ไทยพาณิชย์ยุค ดร.โอฬาร ปรับองค์กร รองรับนโยบายเดิม


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ดร.โอฬาร ไชยประวัติ อดีตคนแบงก์ชาติที่หันมาเอาดีในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ จนสามารถเติบโตขึ้นสู่จุดสูงสุดในธุรกิจนี้ได้ ด้วยการได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ - ธนาคารพาณิชย์ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศ หลังจากที่ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่มีอันต้องลาออกไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่เปิดตัวแถลงข่าวครั้งแรก พร้อมด้วยทีมงานผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งสิ้น 13 คน เป็นการแถลงข่าวที่มีระดับบริหารของแบงก์ฯ อยู่กันพร้อมหน้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมการบริหารของแบงก์นี้มีลักษณะการทำงานเป็นทีมเวิร์ค

"เราจะทำงานร่วมกันอย่างเป็นทีมตามความสามารถที่เรามีอยู่ และพวกเราจะทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยประสิทธิภาพ เราจะพยายามบริหารธนาคารของเราให้ดีเท่ากับที่ท่านอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ 2 ท่านได้บริหารธนาคารในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา" ดร.โอฬารกล่าวกับตัวแทนสื่อมวลชน

การประกาศแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ครั้งนี้ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารและตัวผู้บริหารบางคน ดร.โอฬารให้เหตุผลว่า "ความเปลี่ยนแปลงนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน และสอดคล้องกับโครงสร้างบุคลากรของธนาคาร ส่วนนโยบายของแบงก์นั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากของเดิมที่คุณธารินทร์กำหนดไว้"

ผู้ที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งครั้งนี้คือ ชฎา วัฒนศิริธรรม เดิมเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ดูแลสายงานธุรกิจต่างประเทศและสถาบัน ได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้จัดการใหญ่ ดูแล 3 สายงานคือ สายงานเดิมที่มี สถาพร ชินะจิตร เข้ามาดูแลกับอีก 2 สายงาน คือสายงานธุรกิจขนาดใหญ่ และสายงานตลาดเงินตลาดทุน ซึ่งเป็นสายงานที่ตั้งขึ้นใหม่ มีชัชวาล พรรณลาภ เป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ควบคุมดูแล (ดูแผนภูมิโครงสร้างธนาคาร 2 ตุลาคม 2535)

บรรณวิทย์ บุญญรัตน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายงานลูกค้าบุคคลได้รับเลื่อนเป็นรองผู้จัดการใหญ่อีกคนหนึ่ง ตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ในโครงสร้างใหม่นี้จึงมี 3 ตำแหน่งคือ ชฎา, บรรณวิทย์ ผู้มาใหม่ และประกิต ประทีปะเสน รองผู้จัดการใหญ่คนเดิมที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นแทนที่ ดร.โอฬาร

บรรณวิทย์ยังคงดูแลสายงานลูกค้าบุคคล ซึ่งมี ปภาอารยะ สุวรรณเตมีย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ที่โยกมาจากสายงานควบคุม เป็นผู้รับผิดชอบอีก 2 สายงานที่อยู่ในความดูแลของบรรณวิทย์ด้วย คือสายงานเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสายงานที่รวบรวมหน่วยงานเดิมตั้งขึ้นเป็นสายงานใหม่ กับสายงานควบคุมและธุรการ

การแบ่งสายงานของรองผู้จัดการใหญ่แต่ละคนนั้นดูเหมือนจะยึดถือหลักการที่ว่า รองผู้จัดการใหญ่คนใดเคยดูแลสายงานใดมาก่อนก็ให้สายงานนั้นอยู่ในความรับผิดชอบต่อไป

ประกิตรับผิดชอบดูแลสายงานเดิม ส่วนชฎากับบรรณวิทย์ดูแลสายงานที่ตัวมีความถนัด

2 สายงานที่รวบรวมขึ้นมาใหม่ ดูเหมือนจะเป็นตัวบอกทิศทางการทำธุรกิจบางอย่างของแบงก์ได้เป็นอย่างดี

สายงานเทคโนโลยีชี้ให้เห็นเจตน์จำนงอย่างแน่วแน่ที่แบงก์ใบโพธิ์จะก้าวขึ้นเป็นอิเล็กทรอนิกส์ แบงกิ้งเต็มที่

สายงานตลาดเงินตลาดทุนก็ชี้ให้เห็นว่าธนาคารฯ มีการปรับตัวเพื่อรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดนี้อย่างไร

ชัชวาลเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "สายงานนี้รับผิดชอบในเรื่องบริหารการเงิน (FX) การลงทุนของแบงก์ที่ไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น พันธบัตร หุ้น รวมทั้งการถือหุ้นในบริษัทอื่นๆ มีฝ่ายธุรกิจ ตลาดทุนรับผิดชอบการดำเนินการตามกฎหมายตลาดหลักทรัพย์ฯ (กลต.) ที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำได้ เช่น การทำหุ้นกู้ พันธบัตร ฝ่ายนี้จะเป็นตัวทำตลาดรองของพันธบัตรต่างๆ และหน่วยลงทุน รวมไปถึงการทำธุรกิจวาณิชธนกิจ หรือ Merchant Bank ไม่ว่าจะเป็น Securitized (การขายลูกหนี้) การเทคโอเวอร์ เป็นต้น"

ฝ่ายธุรกิจตลาดทุนเน้นการให้บริการแก่ลูกค้า ขณะที่ฝ่ายบริหารการเงินเน้นการลงทุนของแบงก์

ส่วนฝ่ายหนี้สินและหลักทรัพย์ที่อยู่ในสายงานนี้ด้วย ก็ทำหน้าที่ด้านการดูแลบัญชีสินเชื่อ ไม่วาจะเป็นเงินกู้ ซื้อลดตั๋วเงิน บัญชีสินเชื่อเหล่านี้จะอยู่ในฝ่ายหนี้สินที่สำนักงานใหญ่ และอีกหน้าที่คือ นิติกรรมทางด้านสินเชื่อต่างๆ กับดูแลหลักประกันของสินเชื่อทั้งหมดที่มี

แม้ว่าสายงานตลาดเงินตลาดทุนจะเป็นสายงานที่ตั้งขึ้นใหม่ มีฝ่ายที่อยู่ใต้การดูแลเพียง 3 ฝ่าย แต่ก็มีคนทำงานมากพอสมควร

ฝ่ายบริหารการเงิน มีสต๊าฟ 70 คน ฝ่ายธุรกิจตลาดทุนมีสต๊าฟ 80 คน และฝ่ายหนี้สินและสินทรัพย์มีสต๊าฟ 150 คน

ตัวเลขนี้พอจะชี้ได้ว่าธนาคารฯ ให้ความสำคัญกับการเติบโตของตลาดเงินและทุนมากเพียงไร !!

กิจการที่สำคัญของฝ่ายธุรกิจตลาดทุนในเวลานี้คือ การขายหน่วยงลงทุน ชัชวาลเปิดเผยว่า "ต่อไปอาจจะมีโปรดักส์ใหม่ๆ เช่น การทำ securitized ง่ายๆ คือเอาลูกหนี้ไปขายที่เป็นตั๋ว BE

ส่วนการทำธุรกิจตามกฎ BIBF นั้นจะร่วมมือกัน 4 ฝ่าย คือฝ่ายธุรกิจตลาดทุน บริหารการเงิน การบัญชี และฝ่ายวิจัยและวางแผน เช่น การออก subordinated loan หรือ debenture คนที่จะ design ว่าจะออกดอกเบี้ยเท่าไหร่ ระยะเวลาแค่ไหน คนที่ดูแลคือฝ่ายบริหารการเงิน ส่วนฝ่ายวิจัยและวางแผนจะดูแนวโน้มต่างๆ ฝ่ายบัญชีดูแลเรื่องระบบบัญชี และฝ่ายธุรกิจตลาดทุนดูแลการเป็นตัวแทนการจำหน่ายซึ่งอาจจะทำแบบ wholesale คือหาอันเดอไรเตอร์มาทำหรือจำหน่ายแก่รายย่อยทั่วไป

ชัชวาลเปิดเผยว่า "ฝ่ายธุรกิจตลาดทุนเพิ่งตั้งได้ประมาณ 2 เดือนกว่า แต่มีรายได้มาพอสมควรจากการขายหน่วยลงทุนขายตราสารต่างๆ

เพราะตอนนี้มีการออกเครื่องมือเหล่านี้มามาก เราก็ทำหน้าที่เป็นตลาดรองขายให้กับลูกค้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต่างประเทศ สถาบันการเงินและลูกค้ารายย่อย"

เป็นที่คาดหมายว่า ฝ่ายธุรกิจตลาดทุนในสายงานตลาดเงินตลาดทุนจะทำรายได้ให้กับธนาคารในอัตราที่น่าพอใจ!

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการลาออกของอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ครั้งนี้ ว่าไปแล้วไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแบงก์มากมายแต่อย่างใด เพราะธนาคารนี้ค่อนข้างมีระบบการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับมีการวางรากฐานเพื่อรองรับการแข่งขันในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นไว้แล้ว

การรับมือกับตลาดเปิดใหม่อย่างเช่น BIBF และตลาดรอง จึงเป็นเรื่องไม่ยาก เพราะมีการตระเตรียมไว้ระดับหนึ่งแล้ว

เรียกได้ว่า ดร.โอฬารนั่งบริหารแบงก์ได้อย่างสบายๆ

ส่วนการจากไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีฯ ของธารินทร์ซึ่งถือเป็นเกียรติประวัติของธนาคารไทยพาณิชย์ด้วยโสตหนึ่งนั้น ธนาคารฯ มีการอำนวยความสะดวก โดยอนุญาตให้เลขานุการและคนขับรถประจำตัวลาไปทำหน้าที่ให้กับธารินทร์ได้ ส่วนความช่วยเหลืออื่นๆ นั้น ดร.โอฬารกล่าวว่า

"เรายินดีรวบรวมข้อมูลต่างๆ ให้ท่านตามที่ต้องการเหมือนกับที่ธนาคารฯ เคยทำมาแล้วสำหรับรัฐบาลและรัฐมนตรีในอดีต"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.