โลตัสยุบเคาน์เตอร์เจมาร์ทออก


ผู้จัดการรายวัน(27 กุมภาพันธ์ 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดฝันว่า เทสโก้ โลตัส จะลงมาเล่นธุรกิจขายโมบายเอง โดยจะทำแผนก โลตัส โมบาย ในห้างเทสโก้โลตัสของตนเองทุกสาขา เนื่องจากมองเห็นว่าธุรกิจการจำหน่ายมือถือเป็นดาวรุ่งในยุคนี้

กระแสความเคลื่อนไหวของเทสโก้ครั้งนี้ สร้างความหวั่นวิตกให้กับค่ายผู้ประกอบการร้านจำหน่ายมือถือทั้งรายใหญ่รายเล็กในเทสโก้ ต้องเกิดความนระส่ำระสายไปตามๆกัน ถ้าหากเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อใด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่ายเจมาร์ท ซึ่งถือเป็นรายใหญ่และเป็นผู้เปิดตลาดมือถือในเทสโก้โลตัสให้เป็นรายแรกนั้น ก็ยังมึนอยู่เหมือนกันในช่วงแรกๆ

นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท จำกัด ยอมรับว่า หากเจมาร์ทต้องหยุดการขายมือถือในเทสโก้โลตัสเพราะว่าเทสโก้จะมาทำเองนั้น คงมีผลกระทบกับยอดขายของบริษัทฯอย่างแน่นอน ทีมบริหารของเทสโก้โลตัสต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนของเจมาร์ท ต้องคำนึงด้วยว่าเจมาร์ทเป็นรายแรกที่เข้าไปทำการขายมือถือในเทสโก้โลตัสในแผนกโอเอเมื่อเกือบ 4-5 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า ล่าสุดได้มีการประชุมและเจรจาอย่างเป็นทางการกับทีมบริหารของเทสโกโลตัสนำโดย นายเจฟฟ์ อดัมส์ ซึ่งเป็นรองประธานและเป็นเบอร์สองของคณะผู้บริหารเทสโก้โลตัสในไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเพื่อที่จะหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ผลสรุปของการเจรจาออกมา โดยเป็นที่ยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย หลังจากที่เกิดความแคลงคลางใจกันขึ้นก่อนหน้านี้ โดยเทสโก้โลตัสยังคงจะดำเนินธุรกิจ โลตัสโมบายต่อไปตามแผนงานเดิม และจะเป็นผู้บริหารพื้นที่เองอยู่ภายในห้าง ขณะที่เจมาร์ท ซึ่งเดิมเป็นเพียงเคาน์เตอร์อยู่ในแผนกโอเอนั้นก็จะยุบร้านออกไป แล้วออกมาตั้งใหม่ในพื้นที่ส่วนของพลาซ่าของเทสโก้โลตัสทุกสาขาเป็นการทดแทน

เดิมทีเจมาร์ททำธุรกิจโดยใช้ระบบ Consignment หรือการแบ่งเปอร์เซนต์จากยอดรายได้ให้กับเทสโก้ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปแล้วแต่ประภทของสินค้า ซึ่งมีตั้งแต่ 5% 6% 7% 8% จนถึง 10% ขึ้นไปก็ยังมี ซึ่งเจมาร์ทมีเคาน์เตอร์ในแผนกโอเอทุกสาขาของเทสโก้ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ขณะเดียวกันก็ยังมีสาขาที่เป็นรูปแบบร้านเจมาร์ทหรือช็อปด้วยตั้งอยู่ในพื้นที่พลาซ่าของเทสโก้จำนวน 3 สาขา คือ ชลบุรี อุดรธานี อุบลราชธานี ซึ่งเป็นการเช่าพื้นที่ไม่มีการแบ่งเปอร์เซนต์จากรายได้

“การสรุปเป็นแนวทางนี้ทำให้ เจมาร์ทต้องลงทุนเพิ่มเพื่อเช่าพื้นที่ใหม่ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่า จะเป็นการเปิดร้านหรือเป็นเพียงแค่คีออสในพลาซ่าเท่านั้น เพราะหลังจากนี้จะต้องมาเจรจาในรายละเอียดอีกครั้งว่าจะทำอย่างไร รวมทั้งจุดขายในเคาน์เตอร์จะต้องเริ่มทยอยปิดหลังจากนี้แล้ว และเริ่มเปิดในสาขาใหม่ๆพร้อมกันไปด้วย”

เขายอมรับว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดคิด ดังนั้นงบประมาณที่จะนำมาลงทุนในส่วนนี้คงต้องมีการจัดตั้งงบประมาณกันใหม่ จากเดิมที่แผนการขยายสาขาในส่วนที่เป็นของบริษัทฯเองในปีนี้ ตั้งงบประมาณโดยรวมไว้ที่ 120 ล้านบาท จำนวน 30 สาขา หรือเฉลี่ย 4 ล้านบาทต่อสาขา

“เป็นการจบลงด้วยความพอใจของทั้งคู่ เพราะเทสโก้โลตัสก็ไม่อยากเสียเรา เราเองก็ทำการค้าที่ดีในเทสโก้มาตลอด เป็นความเข้าใจกันดีแล้วในปัจจุบันนี้”” นายอดิศักดิ์ย้ำ

ความสัมพันธ์ระหว่าางเจมาร์ทกับเทสโก้โลตัสยังดีอยู่เหมือนเดิม เพราะไม่เช่นนั้นเทสโก้คงไม่หาทางออกแบบนี้ให้ ซึ่งก่อนหน้านั้น เมื่อต้นปีที่แล้ว ทางเทสโก้ยังเคยมอบรางวัลให้กับร้านเจมาร์ทสาขาชลบุรีและสาขาอุบลราชธานี ในด้านการตกแต่งและก่อสร้างร้านค้ามาแล้วด้วย

นอกจากในเทสโก้โลตัสนี้แล้ว เจมาร์ทยังมีการทำธุรกิจในโมเดิร์นเทรดอีก 2 แห่งคือ ที่บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ ทุกสาขาซึ่งมีจุดขายทั้ง 2 แบบคือ การเช่าพื้นที่เปิดเป็นร้านในพลาซ่ากับการแบ่งเปอร์เซนต์ กับจุดขายในสยามจัสโก้ จำนวน 4 สาขา มีลักษณะเป็นการแบ่งเปอร์เซนต์จากยอดรายได้ให้กับเจ้าของพื้นที่ ซึ่งเขายืนยันว่า อีก 2 ห้างนี้ยังไม่มีปัญหาเหมือนกับกรณีเทสโก้โลตัสเกิดขึ้นแต่อย่างใด

เครือข่ายเจมาร์ทที่เหลือยังมีที่แฟชั่นไอส์แลนด์ ตะวันนาพลาซ่า อิมพีเรียลสำโรง เซ็นทรัลพลาซ่า ไอทีมอลล์ เดอะมอลล์ โรบินสัน สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส 10 สาขา

สำหรับสัดส่สวนรายได้ของเจมาร์ทนั้นมาจากช่องทางโมเดิร์นเทรดประมาณ 25% ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลย ดังนั้นหากมีปัญหากับเทสโก้โลตัสขึ้นมาย่อมส่งผลกระทบกับยอดรายได้รวมแน่นอน

ปัจจุบันเจมาร์ท มีสาขาเปิดบริการทั้งสิ้น 120 แห่ง แบ่งเป็นของบริษัทฯประมาณ 80 แห่ง รูปแบบคีออสและเคาน์เตอร์ 30 กว่าแห่ง และร้านของแฟรนไชส์ประมาณ 6 แห่ง คือ ที่ ชุมพร หาดใหญ่ ตราด ศรีษะเกษ เชียงใหม่ กรุงเทพฯ

สำหรับแผนการดำเนินงานของเจมาร์ทในปีนี้ นายอดิศักดิ์กล่าว่า มีแผนที่จะเพิ่มทุนจดทะเบียนในเร็วๆนี้ 50 ล้านบาท จากเดิมที่มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท และจะเพิ่มอีก 50 ล้านบาทในช่วงกลางปี เพื่อให้ทุนจดทะเบียนเป็น 200 ล้านบาท ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในกรกฎาคมนี้จากเดิมที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้

ส่วนแผนการขยายสาขานั้น ในปีนี้กำหนดที่จะเพิ่มสาขาทุกรูปแบบให้ได้ 80 สาขา โดยเน้นในตลาดต่างจังหวัดมากเป็นหลัก เพราะยังมีอีกหลายจังหวัดและหลายพื้นที่ที่มีศักยภาพ แต่การรองรับยังไปได้ไม่ถึง โดยขณะนี้สัดส่วนช่องทางการจำหน่ายแบ่งเป็น กรุงเทพฯกับต่างจังหวัดเท่ากันคือ อย่างละ 50% แต่ในปีนี้บริษัทฯมีเป้าหมายที่จะปรับสัดส่วนใหม่โดยให้ช่องทางในต่างจังหวัดเพิ่มเป็น 65% และกรุงเทพฯเหลือ 35% เท่านั้น

ลักษณะของร้านที่จะเปิดปีนี้แบ่งเป็น ร้านของบริษัทฯเอง 30 แห่ง ร้านของแฟรนไชส์ 30 แห่ง และจุดบริการแบบคีออสอีก 20 แห่ง เป็นการลงทุนของบริษัทฯเองเช่นกัน ซึ่งถือได้ว่าปีนี้จะเป็นปีที่บริษัทฯมีการขยายตัวมากที่สุดตั้งแต่เปิดกิจการมากว่า 10 ปี โดยมีการเพิ่มสาขามากที่สุด

อย่างไรก็ดีสาขาจำนวนนี้ยังบริารครอบคลุมเพียงแค่ 40-50% เท่านั้นของพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ในแง่ของกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ๆนั้นแทบจะครอบคลุมหมดแล้ว

เขาย้ำด้วยว่า ช่องทางจำหน่ายของเจมาร์ทเวลานี้มีทั้งสิ้น 4 รูปแบบคือ ร้านเจมาร์ททั้งของบริษัทฯและแฟรนไชส์ 2.ขายผ่านเว๊บไซต์ 3.ขายผ่านเดลิเวอรี่ เบอร์ 1117 ซึ่งเริ่มเมื่อปีที่แล้ว ขณะนี้มียอดขายประมาณ 5 ล้านบาทต่อเดือน 4.ขายผ่านเคาน์เตอร์และคีออส

นอกจากนั้นจะมีการรีโนเวทร้านเป็นคอนเซ็ปท์ใหม่หมด ซึ่งบางสาขาจะปรับเป็นแบบ เจมาร์ท ไอทีโซลูชั่น ซึ่งร้านแบบนี้จะมีสินค้าไอทีจำหน่ายด้วย ปัจจุบันมีประมาณ 16 สาขา ตั้งเป้าปีนี้เพิ่มเป็น 25 สาขา ซึ่งสินค้าไอทีทำสัดส่วนรายได้ให้กับบริษัทประมาณ 15%

ขณะเดียวกันได้มีการแต่งตั้งทีมตลาดขึ้นมาใหม่ 2 ทีม โดยทีมแรกจะดูแลสินค้าไอทีโดยเฉพาะ และอีกทีมดูแลการตลาดทั้งหมด ด้วยการได้นายวิบูลย์ เรืองเกรียงสิน เข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบ

“เราขยายตัวมาก เพราะว่าเราต้องสร้างศักยภาพให้ตลาดได้เห็น และตลาดรวมมันโต เราต้องรักษาส่วนแบ่งของเราเอาไว้ และเพิ่มขึ้นด้วย ตอนนี้เรามีแชร์ประมาณ 6-7% คาดว่าปีนี้น่าจะมีแชร์ 10% ในตลาดมือถือ จากตลาดรวมประมาณ 8 ล้านเครื่องในปีนี้ ”

สำหรับผลประกอบการปีที่แล้งทั้งกรุ๊ปมีประมาณ 2,100 ล้านบาท มีกำไรประมาณ 60 ล้านบาท คาดหวังปีนี้จะมีรายได้เป็น 4,000 ล้านบาท โดยมี 3 ธุรกิจหลักคือ ธุรกิจขายมือถือ อุปกรณ์เสริม ธุรกิจบริหารหนี้สิน ปีนี้ตั้งงบประมาณโฆษณาไว้ที่ 80 ล้านบาท สวนงบการตลาดรวมประมาณ 3% จากยอดขาย และปีหน้าคาดรายได้เพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.