6แบงก์ร่วมปล่อยกู้กัลฟ์ฯสร้างโรงไฟฟ้า2.7หมื่นล.


ผู้จัดการรายวัน(15 พฤศจิกายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ทหารไทย-นครหลวงไทย ร่วมกับธนาคารพาณิชย์อีก 4 แห่ง ปล่อยกู้บริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด มูลค่ารวมกว่า 27,734 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าแก่งคอยโรงที่ 2 พร้อมคาดการณ์ปี 2548 บริษัทเอกชนแห่ขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นเพื่อปรับโครงสร้างเงินทุน และบริหารความเสี่ยง ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ปรับกลยุทธ์เล็งปล่อยกู้เมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล หวังดันเป้าสินเชื่อโตระดับ 5-6% ในปีหน้า

วันนี้ (15 พ.ย.) ธนาคารพาณิชย์รวม 6 แห่ง ได้จัดให้มีพิธีลงนามในสัญญาสนับสนุนทางการเงิน (ซินดิเคตโลน) ให้กับบริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด วงเงินรวมประมาณ 27,734 ล้านบาท เพื่อนำไปสร้างโรงไฟฟ้าแก่งคอย โรงงานที่ 2

แหล่งข่าวจากผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อซิดิเคทโลนครั้งนี้ ถือเป็นรายที่มีวงเงินสูงรายหนึ่ง หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่าในปีหน้าจะเริ่มมีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น รวมทั้งจะเห็นปล่อยกู้ลักษณะซินดิเคตโลนของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น

สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมปล่อยกู้ ดังกล่าว มีธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นแกนนำในการปล่อยกู้ โดยมีสัดส่วนการปล่อยกู้ในวงเงินประมาณ 7,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 25.24% ของวงเงินปล่อยกู้ทั้งหมด และวงเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท หรือสัดส่วน 21.63% ตามลำดับ

ส่วนธนาคารพาณิชย์อีก 4 แห่งที่เหลือประกอบด้วย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ปล่อยกู้วงเงิน 6,734 ล้านบาท สัดส่วน 24.28% ธนาคารยูโอบี รัตนสิน จำกัด (มหาชน) และธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) วงเงิน 4,000 ล้านบาท สัดส่วน 14.43% ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) วงเงินปล่อยกู้ 2,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.21% และธนาคารออมสิน วงเงินปล่อยกู้ 2,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.21% โดยรวมวงเงินปล่อยกู้ทั้งสิ้นประมาณ 27,734 ล้านบาท

"ทิศทางของการปล่อยสินเชื่อซินดิเคตโลนนั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยระยะสั้น และดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเกิดความผันผวนของตลาดพันธบัตร ทำให้ลูกค้ารายใหญ่ที่มีศักยภาพสามารถออกพันธบัตรมาระดมทุนเองในตลาด เริ่มปรับวิธีที่การระดมทุน โดยจะแบ่งสัดส่วนของการกู้เงินจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น และลดสัดส่วนของการออกพันธบัตร เพื่อบริหารความเสี่ยง"

นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความเชื่อมั่นและมีการลงทุนใหม่ๆขึ้น ซึ่งการสร้างโรงไฟฟ้าเป็นโครงการพื้นฐานของประเทศ ทำให้เป็นที่สนใจของสถาบันการเงิน และยังมีบริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆที่ต้องการขยายกำลังการผลิต จากการใช้สต๊อกสินค้าหมดแล้ว ทำให้ต้องเพิ่มการผลิตให้เพียงพอต่อการบริโภค และที่สำคัญรัฐบาลได้ประกาศที่จะลงทุนเมกะโปรเจกต์

สำหรับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นนั้น เป็นเพียงการปรับดอกเบี้ยนโยบายของทางการ เพื่อป้องกันปัญหาเงินเฟ้อและเงินไหลออก ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของระบบสถาบันการเงิน เชื่อว่ายังคงอยู่ในอัตราเดิมระยะหนึ่ง เพราะยังคงมีสภาพคล่องเหลืออยู่ไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาท อีกทั้งการปล่อยสินเชื่อยังคงเป็นเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเท่านั้น โดยในปีหน้าสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์จะเติบโตประมาณ 5-6% และคาดว่าดอกเบี้ยเงินกู้และฝากอาจจะปรับขึ้นในไตรมาสที่ 3 หรือไตรมาสที่ 4 ของปี 2548


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.