรกรชาวเปรูหวั่นเกรงอย่างมาก
แต่ผู้แทนการค้าพลิกสถานการณ์ก็คือ หากมีการตกลง FTA ไทย-เปรู ไทยก็จะนำเทคโนโลยีมาถ่ายทอดให้กับเปรู เพื่อใช้เปรูเป็นประตูหรือ Gateway ในการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มอเมริกาเหนือ กลุ่มอียู กลุ่มอเมริกาใต้ ซึ่งให้สิทธิแก่สินค้าจากเปรู
เท่ากับว่า หากไทยร่วมมือกับเปรูก็ใช้เป็นฐานการผลิตลดต้นทุนค่าขนส่งแถมยังได้สิทธิทางภาษีอีกต่างหาก คาดว่าจะได้ข้อสรุป FTA ภายในกลางปีหน้า แม้จะยังไม่มีข้อตกลงอย่างเป็นทางการ แต่การเดินทางครั้งนี้ก็มีอะไรติดไม้ติดมือกลับมา นอกเหนือจากการเซ็นสัญญาร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกับสภาอุตฯ ของเปรู
ภายหลังเข้าพบประธานาธิบดี อัลเลอเจนโดร โทเลโด แห่งเปรู และเข้าพบ 3 รัฐมนตรี ได้แก่ กระทรวงเกษตร กระทรวงการค้าต่างประเทศและท่องเที่ยว และกระทรวงคมนาคม ปรากฏว่า ทางการเปรูได้เสนอให้สิทธิการเข้ามาลงทุนสัมปทานป่าอะเมซอนแก่นักธุรกิจไทยเพื่อทำป่าไม้และเฟอร์นิเจอร์ส่งออกถึง 40 ปี
เปรูมีพื้นที่ป่าอะเมซอนกว้างใหญ่กว่า 7.5 แสนตารางกิโลเมตร มีไม้กว่า 2,500 ชนิด ขณะนี้นำมาใช้เพียง 50 ชนิดเท่านั้น ซึ่งการเข้าเยี่ยมชมกิจการค้าเฟอร์นิเจอร์ พบว่า กระทรวงการผลิตของเปรูขะมักเขม้นทำการวิจัยไม้หลากหลายชนิดเพื่อใช้ในเชิงการค้า
"เขาต้องการให้เราไปทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ส่งออก น่าจะเป็นจังหวะที่ดีสำหรับคนไทย ซึ่งขณะนี้มีประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาลงทุนในเปรูก่อนเราแล้ว" ผู้แทนการค้าบอก
ไม่เพียงเท่านั้น พอเข้าพบ มร.โจเซ่ ออทิซ ริเวร่า รัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคมของเปรู ก็ยื่นโปรเจกต์ก่อสร้างสาธารณูปโภค ได้แก่ ถนนท่าเรือ จำนวน 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณแสนล้านบาท ซึ่งรัฐมนตรีเสนอให้สิทธิแก่ผู้รับเหมาไทยเป็นอันดับต้นๆ
เปรูมีเหมืองแร่ทองคำ ทองแดง ดีบุก สังกะสี มีปลาจากทะเล มีป่าไม้ สิ่งทอ ปิโตรเลียม รอที่จะนำไปแปรรูปเพื่อส่งขายต่อประเทศที่ 3 แต่ถ้ามองในแง่การตลาดการค้าแล้ว เปรูนั้นมีสินค้าที่แตกต่างจากไทยอย่างสิ้นเชิง การค้าระหว่างไทยกับเปรูยังมีน้อยมาก เพราะปัญหาเรื่องค่าขนส่งสินค้าจากไทย ได้แก่ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น รถมอเตอร์ไซต์ ยางพารา ขณะที่เปรูส่งเหล็กและเหล็กกล้า ทองคำขึ้นรูป น้ำมันปลา สัตว์ทะเล ทองแดงขึ้นรูป น้ำมัน มายังไทย ในเชิงการค้านั้นไทยยังค้าขายกับเปรูน้อยมาก มีเพียง 50-60 ล้านเหรียญต่อปี หรือ 2,400 ล้านบาทเท่านั้น และไทยก็เสียเปรียบดุลการค้าเปรูเกือบเท่าตัว
ประเทศเปรูนั้น มีพื้นที่ขนาด 1,285,200 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าเมืองไทยกว่า 2 เท่า เวลาช้ากว่าเมืองไทย 12 ชม. เรียกได้ว่าอยู่คนละซีกโลกกับไทย อยู่ติดมหาสมุทรแปซิฟิก พื้นที่ของเปรูแบ่งเป็นที่ราบแนวฝั่งมหาสมุทรความยาว 2.4 พันกม. ถัดมาก็เป็นทะเลทรายและป่าอะเมซอน มีคนอาศัยประมาณ 30 ล้าน คนเป็นคนจีนอยู่ถึง 3 ล้านคนหรือ 10% ซึ่งมีอิทธิพลทางการค้ามาก เมืองหลวงคือกรุงลิมา ใช้ภาษาสเปน อัตราแลกเปลี่ยน 1 โซเรต (S/.) เท่ากับ 11-12 บาท หรือประมาณ 3.5 ดอลลาร์สหรัฐ
ตามประวัติศาสตร์เก่าแก่ของเปรูนั้น ขึ้นชื่อด้วยชนเผ่าอินคา สมัยคริสต์ศตวรรษ 1200-1400 ขณะที่ก่อนคริสต์กาล 100 ปีก็มีเผ่า MOCHICA อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ เป็นชนเผ่าที่มีความศิวิไลซ์สามารถก่อสร้างระบบชลประทาน ผลิตภาชนะเซรามิก ไม่เพียงเท่านั้นเมือง CUZCO หรือเมืองมายา ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงาม มี Machu Picchu หรือป้อมปราการบนภูเขาที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเปรูกว่า 933,643 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกาเหนือ ขณะที่นักท่องเที่ยวจากเมืองไทยไปเปรูเพียง 225 คนเท่านั้น คงเป็นเพราะความห่างไกลร่วมหมื่นกิโลเมตร
ถ้าถามถึงคนไทยที่ทำมาหากินในเปรู มีแค่คนเดียวจากจำนวน 10 คนที่อาศัยในเปรู ตามคำบอกของ สุพัฒน์ จิตรา นุเคราะห์ เอกอัครราชทูตไทยประจำบราซิล ซึ่งดูแลเปรูบอกว่า คนไทย 8 คนติดคุกในเปรู 3 คน ออกมาเพราะประพฤติดีแต่ต้องรายงานตัว อีก 5 คนยังติดอยู่ ที่น่าสังเกตคือ ทุกคนต่างเป็นผู้หญิงติดคุกด้วยข้อหาขนยาเสพติด
สรุปได้ว่า เปรูถือเป็นประเทศใหม่ที่มีทรัพยากรและกำลังเปิดตัวสู่โลกภายนอก ด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับอีกหลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ อียู กลุ่มอเมริกาใต้ นักธุรกิจไทยจึงไม่ควรมองข้ามประเทศนี้เสียแล้ว...
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|