ธนาคารไทยพาณิชย์ 1 ปีต้องมีสักครั้ง


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

จากสภาวการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจของประเทศไทยมีอัตราการเติบโตลดลง ขณะที่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็มีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับภาวะการดำเนินธุรกิจในหลายๆ ด้าน อยู่ในภาวะซบเซาส่งผลให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ สภาพคล่องตึงตัว คณะรัฐมนตรีได้พยายามหามาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้ให้กระเตื้องขึ้นได้

มาตรการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับธนาคารไทยพาณิชย์โดยตรงก็คือ มาตรการส่งเสริมเงินฝากแบบผูกพันระยะยาว โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินฝากที่มีการฝากเงินประจำเดือนละเท่าๆ กันไม่น้อยกว่า 24 เดือน แต่ละเดือนไม่เกิน 25,000 บาท และมีวงเงินฝากรวมไม่เกิน 600,000 บาท ทั้งนี้โดยอนุญาตให้ผู้มีเงินได้ฝากเงินประเภทนี้ได้คนละ 1 บัญชี

ออกจะเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้วที่ธนาคารไทยพาณิชย์จะเป็นสถาบันการเงินรายแรกๆ ที่ขานรับมาตรการของรัฐบาลด้วยผลิตภัณฑ์การเงินประเภทต่างๆ นำหน้าธนาคารอื่นอีกหลายค่าย ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ได้ตอบรับโครงการดังกล่าวด้วยบริการใหม่หมาดๆ 2 โครงการใหม่คือ เงินฝากเพิ่มทรัพย์ และบริการเงินฝากวิวาห์เปี่ยมสุข

ดร.โอฬาร ไชยประวัติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (มหาชน) จำกัด ได้ชี้แจงรายละเอียดเอาไว้ว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการออมเงิน จึงได้สร้างรูปแบบการออมเงินใหม่ๆ ที่สามารถสร้างวินัยและชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ในการออมเงินอย่างชัดเจน โดยได้ออกบริการใหม่ เงินฝากเพิ่มทรัพย์ และเงินฝากวิวาห์เปี่ยมสุข เริ่มออกให้บริการในวันที่ 1 และ 15 ตุลาคม 2539 ตามลำดับ

บริการเงินฝากเพิ่มทรัพย์ เป็นบริการเงินฝากที่ส่งเสริมการออมระยะยาว ที่ได้รับการยกเว้นภาษีดอกเบี้ย โดยทางธนาคารไทยพาณิชย์ได้มุ่งกลุ่มเป้าหมายไปที่ชาย-หญิงวัยทำงาน อายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป มีรายได้ต่อคนต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท หรือกลุ่มเป้าหมายระดับบีนั่นเอง

สำหรับผลประโยชน์ที่ลูกค้าโครงการจะได้รับตามที่ธนาคารไทยพาณิชย์เชิญชวนไว้คือ อัตราดอกเบี้ยที่มากกว่าดอกเบี้ยเงินประจำประเภท 12 เดือนอีก 0.75% ต่อปี พร้อมทั้งได้รับการยกเว้นภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ยังมีบริการเสริมอื่นๆ ที่เป็นเงื่อนไขพิเศษเพื่อจูงใจลูกค้าคือ การยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าพูดสายโทรศัพท์ เมื่อลูกค้าใช้บริการฝากโอนเงินอัตโนมัติหรือโดยคำสั่งประจำ หรือการฝากข้ามเขตสำนักหักบัญชี

"แต่ว่าโครงการนี้ก็มีเงื่อนไขอยู่บ้าง คือระยะเวลาการฝากจะอยู่ที่ 24 เดือนและตลอดระยะเวลาของการฝากนี้ ผู้เปิดบัญชีจะต้องนำเงินมาฝากับธนาคารทุกเดือนในอัตราเดือนละเท่าๆ กันและเป็นจำนวนเดียวกับที่เปิดบัญชีไว้ครั้งแรกภายในเวลาที่กำหนด เช่น ภายในวันที่ 10 ของทุกเดือน สำหรับวงเงินนั้นขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 3,000 บาท และสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน"

ส่วนรายละเอียดอื่นๆ นั้นจะมีภาระผูกพันของการฝากคือ สามารถขาดส่งได้ 1 งวดแต่ไม่เกิน 3 งวดติดต่อกัน ถ้าขาดฝากติดต่อกัน 3 เดือน ธนาคารมีสิทธิขาดเต็มที่ในการปิดบัญชีของลูกค้าทันที และธนาคารจะคิดดอกเบี้ยให้ในอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ พร้อมทั้งหักภาษี ณ ที่จ่าย

"กรณีที่มีการถอนเงินในบัญชีเพิ่มทรัพย์ก่อนระยะเวลา 2 ปี ตามอายุโครงการจะสามารถทำได้อย่างเดียวคือ ปิดบัญชีไปเลย เพราะระหว่างอายุการฝาก 2 ปีห้ามถอนเด็ดขาด ซึ่งธนาคารก็จะคิดดอกเบี้ยให้แต่ไม่ใช่ตามที่กำหนดไว้ เพราะถือว่าผิดเงื่อนไข"

นอกจากเงินฝากเพิ่มทรัพย์แล้ว ยังมีเงินฝากอีกประเภทหนึ่งที่เปิดตัวพร้อม และใช้นโยบายยกเว้นภาษีเงินฝากแบบระยะยาวเช่นกันคือ บริการเงินฝากวิวาห์เปี่ยมสุข ซึ่งถือว่าเป็นบริการน้องใหม่ล่าสุด ที่จะเป็นตัวดึงเงินออกจากกระเป๋าของชนชั้นกลางที่กำลังจะสร้างเนื้อสร้างตัว

ซึ่งบริการดังกล่าวจะครอบคลุมไปถึงบริการเสริม คือเมื่อถึงระยะเวลาการฝากครบตามกำหนด ทางธนาคารจะเตรียมงานแต่งงานทั้งหมดให้ คือตั้งแต่จองสถานที่ อาหาร หาช่างภาพ และอื่นๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ ส่วนผลประโยชน์อื่นที่ไม่แตกต่างจากเงินฝากเพิ่มทรัพย์

ดร.โอฬารกล่าวว่า จากนโยบายดังกล่าวเชื่อว่าบริการเงินฝากระยะยาวของธนาคารที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะสามารถกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการออมเงินเป็นประจำสม่ำเสมอทุกเดือน ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวได้ และจะช่วยให้สามารถรักษาเสถียรภาพที่ดีทางเศรษฐกิจได้ในอนาคตเช่นกัน

เพิ่มพูนเล่าว่า ตลอดระยะเวลาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ริเริ่มออกบริการเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล ในการที่จะกระตุ้นการออมเงินของประเทศเป็นธนาคารแรกๆ ที่ออกบริการต่างๆ ขึ้นมาโดยในปี 2536 ธนาคารได้ออกบริการเงินฝากเพื่อการศึกษา และในปี 2538 ธนาคารได้ออกบริการเงินฝากเพื่อการเคหะ โดยเงื่อนไขของดอกเบี้ยก็จะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน อยู่ที่ว่าลูกค้าจะเห็นว่าบริการไหนเหมาะสมกับตนเองที่สุดจึงตัดสินใจ

สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมานั้น ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่บอกว่า "ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และธนาคารพยายามที่จะออกบริการเงินฝากใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับลูกค้ารายย่อยขนาดกลาง ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และยังเป็นการช่วยลดช่องว่างระหว่างเงินออมและเงินลงทุน รวมทั้งลดความจำเป็นในการกู้เงินจากต่างประเทศอีกด้วย คือหนึ่งปีเราต้องมีแบบนี้ออกมาครั้งหนึ่ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.