สำหรับนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ ชื่อ สมถวิล ปธานวนิช เป็นชื่อที่จะได้ยินผ่านหูเห็นผ่านตาอย่างน้อยที่สุดหนึ่งครั้ง
โดยเฉพาะผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของเนื้อหา และท่าทีของไทยในการประชุมสุดยอดสิ่งแวดล้อมโลกของสหประชาชาติ
หรือที่เรียกกันว่า Earth Summit
เพราะเธอเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการศึกษาข้อมูลและหานโยบายแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก
เพื่อใช้พิจารณาในการกำหนดบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลกให้ชัดเจนขึ้น
ในขณะนั้นเธอเป็นนักวิจัยของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ
TDRI นำทีมวิจัยหัวข้อเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก หรือ Global Climate
Change โดยศึกษาการใช้พลังงานในประเทศไทยว่า มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse
Gas) ซึ่งมีตัวหลักๆ ก็คือคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่อากาศในปริมาณจำนวนเท่าไร
และส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้น (Global Warming) มากหรือน้อยเพียงใด
ผลงานวิจัยทั้งหมดพิมพ์เสร็จเป็นเล่มเรียบร้อยแล้วก่อนที่การประชุม Earth
Summit จะเริ่มขึ้นเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ในระหว่างที่เอกสารเหล่านี้อยู่ในมือของผู้ร่วมประชุมที่ริโอ เดอ จาเนโร
ประเทศบราซิล เธอกำลังอยู่ในระหว่างเริ่มงานใหม่ในตำแหน่ง Business &
Strategic Planning Manager ที่บริษัทเชลส์
เป็นการทำงานครั้งแรกในภาคธุรกิจเอกชน
"งานที่เชลส์ต่างจากงานเก่าตรงที่ เมื่อก่อนทำวิจัยทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม
เพื่อกำหนดแนวทางนโยบายเสนอต่อรัฐบาล แต่พอมาทำที่เชลส์งานวิจัยจะแคบลงเป็นระดับเอกชน
ไม่ใช่ระดับประเทศ และบริษัทเป็นบริษัทใหญ่ ดิฉันเป็นเพียงผู้จัดการเท่านั้นเองที่พอใจได้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน
งานตรงนี้เป็นงานวิเคราะห์และวางแผนข้อมูล และข้อเสนอแนะต่างๆ ก็จะเสนอผู้บริหารระดับสูงขึ้นไปเท่านั้น"
สมถวิลเปรียบเทียบงานใหม่กับที่เดิมซึ่งเคยร่วมงานอยู่นานถึง 3 ปีเศษให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
สำหรับเธอแล้วอาจจะเห็นว่าบทบาทการทำงานจำกัดวงแคบลงกว่าเดิม จากที่เคยร่วมประชุมระดับชาติหลายครั้ง
เล็กลงสู่ระดับเอกชนเท่านั้น
แต่ถ้าหมุนมามองในด้านของบริษัทแล้ว การได้เธอมาร่วมงานนับว่าเป็นการเข้ามาในช่วงจังหวะที่เหมาะ
ที่เอกชนจำต้องใส่ใจต่อข้อตกลงเรื่องสิ่งแวดล้อมในระดับโลกให้มากขึ้น
โดยเฉพาะบริษัทเชลส์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำมันซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการถกเถียงในการประชุมEarth
Summit จนมีผลสรุปและเขียนอยู่ในแผนปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมโลกสำหรับศตวรรษที่
21 (Agenda 21) ว่าน้ำมันและแก๊สเป็นตัวการอันดับหนึ่งที่เป็นสาเหตุให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น
ฉะนั้นจึงควรหาหนทางใช้พลังงานอื่นที่บริสุทธิ์กว่าทดแทน
รายละเอียดเกี่ยวกับข้อผูกพันเรื่องนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องคงต้องศึกษาให้กระจ่าง
เพราะรัฐบาลไทยได้ลงนามเซ็นรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกแล้วในการประชุม
Earth Summit ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป
ที่จริงแล้วปัญหาที่เกิดจากความไม่ลงตัวระหว่างสิ่งแวดล้อมกับธุรกิจ สำหรับบริษัทเชลส์เคยมีประสบการณ์เรื่องนี้มาแล้วในอดีตเมื่อ
4 ปีก่อน ตอนนั้นเชลส์มีโครงการลงทุนปลูกป่ายูคาลิปตัส ชื่อว่า "โครงการสวนป่าวนาธร"
ในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติขุนซ่อง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี บนพื้นที่ขนาดใหญ่ถึง
282,500 ไร่
แต่โครงการดังกล่าวมีเหตุต้องล้มเลิก เพราะมีเสียงคัดค้านแรงมากจากนักอนุรักษ์และประชาชนในแถบนั้น
อีกทั้งในระยะเวลาไล่เลี่ยกันที่เชลส์กำลังจะเริ่มโครงการ ก็เกิดกรณีปัญหาสวนป่ายูคาลิปตัสของ
กิตติ ดำเนินชาญวนิชย์ บุกรุกพ้นที่ในเขตของกรมป่าไม้ จนทำให้เกิดการทบทวนเรื่องการปลูกป่าประเภทนี้ว่า
มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างไรบ้าง เชลส์จึงตัดสินใจล็อกกุญแจปิดตายโครงการสวนป่า
จากปัญหาเรื่องจุดสมดุลยของสิ่งแวดล้อมกับธุรกิจของเชลส์ในอดีตและที่กำลังจะมีมาอีกในอนาคตอันใกล้นี้
การมีบุคลากรที่เข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมไทยเช่นนี้ นับว่าเป็นความฉลาดของเชลส์
ด้วยเหตุนี้เมื่อกลับมามองในมุมของสมถวิลแล้ว เธอมีประสบการณ์ด้านนี้มากทีเดียว
นอกจากจะมีความเชี่ยวชาญเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก เพราะว่าทำวิจัยมากับมือ
และเคยร่วมการเจรจาต่อรอง ก่อนการลงนามหลายครั้งหลายครา เธอยังเคยศึกษาระดับปริญญาเอกด้าน
Energy management % Policy จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เคยทำารศึกษาเรื่องผลกระทบของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เกิดจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ลิกไนต์
อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เมื่อครั้งที่อยู่ TDRI
บวกด้วยปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความรู้วิทยาศาสตร์ทางทะเล
จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และความเป็นนักปฏิบัติที่ผ่านงานกิจกรรมสังคมมากพอควร
เริ่มตั้งแต่เป็นประธานเชียร์รุ่นแรกของนักเรียนบดินทรเดชา
เป็นอาสาสมัครศูนย์ฝึกเยาวชนแบบผสมผสานที่อุทัยธานีหนึ่งปีเต็ม หลังจากจบชีวิตนิสิต
ต่อด้วยเป็นผู้ช่วยวิจัยโครงการศึกษาประวัติศาสตร์จากการบอกเล่า (Oral History
Project) โดยมีหน้าที่สัมภาษณ์นักการเมืองและบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องเหตุการณ์การเมืองสำคัญ
นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงวันมหาวิปโยค 6 ตุลาคม 2519 เพื่อค้นหาว่า
อะไรเป็นปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทย
จากประวัติการทำงานของเธอ ซึ่งครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและสิ่งแวดล้อม
นับว่าเธอมีความพร้อมในด้านวิชาการเต็มที่ที่จะสามารถทำประโยชน์ให้กับบริษัทเชลส์
ส่วนทางเชลส์ก็มีโลกธุรกิจให้เธอเรียนรู้และฝึกปรือเพิ่มขึ้นไม่แพ้กัน
"บางคนพูดว่าเคยทำงานในองค์กรเพื่อส่วนรวม แล้วเปลี่ยนมาทำกับเอกชนจะกลายเป็นคนขายตัว
เสียความคิดความอ่านของตัวเอง ดิฉันคิดว่ามันคนละเรื่องกัน เขาถึงมีคำพูดว่าทำธุรกิจต้องมีจริยธรรมด้วย
คนเราถ้ามีคุณธรรมและจริยธรรมแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรก็คงไม่เสียส่วนนี้ไปง่ายๆ"
สมถวิลบอกเล่าความคิดกับ "ผู้จัดการ"
การประสานมือกันระหว่างธุรกิจและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ในยุคสมัยนี้
การปรับทิศทางแนวบริหารงานและเตรียมบุคลากรตอบรับ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน