อภิรักษ์ โกษะโยธิน ตำแหน่งใหม่บนเก้าอี้อันตราย


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2543 ที่ผ่านมา บริษัทแกรมมี่เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้มีการปรับโครงสร้าง องค์กรครั้งใหม่อีกครั้ง โดยการดึง อภิรักษ์ โกษะโยธิน กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟริโต-เลย์ ประเทศไทย มานั่งเก้าอี้ประธานกรรมการบริหาร แทนวิสิฐ ตันติสุนทร โดยวิสิฐได้หลีกไปนั่งเก้าอี้ของรองประธานกรรมการ ซึ่งเป็นตำแหน่งรองจาก "อากู๋" ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม

เก้าอี้ซีอีโอ "เก้าอี้อันตราย" ของผู้บริหารยุคนี้ ยุคที่การบริหารต้องเพิ่มดีกรีความร้อนแรงกันอย่างสุดๆ เพื่อความอยู่รอด อภิรักษ์จึงเป็นมือกระบี่หน้าหยกอีกคนหนึ่ง ที่มีความพร้อมในการเบียดแทรกจอมเก๋าคนเก่า

อภิรักษ์เคยสร้างประวัติการทำงานไว้อย่างสวยงามเมื่อคราวทำหน้าที่บริหาร ฟริโต-เลย์ไทยแลนด์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเป๊ปซี่โคฟูดส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีสินค้าหลักๆ เช่น เครื่องดื่ม ธุรกิจฟาสต์ฟูด และขนมขบเคี้ยว ซึ่งในตลาดใหญ่อเมริกาสามารถทำยอดขายได้ในสัดส่วน ที่ใกล้เคียงกับเครื่องดื่ม แต่ ที่ผ่านมากลับทำยอดขายได้ไม่ดีนักในเมืองไทย

แผนบุกตลาดครั้งใหม่ของสินค้าประเภทขนมขบเคี้ยวโดยเฉพาะมันฝรั่ง ที่มีเมืองไทยเป็นฐาน เพื่อเตรียมรุกต่อไปยังตลาดภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเกิดขึ้นเมื่อปี 2537 โดยมีอภิรักษ์เป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ และบริษัทแม่ก็ไม่ผิดหวัง เมื่อเขาสามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ยอดขาย ที่มีเพียง 300 ล้านบาท ในปี 2538 ได้สูงขึ้นถึง 1,000 ล้านบาท ในปี 2539 และเพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ล้านบาท ในปี 2540

ความสำเร็จ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น อาจจะเป็นเพราะกลุ่มเป้าหมายของเลย์คือ ตลาดวัยรุ่น ซึ่งกำลังมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมากๆ บวกกับเป็นยุคเศรษฐกิจ เฟื่องฟู แต่หากมองอีกมิติหนึ่ง อภิรักษ์ก็ต้องเป็นนักบริหาร ที่มีฝีมือ และวิสัยทัศน์ ที่แม่นยำด้วยเพราะเป็นช่วง ที่ตลาดขนมขบเคี้ยวได้เกิดขึ้นอย่างมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทในไทยเอง และต่างประเทศ ที่สำคัญในช่วงปี 2541-2542 ก็ยังสามารถครองแชมป์ยอดขายไว้ได้ แม้ต้องเผชิญกับวิกฤติการเงินในช่วง ที่ผ่านมาอย่างหนักก็ตาม

โครงการ "ร่วมปลูกอนาคต" ที่สนับสนุนให้เกษตรกรไทยหันมาปลูกมันฝรั่งพันธ์ดี เพื่อนำมาใช้ในการผลิตมันฝรั่งทอดกรอบเลย์ พร้อมๆ กับสื่อโฆษณา "ชุดปลูกอนาคต" ที่มีธงไชย แมคอินไตย์ ศิลปินเบอร์หนึ่งของค่ายแกรมมี่เป็นพรีเซ็นเตอร์ เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดทั้งด้านกว้าง และลงลึก ที่ประสบความสำเร็จ และสร้างชื่อเสียงให้กับฟริโต-เลย์อย่างมาก

รวมทั้งการเข้าไปซื้อกิจการของขนมขบเคี้ยวตัวอื่นๆ เพื่อกวาดกลุ่มลูกค้าทุกระดับ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด คือ ผลงานของเขาในขณะนั้น

อภิรักษ์เป็นนักการตลาดที่มีประสบการณ์ทางด้านการทำประชาสัมพันธ์จากบริษัทยักษ์ใหญ่ ลินตาส ในตำแหน่ง Account Manager อยู่ประมาณ 2 ปีก่อน ที่จะทิ้งไปรับตำแหน่ง Account Director ที่บริษัทดามาส์คอีก 2 ปี หลังจากนั้น ก็ได้เข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทางด้านการตลาดของเป๊ปซี่ ตำแหน่งล่าสุดก่อน ที่จะเป็นกรรมการผู้จัดการที่ฟริโต-เลย์ คือ ผู้อำนวยการขาย และการตลาดของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตลอดระยะเวลา 16-17 ปี ในชีวิตของการทำงานเขาคือ คนไทย ที่เป็นตัวหลักสำคัญของบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ การได้ร่วมทำงานในระบบ ที่ได้มาตรฐานสากล และมีประโยชน์ต่อการสร้างงานให้กับคนไทยคือ สิ่งที่เขาได้รับ แต่ในขณะเดียวกันทำให้เขาเริ่มมีคำถามกับตัวเอง พร้อมกับความตั้งใจ ที่ว่าสักวันหนึ่งจะเข้ามาร่วมงานกับบริษัทคนไทยให้ได้ เพื่อจะได้มีส่วนร่วมทำให้บริษัทคนไทยมีมาตรฐานการทำงาน ที่แข็งแกร่ง สู้กับบริษัทต่างชาติได้

"เอ๊ะ! ทำไมผมมาทำงานให้กับฝรั่ง เป็นคำถาม ที่ผมเจอบ่อยมาก ช่วงหลังพอเจอวิกฤติเศรษฐกิจก็ยิ่งมีความรู้สึกอย่างนี้มากขึ้น วันนี้คงเป็นคำตอบ ที่ชัดเจนแล้วว่า ที่ผ่านมาผมเองก็มีคำถามกับตัวเองในเรื่องนี้เหมือนกัน"

แกรมมี่เป็นบริษัท ที่ลงตัวที่สุดของเขา นอกจากจะเป็นบริษัทเอ็นเตอร์ เทนเมนต์ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย ที่มีชื่อ เสียง และภาพพจน์ที่ดีมากๆ แล้วกลุ่มตลาดลูกค้าของแกรมมี่ 60-70% ก็เป็น กลุ่มลูกค้าวัยรุ่น ซึ่งใกล้เคียงกับเลย์ และ ที่สำคัญแผนงานของแกรมมี่ ที่ต้องการเข้าไปบุกตลาดต่างประเทศในเอเชีย ก็คือ เส้นทางเดียวกับ ที่อภิรักษ์เคยนำเลย์บุกไปก่อนแล้วนั่นเอง

"เคยทำให้มันฝรั่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ ต้องทานประจำทุกวันของบรรดาวัยรุ่นทั้งหลายไปแล้ว ทำไมจะทำให้คนกลุ่มเดียวกันหันมาดูหนังฟังเพลงทุกวันไม่ได้ ผมมั่นใจว่ามีความเข้าใจในพฤติกรรมผู้บริโภค ความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย และ ชัดเจนในการทำการตลาด ตรงนั้น คือ ความเหมือนหรือความใกล้เคียงในการทำธุรกิจ ที่ผมทำมาตลอดเวลา 17 ปี" เป็นคำพูด ที่เขาย้ำอย่างมั่นใจมากๆ กับ "ผู้จัดการ"

อภิรักษ์กับแกรมมี่มีความผูกพัน เป็นพันธมิตรที่ดีกันมานานหลายปี เพราะเลย์เป็นสปอนเซอร์สำคัญของ แกรมมี่มาตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา และได้สร้างโอกาสให้อภิรักษ์ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้บริหารแกรมมี่มาอย่างต่อเนื่อง

แม้ฟริโต-เลย์จะมีความเหมือนกับแกรมมี่ในบางจุด และเป็นจุดแข็งในการทำงานของอภิรักษ์เอง แต่บางเรื่องก็มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเหมือนกัน

ที่ผ่านมา เขาจะต้องลงไปทำงานกับชาวไร่ในหลายๆ จังหวัดกว่า 4,000 ครอบ ครัวของภาคเหนือ ต้องทำงานกับเครื่องจักร ติดต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร และต้องเกี่ยวข้องกับสภาพดินฟ้าอากาศ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม

แต่ ที่นี่ เขาจะต้องไปยังเรื่องของความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก ต้องทำงานร่วมกับคน และศิลปินแทนเครื่องจักร และ ที่สำคัญต้องเข้าไปรู้ลึกในโลกของอินเทอร์เน็ต และต้องมี "วิสัยทัศน์แห่งอินเทอร์เน็ต" อย่างแจ่มชัด เพื่อจะได้ร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ ซึ่งจะเป็นทิศทางใหม่ของแกรมมี่ ซึ่งได้ฟันธงไว้แล้วว่าในระยะยาว อินเทอร์เน็ตจะมาเสริม และเป็นฐาน ที่สำคัญให้แก่ธุรกิจบันเทิงอย่างแน่นอน

นอกจากนั้น ในบทบาทของผู้บริหาร อภิรักษ์จึงมีโจทย์สำคัญอยู่ 2 เรื่อง ที่ต้องจัดการ คือ เรื่องของเพลง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของแกรมมี่ และในเรื่องของมีเดีย ซึ่งจะเป็นรายการทางด้านทีวี เพลง ละคร เกมโชว์ รายการวิทยุอีก 4 คลื่น บริษัททางด้านการจัดจำหน่ายรวมทั้งหมดแล้วประมาณ 20 กว่าบริษัท

ทำอย่างไร ที่จะให้แกรมมี่ยังคงเป็นผู้นำต่อไปในเมืองไทย และสามารถเปิดตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศแถบเอเชียได้เป็นผลสำเร็จ และทำอย่างไร ที่จะให้บริษัทในเครือทั้งหมดสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเอง ล้วนแล้วแต่เป็นภารกิจสำคัญของเขา

ในปีนี้แนวรุกของสำคัญของแกรมมี่ คือ การเข้าไปในธุรกิจของอินเทอร์เน็ต โดยได้เปิดเว็บไซต์บันเทิง ในชื่อ www.eotoday.com เป็นก้าวแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2543 ที่ผ่านมา และในระยะยาวจะมี www.asianmelody.com เกิดขึ้น รวมทั้งการขยายตัวเข้าไปสู่ธุรกิจในภาคพื้นเอเชีย ซึ่งประเทศแรกก็คือ ไต้หวัน หลังจากนั้น ก็จะขยายไปยังประเทศ ที่ใช้ภาษาจีนในเอเชีย และเรื่อง ที่ 3 ก็คือ วางแผน บุกทางด้านธุรกิจการศึกษา ที่ยังมีช่องว่างการตลาดอีกมากมาย

วันนี้จึงเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อครั้งสำคัญในชีวิตของอภิรักษ์ ที่จะได้พิสูจน์ฝีมือกันอีกครั้งหนึ่ง

"ขอเวลาผมอีก 3 เดือน คราวนี้ทุกอย่างสำหรับผมชัดเจนขึ้นแน่" เขาทิ้งท้าย กับ "ผู้จัดการ"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.