|
AMATAเดินหน้ายกระดับโฮลดิ้งส์คัมปานี
ผู้จัดการรายวัน(22 พฤศจิกายน 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
AMATA เร่งหาพาร์ตเนอร์ร่วมทุน ทำเป้าตั้งบริษัทในเครือให้ครบ 50 แห่ง ใน 5 ปี ยกระดับเป็นโฮลดิ้งส์คัมปานี จากการรับรู้รายได้ของบริษัทร่วมทุนที่จะเข้ามามากกว่ารายได้จากการขายที่ดินเหมือนปัจจุบัน เตรียมเดินสายโรดโชว์ต่างประเทศดูดนักลงทุนมาลงทุน ในนิคมฯ
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (AMATA) เปิดเผยว่าในระยะเวลาจากนี้ไป 5 ปี บริษัทต้องการมีบริษัทในเครือให้ได้ถึง 50 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่เพียง 10 แห่ง และต้องการให้มีธุรกิจครบวงจรในกลุ่มบริษัทด้วย
โดยการลงทุนในการก่อตั้งบริษัทแต่ละแห่งนั้น AMATA จะใช้กลยุทธ์ในการร่วมทุน ด้วยการใช้ที่ดินแปลงเป็นหุ้นในการถือร่วมกับพาร์ตเนอร์เพื่อตั้งบริษัทใหม่ที่จะตั้งขึ้น และจะใช้เงินสดในการร่วมลงทุนให้น้อยที่สุดเพราะไม่ต้องการกู้เงินเพิ่มเพื่อการลงทุน
โดยการร่วมทุนที่จะเกิดขึ้นแต่ละบริษัท ผู้ร่วมทุนจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ เป็นอย่างดี เพราะ AMATA ต้องการให้งานเริ่มได้ ทันทีหลังจากที่มีการตกลงในสัญญาร่วมทุนกันเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้รายได้ใหม่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และการร่วมทุนบริษัทในธุรกิจที่ถนัด และชำนาญบริษัทจะต้องเป็นฝ่ายถือหุ้นใหญ่ แต่หากเป็นธุรกิจที่พาร์ตเนอร์ชำนาญมากกว่าก็ต้องยอมถือส่วนน้อย
นายวิบูลย์กล่าวว่า จากเดิมรายได้ในปัจจุบันของ AMATA ที่มีจากการขายที่ดิน และให้บริการสัดส่วน 80% และ 20% หลังจากที่มีบริษัทร่วมทุนเกิดขึ้นได้ถึง 50 แห่งแล้ว จะทำให้สัดส่วนในอนาคตค่อยๆ เปลี่ยนไป จนในที่สุดก็อาจทำให้รายได้จากการขายที่ดินลดลงเหลือเพียง 20% และรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นไปที่ 80%
ปัจจุบัน AMATA มีบริษัทในเครือ 10 แห่ง คือ บริษัท อมตะซิตี้ จำกัด บริษัท อมตะ (เวียดนาม) จำกัด บริษัท อมตะ ควอลิตี้ จำกัด บริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้เซอร์วิส จำกัด บริษัท อมตะ ดองกั๊ว จำกัด บริษัท อมตะ แมนชั่น เซอร์วิส จำกัด บริษัท อมตะ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด บริษท อมตะคอนโดทาวน์ ระยอง จำกัด บริษัท อมตะ พาวเวอร์ จำกัด บริษัท จัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด
ล่าสุดคือการร่วมทุนกับ บริษัท อมตะ ซัมมิท เรดดี้ บิลด์ จำกัด ที่ AMATA มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ถือหุ้น 49% และบริษัท เวีย โลจิสติกส์ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 120 ล้านบาท ชำระเต็มจำนวนแล้ว โดยที่เลือกนักลงทุนจากญี่ปุ่น จะเห็นว่าการร่วมทุนจัดตั้งบริษัทส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนญี่ปุ่น เพราะนักลงทุนที่เข้ามาเช่าพื้นที่ในนิคมของ AMATA ทั้งสองแห่ง จะเป็นญี่ปุ่นและไต้หวันเป็นหลัก ซึ่งเป้าหมายของบริษัทคือต้องการจะตั้งบริษัทร่วมทุนให้ได้ปีละ 12 บริษัท
ส่วนจีนขณะนี้ผู้บริหารได้เริ่มเดินทางเพื่อไปเจรจาดึงดูดให้นักลงทุนที่จีนเข้ามาลงทุนที่นี่ โดยเป้าหมายคือให้เข้ามาตั้งโรงงานหรือเช่าพื้นที่ในนิคมของ AMATA เพิ่มขึ้น เพราะจีนถือว่าเป็นตลาดใหม่ที่มีนักลงทุนหน้าใหม่เกิดขึ้นมาก จึงเป็นโอกาสที่จะดึงนักลงทุนเข้ามาได้ แต่ปฏิเสธที่จะร่วมทุนกับจีน เพราะวัฒนธรรมการทำงานต่างกัน และปลายเดือนนี้จะเดินทางไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นเป็นตลาดที่ AMATA เลือกที่จะเข้าไปหาอย่างตั้งใจและโอกาสการร่วมทุนก็จะเกิดได้
สำหรับปีนี้ เป้าหมายการทำยอดขายของนิคมฯ อมตะนครอยู่ที่ 600 ไร่ ซึ่ง 9 เดือนขายได้แล้ว 717 ส่วนอมตะ ซิตี้ เป้าหมาย 500 ไร่ ขายได้แล้ว 415 ไร่ ส่งผลให้ยอดขายที่ตั้งไว้ 1,100 ล้านบาท โดย 9 เดือน ทำได้แล้ว 1,132 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากราคาต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ทั้งราคาเหล็ก ตลอดจนวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ปรับเพิ่มขึ้นนั้น ส่งผลให้บริษัทอาจต้องปรับเพิ่มราคาค่าเช่าและการขายพื้นที่ในนิคมฯ แต่ต้องปรึกษากับคณะกรรมการบริษัทก่อนว่าจะปรับหรือไม่อย่างไร และบริษัทยังจะปรับกลยุทธ์ในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อลดต้นทุน ซึ่งเป็นไปตามแผนงานของบริษัทที่ตั้งเป้าไว้ว่าปี 48 จะลดต้นทุนในการดำเนินงานของบริษัทด้วย
นอกจากนี้ AMATA ยังต้องการ ร่วมทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโทรศัพท์ เพราะปัจจุบันค่าโทรศัพท์ที่ต้องจ่ายชำระเดือนละกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งหากลดต้นทุนทางนี้ได้จะลดภาระให้กับบริษัทได้พอสมควร ซึ่งเรื่องนี้ AMATA ยังรอจังหวะของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และในอนาคตบริษัทจะต้องเป็นธุรกิจที่ครบวงจรในที่สุด แน่นอนว่าอนาคต AMATA จะกลายเป็นโฮลดิ้งส์ คัมปานีในที่สุด เพราะรายได้จากบริษัทร่วมทุนต่างๆ จะเข้ามาแทนการขายที่ดินเป็นหลักต่างจากอดีต
สำหรับปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ 3 พันล้านบาท และกำไร 1 พันล้านบาท ส่วนปี 48 ตั้งเป้าไว้ที่ 3,500 ล้านบาทและกำไร 1,500 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|