"บุญคลี"ยันศก.หดไม่กระทบแตกไลน์ SHIN หลุดหุ้นสื่อสาร


ผู้จัดการรายวัน(29 พฤศจิกายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"บุญคลี-ซีอีโอชินกรุ๊ป" เผยปีหน้าเศรษฐกิจหดแต่ธุรกิจชินฯ ไม่หดตาม ยันขยายตัวโตไม่ต่ำกว่าปีนี้ต่อ เตรียมปรับโครงสร้างการลงทุนขยายการลงทุนปรับให้ "ชินคอร์ป" ออกจากกลุ่มสื่อสารยก "แอดวานซ์" เป็นหุ้นยักษ์สื่อสารผู้เดียว มองกทช.ทำงานยากเพราะเกิดทีหลังธุรกิจสื่อสาร ระบุไอทีวียังไม่จำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มทุนจึงยืดเวลาให้พันธมิตร "ไตรภพ-กันตนา" ไปถึงตุลาคมปีหน้าได้ ด้าน "โลว์คอสต์ แอร์ไลน์" คาดไตรมาสสี่ปีนี้ เห็นกำไรเตรียมขยายเครื่องบินเพิ่ม

นายบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจในปีหน้าที่หลายคนมีการประมาณการเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจ หรือ GDP ที่อาจจะปรับอัตราการเติบโตลงเหลือระดับ 5-6% ตัวเลขดังกล่าวหากปรับลดเพียง 1% จากปีนี้ถือว่าไม่มีนัยสำคัญกับแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และเชื่อว่าหากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากเรื่องค่าเงินบาทแข็ง เรื่องราคาน้ำมัน ฯลฯ จนส่งผลในทางลบกับุรกิจส่งออก รัฐบาลก็คงหามาตรการเพื่อมากระตุ้นในส่วนของในประเทศมากขึ้น

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปีหน้าของชินคอร์ปจะมีการขยายอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าเติบโตในปีหน้าไม่ต่ำกว่าปีนี้ โดยจะให้แต่ละบริษัทมีการเน้นธุรกิจแต่ละประเภท โดยในส่วนของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร เซอร์วิส หรือ เอไอเอส (ADVANC) เน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสื่อสารโดยตรง และจะให้บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SHIN) เริ่มไปดำเนินธุรกิจประเภทอื่นมากขึ้น เช่น คอนเทนต์ที่ใช้ในมือถือ เป็นต้น ซึ่งอาจจะเป็นการหาพันธมิตรใหม่เข้ามาทำธุรกิจดังกล่าวด้วยกัน

ในช่วงประมาณ 2 ปีข้างหน้า อาจจะมีการขอย้ายหมวดกลุ่มธุรกิจของบริษัท โดยบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น อาจจะย้ายไปอยู่หมวดอื่น แล้วให้บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร เซอร์วิส เป็นบริษัทเดียวที่อยู่ในกลุ่มสื่อสาร โดยในขณะนี้ SHIN จะต้องปรับตัวขยายการลงทุนเพื่อแตกไลน์ธุรกิจออกไปจากกลุ่มสื่อสาร ซึ่งในส่วนการขยายธุรกิจของ SHIN ณ ขณะนี้ยังคงต้องรอแผนทางธุรกิจที่บริษัทในเครือจะต้องสรุปออกมาก่อน แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องสำคัญคงไม่ใช่เรื่องเงินทุนที่จะนำเข้าไปสนับสนุน แต่คงเป็นเรื่องของนโยบาย และแผนการพัฒนามากกว่า

ส่วนการนำบริษัทในเครือเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกยังคงเป็นเรื่องของอนาคต เพราะการเข้าตลาดหลักทรัพย์เกิดแรงกดดันของผู้บริหารต่อการบริหารงานเพื่อให้ได้ผลตอบแทนในระดับที่ผู้ถือหุ้นพอใจเกิดขึ้นมากกว่าการเป็นบริษัทนอกตลาดฯ

"เราสนใจแผนกับยุทธศาสตร์มากกว่า เราไม่ได้สนใจเรื่องเงินลงทุนมากนัก เพราะหากต้องมีการลงทุนเพิ่มบริษัทเราก็มีอยู่แล้ว" นายบุญคลีกล่าว

สำหรับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในกลุ่มสื่อสาร เรื่องความชัดเจนของคณะกรรมการสื่อสารโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) นั้น คาดว่าน่าจะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงกลางปี 2548 แต่ทั้งนี้เชื่อว่าข้อสรุปที่ได้จะเป็นปัจจัยในเชิงบวก ส่วนการออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการคงจะได้เห็นความชัดเจนทั้งเรื่องรูปแบบ และประเภทการบริการมากขึ้น รวมถึงเรื่องการแปรสัมปทาน แต่กฎเกณฑ์ที่ทั้งในส่วนของบริษัทของรัฐและเอกชนก็คงเป็นรูปแบบเดียวกัน

"ถ้าผมร่วมเป็นคนออกกฎเกณฑ์ดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ หลายคนอาจจะมองว่าผมจะออกกฎเพื่อให้บริษัทของผมได้เปรียบ ผมถึงรอให้มีการออกกฎจากตัวแทนที่ได้รับเลือกขึ้นมาทำหน้าที่ดังกล่าว" นายบุญคลีกล่าว

ในส่วนของการทำงานของคณะกรรมการ กทช. นั้น นายบุญคลีให้ความเห็นว่า คงทำงานด้วยความลำบากเพราะหน่วยงานที่กำกับดูแลเกิดขึ้นมาทีหลังที่ธุรกิจหรืองานนั้นดำเนินอยู่แล้วการควบคุมการแก้ไขปัญหาจะยากกว่า

นายบุญคลี กล่าวถึงเรื่องดาวเทียม ไอ พี สตาร์ คาดว่าจะเสร็จได้ทันในปีนี้ และจะเริ่มใช้งานได้ในช่วงไตรมาส 1/48 แต่อาจจะต้องมีการทดสอบการใช้ประมาณ 30 วัน

ด้านบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV ที่มีการขอยืดเวลาการชำระเงินของ 2 พันธมิตร นายไตรภพ ลิมปพัทธ์ ผู้ผลิตรายการ และบริษัท กันตนา กรุ๊ป ไปเป็นก่อนเดือนตุลาคมปีหน้า ซึ่งพันธมิตรทั้งสองติดต่อมาในเดือนนี้แต่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าทำไมขอยืดเวลาออกไป อย่างไรก็ตามบริษัทไอทีวีก็ยังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนดังนั้นการได้เงินใหม่เข้ามาในบริษัทหรือยังไม่ได้ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทแต่อย่างใด ในส่วนของเรตติ้งของไอทีวี ก็มีระดับที่สูงขึ้นในระดับที่น่าพอใจ

ส่วนบริษัทแอร์ เอเชีย ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำนั้น ขณะนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เปิดบริการ 8 เดือนสามารถเพิ่มเที่ยวบินเป็น 24 เที่ยวต่อวันมียอดขายกว่า 1 พันล้านบาท ต่อไปอาจจะมีการขยายธุรกิจโดยการเพิ่มเครื่องบินจากปัจจุบันที่มีอยู่ 6 ลำเป็น 10-12 ในปีหน้า และคาดว่าจะเริ่มเห็นกำไรสุทธิได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ หลังจากที่ผ่านมายังไม่สามารถทำกำไรได้

ด้านธุรกิจบรอดแบนด์แม้ที่ผ่านมาจะมีการแข่งขันกับบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น แต่ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายและลูกค้าของบริษัทมีความแตกต่างกัน โดยบริษัทจะเน้นลูกค้าจากการใช้บอร์แบนด์ผ่านโทรทัศน์บ้านมากกว่าการใช้ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.