ชัยอนันต์ แนะใช้ปัญญารับมือแนวรุกใหม่โลกานุวัตร


ผู้จัดการรายวัน(8 มีนาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

”ชัยอนันต์” นำทีมนักวิชาการกระตุ้นคนไทยให้ใช้สติปัญญารับมือกับแนวรุกใหม่โลกานุวัตรจากชาติตะวันตก ที่มาในรูปแบบการรุกทางเทคโนโลยีชีวภาพและทรัพยากร แนะทางออกให้ใช้ทุนทางทรัพยากรและทางภูมิปัญญาที่มีอยู่ของคนไทยให้เป็นประโยชน์

วันนี้(7มี.ค.)โครงการอาณาบริเวณศึกษา 5ภูมิภาค(อบศ.5) ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)ได้จัดเสวนาเรื่อง“จุดจบของโลกาภิวัตน์” ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เนื่องจากเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในอเมริกาเมื่อ 11 ก.ย. 2544 ทำให้วิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองของโลกทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังจากที่มีเคยเกิดวิกฤตมาแล้วเมื่อปี 2540 อันเป็นผลพวงมาจากระบบโลกในยุคโลกานุวัตร หลายคนจึงตั้งคำถามว่านี่คือจุดเริ่มต้นของจุดจบโลกานุวัตรใช่หรือไม่ จึงได้เชิญนักวิชาการมาเสวนาเรื่อง “จุดจบของโลกาภิวัตน์ ?” ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร วานนี้(7 มี.ค.) ซึ่งนักวิชาการที่ร่วมเสวนาต่างเห็นพ้องต้องกันว่า จะใช้คำว่า “โลกานุวัตร” ในงานนี้ ซึ่งมีความหมายเป็นกลางมากกว่า โลกาภิวัตน์

ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย กล่าวปาฐกถานำในงานนี้ว่า โลกานุวัตรนั้นเริ่มมาจากกระแสแห่งเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีข้อดีคือการเรียนรู้ที่มีการแลกเปลี่ยนกันได้ไม่ว่าส่วนไหนของโลก แต่จากกระแสได้กลายมาเป็นระบบที่สร้างกรอบและกติกาขึ้นมาบีบบังคับผ่านองค์กรโลกบาลอย่าง องค์กการการค้าโลก(WTO) และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) โลกานุวัตรนั้นให้ประโยชน์มากกับคนจำนวนน้อยแต่ให้ประโยชน์น้อยกับคนจำนวนมาก

”ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่การเปลี่ยนแปลง แต่เป็นเรื่องของระบบการจัดการทางเศรษฐกิจและการเมือง เพราะตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาได้มีการเรียนรู้แล้วว่า การใช้แนวคิดเรื่องระบบการค้าเสรีแบบสุดโต่งนั้นไม่ได้ผล เพราะจากสถิติที่อ้างอิงได้คือ ระบบดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้ประเทศที่ยากจนดีขึ้นมา แต่ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนกับมีมากขึ้น โดยเปรียบจากปี ค.ศ. 1980 กับค.ศ. 1990 เพิ่มขึ้นจาก 77 เท่าเป็น 122 เท่า ซึ่งหากสูตรการค้าเสรีได้ผลช่องว่างดังกล่าวจะต้องลดลง นอกจากนี้10 ปีที่ผ่านมาประเมินผลแล้วประเทศที่ไม่ยอมตาม WTO และ IMF รอดตัว แต่ประเทศที่ยอมตามนั้นกลับแย่หมด”ศ.ดร.ชัยอนันต์กล่าว

นอกจากนี้ ศ.ดร.ชัยอนันต์ ยังกล่าวว่า การรุกของโลกานุวัตรยุคใหม่มีมาในหลายรูปแบบใช้กลไกการตลาดมาบีบบังคับประเทศที่ด้อยกว่าและมีการให้ IMF มาบีบรัฐบาลในเรื่องค่าใช้จ่ายทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องลำบาก หรือแม้แต่การกู้เงินจากธนาคารโลกมาเพื่อการปฏิรูประบบราชการที่มีดอยเบี้ยสูงถึงร้อยละ 6.75 ตนเคยแนะนำให้คืนไปและเสียค่าปรับดีกว่าที่จะจ่ายดอกเบี้ยแต่รัฐบาลก็ไม่ฟัง เป็นการเสียค่าโง่ยิ่งกว่าค่าโง่ทางด่วนเสียอีก เป็นค่าโง่ที่เกิดจากโลกานุวัตร และล่าสุดเรื่องทุนทางปัญญาเรื่องสมุนไพรของไทย ซึ่งเหลืออยู่ก็กำลังถูกรุกราน

“ทุกวันนี้เรามีแต่พวกสุกๆดิบๆคนที่มีบทบาทกำหนดนโยบายเป็นพวกสุกๆดิบๆเยอะมาก ปัญหาโลกานุวัตร เป็นเรื่องใหญ่ทำให้เราพลาด แต่ถ้าจะไม่ให้พลาดอีกต้องส่งเสริมให้มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และรู้เท่าทัน” ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยกล่าว

ผศ.ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้ร่วมเสวนากล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่เห่อโลกานุวัตรมากกว่าชาติใดๆในโลก จึงเป็นชาติแรกอีกเช่นกันที่ถูกตะวันตกเข้ามากอบโกยเงินออกไปเพียงชั่วข้ามคืนจนเกือบหมดประเทศ แต่ทุนนิยมตะวันตกก็ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น แต่กลับเปิดแนวรุกใหม่ด้วยการมองไปที่ทรัพยากรธรรมชาต ิทั้งทางเทคโนโลยีชีวภาพ และวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่มีอยู่ในประเทศ โดยพยายามให้เปิดป่าอย่างเสรี แต่เบื้องหลังมีวาระซ่อนเร้น เราจึงต้องรู้ให้เท่าทันคนพวกนี้

ส่วนนางสาวสุกัญญา หาญตระกูล อดีตสมาชิกผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนหญิงและมูลนิธิพิทักษ์สิทธิหญิงบริการ กล่าวว่า ประเทศไทยต้องใช้ภูมิปัญญาจากความเป็นชาติเล็กๆ สร้างพลังให้ตัวเองไม่ให้ตัวเองเสียเปรียบ ต้องมองยุทธศาสตร์ในเชิงรุกผลักดันให้ตะวันตกกดดันเราน้อยลงโดยต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในกระแสหลัก โดยใช้ทุนที่มีอยู่ของเรา เช่น ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางพุทธศาสนา ทุนทางทรัพยากรให้เป็นประโยชน์

นายชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ นักกิจกรรมจากบางกอกฟอรั่ม ให้ความเห็นว่า วิกฤตต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกมาจากประเทศที่ใหญ่กว่าพยายามครอบงำประเทศที่เล็กกว่า เพราะมนุษย์มีความโลภ และที่ผ่านมาคนไทยใช้ชีวิตอยู่ด้วยความประมาทไม่ใช้ชีวิตด้วยสติปัญญา ต่อไปนี้เราควรใช้หลักหยินหยางหรือทางสายกลางในศาสนาพุทธรับมือกับโลกยุคโลกานุวัตร ส่วนจุดจบของโลกานุวัตรนั้นเชื่อว่าวันหนึ่งระบบจะเป็นตัวทำลายตัวของมันเอง

สำหรับทางออกในเรื่องโลกานุวัตรสำหรับประเทศไทยนั้น ศ.ดร.ชัยอนันต์ เสนอแนะว่า ยุทธศาสตร์ของโลกานุวัตรนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่ไม่สุดโต่งคือ ไม่มีอะไรได้หมดเสียหมดอย่างระบบโลกานุวัตรในทุกวันนี้ สำหรับสังคมไทยนั้นเรายังมีทุนทางปัญญาอีกมากที่จะมาช่วยพยุงสังคมให้คงอยู่ เช่น ทุนทางพุทธศาสนา ทุนทางทรัพยากร ทุนทางวัฒนธรรม เราจึงควรใช้ฐานความรู้เหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ เพราะถ้าปล่อยให้ระบบโลกานุวัตรมาจัดการกับสิ่งเหล่านี้ ระบบโลกนุวัตรนั้นไม่สิ้นหรอกแต่ประเทศเราจะสิ้นเอง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.