|
คณะทำงานย้ำขอเวลา1ด.สรุปแผนร่วมทุนใหม่ทีพีไอ
ผู้จัดการรายวัน(16 พฤศจิกายน 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
คณะกรรมการจัดหาผู้ร่วมทุนฯทีพีไอ กำหนดกรอบดำเนินงาน คาดใช้เวลา 1 เดือน สามารถสรุปรายละเอียดพันธมิตรผู้ร่วมทุนรายใหม่ ทั้งรายชื่อ หลักเกณฑ์ สัดส่วนการถือหุ้น รวมถึงราคาเสนอขาย ย้ำจัดสรรหุ้นจำนวน 1.7 หมื่นล้านหุ้น อย่างเป็นธรรม พร้อมหารือเป็นทางการกับ ปตท. ระบุเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุด ต้องมั่นใจสามารถบริหารกิจการได้
วานนี้ (15 พ.ย.) นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะทำงานจัดหาผู้ร่วมทุน การจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนทีพีไอ และการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนในส่วนของบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) ในส่วนที่ทีพีไอถืออยู่ ได้จัดให้มีการประชุมคณะทำงานเป็นครั้งแรก หลังจากได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายศุภรัตน์ กล่าวว่า บทบาทและหน้าที่ของคณะทำงานฯชุดนี้ คือ การดำเนินการจัดหาผู้ร่วมทุน จัดสรรหุ้นส่วนทุน รวมถึงการจัดสรรหุ้นในบริษัททีพีไอ โพลีน ที่ทีพีไอถืออยู่กว่า 240 ล้านหุ้น เพื่อนำไปชำระหนี้เจ้าหนี้จำนวนกว่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการ
โดยที่ประชุมได้สรุปกรอบกว้างๆ เกี่ยวกับการจัดสรรหุ้นว่า จะมีการจัดสรรให้กับผู้ร่วมทุนใหม่ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหนี้ เจ้าของเดิม ผู้ถือหุ้นเดิม โดยจะ นำมาจากหุ้นส่วนทุนที่เจ้าหนี้ได้รับจากการแปลงหนี้เป็นทุน และหุ้นใหม่จากการปรับลดราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ (ราคาพาร์) จาก 10 บาท เหลือ 1 บาท รวมประมาณ 17,000 ล้านหุ้น แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ คณะทำงานฯ จะสรุปรายชื่อผู้ร่วมลงทุน สัดส่วนการถือหุ้น ราคาเสนอขาย และสัดส่วนการจัดสรรให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับทีพีไอได้ชัดเจนภายในเวลา 1 เดือน
สำหรับในส่วนของเจ้าหนี้นั้น ที่ผ่านมาไม่ได้มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า ต้องการคงสัดส่วนหุ้นที่ได้รับจากการแปลงเป็นทุนในสัดส่วนเท่าใด แต่การที่เจ้าหนี้นำหุ้นที่ได้รับจากการแปลงเป็นทุนมากองไว้ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการจัดสรรนั้น เป็นเพราะต้องการการบริหารงานสามารถเดินหน้าไปได้ เพราะวัตถุประสงค์ของเจ้าหนี้ ไม่ได้ต้องการเข้ามาเป็นผู้บริหารกิจการเอง แต่ต้องการได้รับชำระหนี้คืนมากกว่า
ส่วนประเด็นเกี่ยวกับการจัดสรรหุ้นให้กับนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีพีไอนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่า จะได้รับการจัดสรรหุ้นอย่างไร แต่ในเบื้องต้นการจัดสรรหุ้นจะอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม ทั้งลูกหนี้ เจ้าของเดิม รวมถึงผู้ถือหุ้นรายย่อยด้วย
ส่วนพันธมิตรรายใหม่ ที่ได้มีการเจรจาไปก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีการยื่นเงื่อนไขใดๆ เข้ามาหรือไม่นั้น นายศุภรัตน์ กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการหารือกันอย่างเป็นทางการก่อน แต่หาก ปตท.เข้ามาเป็นผู้ร่วมทุนแล้ว ถือว่าเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุด ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่จะมีผลต่อการตัดสินใจคือ มั่นใจว่า หลังจากที่ร่วมทุนแล้วจะต้องสามารถบริหาร กิจการได้ ซึ่งในเรื่องนี้ ปตท.มีสิทธิ์ที่จะเสนอเงื่อนไขต่างๆ ได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|