ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสามารถกรุ๊ป

โดย ศิริเพ็ญ กระตุฤกษ์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ทิศทางของสามารถกรุ๊ปได้ถูกกำหนดไว้แล้ว หลังการตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคมอย่างจริงจังเมื่อ 5 ปีก่อนการเพิ่มขึ้นของรายได้จาก 100 ล้านเป็น 2,000 ล้านในปีนี้เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ไม่อาจปฏิเสธได้ การถลำลึกสู่เทคโนโลยีที่หยุดนิ่งไม่ได้เช่นนี้ การลงทุนจึงมีบทบาทสำคัญต่อการขยายธุรกิจในอนาคต นั่นคือเหตุผลประการสำคัญที่ทำให้สามารถกรุ๊ปจำเป็นต้องหาแหล่งระดมเงินทุนที่ดีที่สุดในประเทศ

ปี 2536 จะเป็นปีที่ "ไทยคม" ดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของประเทศไทยถูกส่งขึ้นไปโคจรอยู่ในห้วงอวกาศ ตามกำหนดแผนงานที่ชินวัตรเจ้าของสัมปทานโครงการดาวเทียมดวงนี้ได้วางไว้ นั่นหมายถึงระบบสื่อสารโทรคมนาคมของไทยจะพลิกโฉมหน้าสู่มิติใหม่ภายใต้อาณาจักรของดาวเทียมดวงนี้

ธุรกิจสื่อสารดาวเทียมมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทกำลังจะเกิดขึ้นและจะกลายเป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษนี้

การก้าวเข้ามาในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมเป็นครั้งแรกของค่ายยักษ์ใหญ่อย่างซีพี หรือธนายงน่าจะเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด

การพัฒนาระบบโทรคมนาคมของไทยเป็นแนวโน้มที่คนหรือหน่วยงาน ซึ่งอยู่ในธุรกิจนี้รู้ดีว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน อยู่ที่ว่าจะเป็นเมื่อไหร่เท่านั้น จะเห็นว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการโทรคมนาคม ทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างพากันเคลื่อนไหวในการสร้างเครือข่ายธุรกิจใหม่ๆ ขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อรองรับศักยภาพทางด้านการสื่อสารโทรคมนาคมที่คาดกันว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตที่ไม่ไกลเกินไปนัก

ช่วงนี้เองที่ชื่อของบริษัทในกลุ่ม "สามารถ" ปรากฏขึ้นในขอบข่ายของธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม โดยเฉพาะขายงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารผ่านดาวเทียม

หลายต่อหลายครั้งที่กลุ่มบริษัทสามารถชนะการประมูลและสามารถช่วงชิงงานในโครงการต่างๆ ที่หน่วยงานรัฐบาลจัดแข่งขันขึ้น ความพยายามที่จะเข้าไปในธุรกิจโทรคมนาคมอย่างจริงจัง ทำให้สามารถฯ ตัดสินใจลงสู่อุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งจุดนี้เองที่กลายเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้สามารถฯ อยู่เหนือคู่แข่งหลายราย รวมทั้งล็อกซเล่ย์ ซึ่งเป็นเจ้าตลาดในธุรกิจด้านนี้มาเป็นเวลานาน

การขยายธุรกิจและการเติบโตของกลุ่มสามารในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง โดยเฉพาะรายได้ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 20 เท่าในช่วงระยะเวลาเพียง 3 ปีที่ผ่านมา

จากงบการเงินในปี 2532 ปรากฏว่า กลุ่มบริษัทสามารถมีรายได้ทั้งหมด 103.16 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2535 (เป็นงบประมาณการ) กลุ่มบริษัทสามารถจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 2003.5 ล้านบาท ทำได้อย่างไร? เป็นประเด็นคำถามที่น่าสนใจยิ่ง

กลุ่มบริษัทสามารถเริ่มต้นธุรกิจมาจากร้านให้บริการซ่อมนาฬิกา-วิทยุ และติดตั้งเสาอากาศวิทยุโทรทัศน์เล็กๆ ที่ชื่อ "สามารถ" ในตลาดอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี เมื่อปี 2504 โดยมีเชิดชัย วิไลลักษณ์เป็นผู้บุกเบิกกิจการ

ในขณะที่เสาอากาศวิทยุโทรทัศน์ที่ขายในท้องตลาดขณะนั้นส่วนมาจะเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ราคาจึงค่อนข้างแพง ด้วยความรอบรู้ในเชิงช่าง บวกกับสายตามอันยาวไกล ทำให้เชิดชัยเกิดแนวความคิดที่จะพัฒนาและผลิตเสาอากาศวิทยุโทรทัศน์ขึ้นเอง ซึ่งจะทำให้ราคาถูกลง จนในที่สุดร้านสามารถก็ได้ทำการผลิตเสาอากาศวิทยุโทรทัศน์ออกขายในท้องที่จัดหวัดสระบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ด้วยราคาที่ถูกกว่าทำให้สินค้าของสามารถได้รับการยอมรับจากตลาดในระยะเวลาอันรวดเร็ว

แต่เชิดชัยคิดไปไกลกว่านั้น คือต้องการที่จะขยายตลาดให้กว้างมากขึ้น โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจของประเทศ ดังนั้นในปี 2509 เชิดชัยจึงย้ายโรงงานและสำนักงานมาอยู่ที่ซอยปลั่งวิถี ถนนพหลโยธิน ในเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่เศษ และได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทสามารถวิศวกรรม จำกัดขึ้น

ต่อมาเมื่อรัฐบาลได้จัดตั้งสถานีโทรทัศน์เพิ่มขึ้นอีกหลายช่อง และมีการขายเครือข่ายเขตบริการโทรทัศน์ส่วนภูมิภาค ทำให้ความต้องการเสาอากาศโทรทัศน์ในตลาดมีมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถวิศวกรรมจำเป็นต้องขยายกำลังการผลิต ดังนั้นในปี 2518 จึงได้ตั้งโรงงานและสำนักงานขึ้นที่ ก.ม.36 ตำบลคลองหนึ่ง จังหวัดปทุมธานี บนเนื้อที่ 16 ไร่เศษ อันเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมของกลุ่มบริษัทสามารถในปัจจุบัน

การบุกเข้าพื้นที่การขายโดยตรงทำให้เชิดชัยได้รับรู้ถึงสภาพปัญหาของคนอีกกลุ่มหนึ่งในชนบทที่อยู่ห่างไกล ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีโอกาสรับชมข่าวสารโทรทัศน์ ถึงแม้ว่าสถานีวิทยุโทรทัศน์ส่วนกลาง (ในปี 2524 สถานีโทรทัศน์กองทัพบทช่อง 7 ได้ทำการขยายเครือข่ายโทรทัศน์ส่วนภูมิภาค ด้วยระบบถ่านทอดดาวเทียมครอบคลุมพื้นที่เกือบทั่วประเทศ) จะขยายเขตบริการสู่ต่างจัดหวัดด้วยระบบดาวเทียมแล้วก็ตาม แต่ข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่อยู่อาศัยมีปัญหาการรับสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ อย่างเช่นอยู่ในหุบเขาจึงไม่สามารถรับสัญญาณจากสถานีถ่ายทอดเครือข่ายใดๆ ได้

ในปีนั้นเองเชิดชัยจึงได้มีความคิดที่จะพัฒนาและผลิตจานสายอากาศรับสัญญาณโทรทัศน์ตรงจากดาวเทียม จนกระทั่งสำเร็จในช่วงต้นปี 2525 และได้นำออกแสดงในงานฉลอง 200 ปีกรุงเทพมหานคร จากนั้นได้มีการนำจานสายอากาศวิทยุโทรทัศน์ไปติดตั้งในจังหวัดหรือพื้นที่ห่างไกล ที่ไม่สามารถรับสัญญาณโทรทัศน์จากสถานีถ่ายทอดภาคพื้นดิน ได้มีโอกาสรับชมข่าวสารเช่นเดียวกับคนในกรุงเทพฯ

หากจะพูดไปแล้วก็เป็นการช่วยสนับสนุนเสาอากาศทีวีให้ขยายตลาดได้กว้างขึ้นนั่นเอง

ความสำเร็จจากการวิจัยพัฒนาจานสายอากาศวิทยุโทรทัศน์ของสามารถวิศวกรรมในครั้งนี้ ได้กลายเป็นจุดเริ่มของความสำเร็จของกลุ่มบริษัทสามารถในเวลาต่อมา เพราะนอกเหนือจากการใช้รับสัญญาณโทรทัศน์ตรงจากดาวเทียมแล้ว ยังสามารถใช้งานด้านสื่อสารโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมได้อีกด้วย

ความสามารถในประเด็นนี้ได้ทำให้ธุรกิจของสามารถฯ แตกแขนงเครือข่ายเพิ่มขึ้น ในเวลาใกล้เคียงกัน คือในปี 2529 ได้มีการจัดตั้งบริษัทสามารถ เทเลคอม จำกัด ต่อมาในปี 2530 บริษัทสามารถเคเบิ้ล เน็ทเวิร์ค จำกัดเกิดขึ้น ติดตามมาด้วยบริษัทสามารถ แซทคอม จำกัดในปี 2531 บริษัทสามารถ คอมเทค จำกัดในปี 2532 และบริษัทสามารถ แอดแซท จำกัดเป็นบริษัทล่าสุดที่จัดตั้งในปี 2534

สามารถเทเลคอมเป็นบริษัทแรกที่แยกตัวออกมาจากสามารถวิศวกรรม โดยมุ่งหวังที่จะให้บริษํทใหม่แห่งนี้ดำเนินธุรกิจทางด้านโทรคมนาคม ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการสื่อสารเข้าผสมผสานในรูปแบบของระบบสื่อสารโทรคมนาคม แทนที่จะผลิตเสาอากาศและจานสัญญาณดาวเทียมเพียงอย่างเดียว

การเกิดขึ้นของสามารถเทเลคอมในขณะนั้นเป็นช่วงจังหวะเดียวกับที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ยุคของการสื่อสารผ่านดาวเทียมใหม่ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการและองค์กรต่างๆ เริ่มให้ความสนใจมากขึ้น

เป็นโอกาสของสามารถเทเลคอมเมื่อกรมการบินพาณิชย์เปิดให้มีการประมูลติดตั้งระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมที่สนามบิน 4 แห่ง คือ ที่กรุงเทพฯ, หาดใหญ่, อุบลราชธานี และเชียงใหม่ ปรากฏว่าในครั้งนั้น สามารถเทเลคอมสามารถเอาชนะคู่แข่งขันอย่างเอ็นอีซี จนได้งานชิ้นนี้ไปทำ นับเป็นการประมูลงานชิ้นแรกและเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคมของสามารถกรุ๊ป

นอกเหนือจากการออกแบบและติดตั้งระบบสื่อสารแล้ว ขอบข่ายการให้บริการระบบสื่อสารยังสามารถครอบคลุมถึงการออกแบบและติดตั้งระบบทีวีรวม และออกแบบและติดตั้งระบบสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้จะเป็นพวกโรงแรม อพาร์ตเมนต์ หรือคอนโดมิเนียม และทั้งหมดจะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ

สามารถเทเลคอมเริ่มต้นธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ สร้างคนขึ้นมา ในขณะเดียวกันก็ศึกษางานด้านอื่นด้วย นั่นคือการศึกษาเกี่ยวกับการสื่อสารข้อมูลผ่านดาวเทียม และในปี 2530 สามารถเทเลคอมจึงได้ยื่นขอสัมปทานการให้บริการสื่อสารข้อมูลผ่านดาวเทียมหรือวีแซท (VSAT-Very Small Aperture Terminal) จากกรมไปรษณีย์โทรเลขและได้รับการอนุมัติกลับมาในช่วงปลายปี 2531

หลังจากได้รับสัมปทานในการให้บริการสื่อสารข้อมูลผ่านดาวเทียมมาแล้ว สามารถเทเลคอมจึงโอนยานงานเดิมที่ทำอยู่ก่อนหน้านั้น มาให้บริษัทสามารถคอมเทค ซึ่งตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อรับช่วงงานต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเทเลคอมเน้นการให้บริการสื่อสารข้อมูลเป็นหลัก

ย้อนกลับไปในปี 2530 อีกครั้ง ปัญหาเรื่องพื้นที่ที่ไม่สามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ได้ ก็ยังมีอยู่โดยเฉพาะในค่ายทหารต่างจังหวัด อย่างเช่นที่ลพบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยภูเขา มีทางแก้ไขอยางไรที่จะทำให้ครอบครัวทหารซึ่งมีจำนวนหลายพันครอบครัวได้มีโอกาสดูทีวี เจ้าหน้าที่ทางฝ่ายทหารได้มีการขอคำปรึกษามายังสามารถฯ แต่เมื่อเสนอแนะให้ติดตั้งจานรับสัญญาณดาวเทียม ปรากฏว่าทางหน่วยงานทหารไม่มีงบประมาณ ทางสามารถฯ จึงหาทางแก้ปัญหาด้วยการเข้าไปลงทุนวางระบบเคเบิลทีวีให้กับค่ายทหารแห่งนั้น จนสามารถรับสัญญาณจากสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ได้ พร้อมทั้งเปิดช่องข่าวสารทหารให้อีก 1 ช่อง เป็นรายการบันเทิงที่ทางทหารเป็นผู้จัดทำ

การเข้าไปลงทุนวางระบบเคเบิลทีวีในลักษณะนี้ ทำในนามของบริษัทสามารเคเบิ้ล เน็ทเวิร์ค ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อบริหารธุรกิจนี้ โดยการเก็บค่าบริการบ้านละ 60 ต่อเดือน ต่อมาทางกองพลทหารราบที่ 9 ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรีก็เกิดความสนใจและขอให้บริษัทนี้เข้าไปลงทุนทำให้

จนถึงปัจจุบันการให้บริการของสามารถเคเบิ้ล เน็ทเวิร์คไม่ได้ขยายออกไปอีก คงหยุดเพียงแค่สองค่ายนี้เท่านั้น ถึงแม้ว่าทางทหารอยากให้ทำต่ออีกหลายค่ายก็ตาม ทั้งนี้เนื่องด้วยเหตุผลในเรื่องของกำลังคน และเวลาที่ต้องเจียดไปให้กับการบุกเบิกธุรกิจด้านอื่นแทน

"ระบบเคเบิลทีวีที่เราวางเป็นระบบเดียวกันกับที่ใช้ในอเมริกา คือวางพาดเสาไฟฟ้าจริงๆ เราถือว่า เป็นโครงการบุกเบิกในการทดลองนำเทคโนโลยีทางด้านนี้ มาใช้เป็นการฝึกคนให้เรียนรู้เทคโนโลยีด้านนี้ เราจึงลงทุนทำให้โดยไม่ได้หวังกำไร เป็นการช่วยเหลือกัน" ธวัชชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการของสามารถกรุ๊ปกล่าวถึงการลงทุนของสามารถเคเบิ้ล เน็ทเวิร์ค

จากรูปการณ์เช่นนี้คงไม่จำเป็นต้องอธิบายถึงสายสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มามารถกับทหาร ว่ามันจะแน่นแฟ้นและลึกซึ้งมากน้อยเพียงใด

การขยายงายของสามารถฯ ในขอบข่ายที่กว้างออกไปกว่าเดิมครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ลงตัวนักในช่วงนั้น แต่การได้เข้าไปสัมผัสทำให้สามารถฯ มองเห็นอนาคตและโอกาสที่จะเติบโตในธุรกิจโทรคมนาคมต่อไป

ดังนั้นการตัดสินใจที่จะลงลึกสู่ภาพการผลิตจึงเริ่มขึ้น โดยเริ่มที่ตัวหลักใหญ่ๆ ก่อน คือจานและเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม นั่นหมายถึงการถือกำเนิดของสามารถแซทคอม

ธวัชชัยอธิบายว่า "เราเริ่มรู้ความต้องการของคนซึ่งให้ความสนใจในเรื่องนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่กรมไปรษณีย์โทรเลขเริ่มมีความคิดที่จะปล่อยให้คนใช้จานรับสัญญาณดาวเทียมมากขึ้น ถึงแม้ว่าปัจจุบัน ประเทศไทยจะยังไม่เปิดเสรีในเรื่องดังกล่าวก็ตาม แต่เรามีความเชื่อว่าอนาคตจะต้องเปิดอย่างแน่นอน"

ประเด็นสำคัญที่จะทำให้ตลาดจานรับสัญญาณดาวเทียมบูมขึ้นมาได้ คือเรื่องราคา ซึ่งจะต้องถูกลง แต่เดิมจานรับสัญญาณดาวเทียมที่สามารถวิศวกรรมผลิตออกมาเป็นประเภทจานรับส่งสัญญาณดาวเทียม (Solid Aluminium Antenna) ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้เพื่อการสื่อสารคมนาคม มีขนาดใหญ่ราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นคอนเซ็ปต์ของการผลิตจานรับสัญญาณดาวเทียมของสามารถแซทคอมจำต้องเปลี่ยน ทั้งด้านรูปแบบ ขนาด ประโยชน์ใช้สอยและปริมาณการผลิต

และในที่สุดสามารถแซทคอมก็เลือกที่จะผลิตออกมาในรูปของจานรับสัญญาณดาวเทียมชนิดตะแกรง (Mesh Receiver only Antenna) ซึ่งมีขนาดเล็กและราคาถูกลง

นับเป็นความโชดดีของสามารถแซทคอมอย่างหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสพบกับผู้ผลิตจานรับสัญญาณดาวเทียมที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา คือ Ray DX จนกระทั่งถึงขั้นเจรจาซื้อโรงงานแห่งนี้ได้สำเร็จ

"ตอนแรกเราจะทำจานในนี้ เราดูว่าจานยี่ห้ออะไรดีที่สุดในโลกและสั่งซื้อมาดูแบบ เราก็พบจานของ Ray DX จึงมีการติดต่อกันซึ่งเขาก็ยินดีที่จะส่งจานมาให้เราดู จนกระทั่งรู้จักกันมากขึ้น ก็ได้มีการพูดถึงการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย ซึ่งทาง Ray DX เขาก็คิดอยู่ แต่เรื่องมันคงจะยุ่งยากโดยเฉพาะช่วงนั้น เขาเจอคู่แข่งจากเกาหลีและไต้หวันเข้ามาตีตลาดมาก ทำให้การแข่งขันสูงและเขามีท่าทีว่าจะเลิกทำ เราจึงเสนอขอซื้อทั้งโรงงาน ทางผู้ถือหุ้นเขาก็ตกลง ถ้าเราให้ราคาดี และในที่สุดเขาก็ตกลงขายให้เรา" เจริญรัฐ วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการของสามารถกรุ๊ปเล่าให้ฟัง ถึงการเข้าไปซื้อโรงงานผลิตจานรับสัญญาณดาวเทียมที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ด้วยวงเงินที่สามารถเปิดเผยได้

Ray DX สามารถทำยอดขายจานรับสัญญาณดาวเทียมได้สูงสุดปีละประมาณ 30,000-40,000 ชุด หรือประมาณ 400-500 ล้านบาท

สิ่งที่สามารถแซทคอมได้จากการซื้อ Ray DX ครั้งนี้ คือเครื่องจักรบางส่วน ลิขสิทธิ์แบบจานและเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักสำคัญและเป็นต้นแบบในการผลิตจานรับสัญญาณดาวเทียมให้กับสามารแซทคอม

ส่วนประกอบสำคัญอีกอ่างหนึ่งคือ เครื่องรับสัญญาณดาวเทียม ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีมาจากฝีมือของฝ่ายวิศวกรของสามารถแซทคอมเองทั้งหมด

สำหรับบริษัทในเครือสามารถอีกแห่งหนึ่ง ที่เพิ่งแยกตัวออกมาคือ สามารถแอดแซทนั้น เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีในการให้บริการของสามารถเทเลคอม ในลักษณะการให้บริการสื่อโฆษณาผ่านดาวเทียม ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของการส่งข้อมูลข่าวสารด้วยภาพไปยังสถานที่รับสัญญาณซึ่งติดตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยการเชื่อมโยงด้วยเครือข่ายการรับสัญญาณผ่านดาวเทียม ทำให้สามารถเลือกเวลา เลือกสถานที่ในการโฆษณาสินค้า เป็นทางเลือกใหม่ในการใช้สื่อโฆษณา

การเผชิญหน้าในสนามแข่งขันเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงต่อไปได้อีก เมื่อสามารถฯ กระโดดเข้ามาในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมอย่างจริงจัง

ธุรกิจที่สามารถฯ ต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงที่สุดในปัจจุบันคือ การให้บริการสื่อสารข้อมูลผ่านดาวเทียม (วีแซท) ซึ่งเป็นธุรกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบของสามารถเทเลคอม

บริษัทคอมพิวเนท คอร์ปอเรชั่นเป็นคู่แข่งรายแรกของสามารถเทเลคอมในธุรกิจด้านนี้ จากการได้รับอนุมัติสัมปทาน 15 ปีของกรมไปรษณีย์โทรเลขในเวลาใกล้เคียงกันกับสามารถเทเลคอม จึงถือว่าทั้ง 2 บริษัทเป็นผู้บุกเบิกการให้บริการวีแซทมาตั้งแต่ปี 2532

สามารถเทเลคอมค่อนข้างได้เปรียบในแง่ของการมีบริการให้เลือกมากแบบ และราคาค่าบริการถูกกว่า ทั้งนี้เนื่องมาจากกลุ่มสามารถมีฐานการผลิตจานดาวเทียมขายโดยเฉพาะ ขณะเดียวกันอุปกรณ์เชื่อมโยงที่ใช้ก็มีราคาถูก ทำให้ต้นทุนการให้บริการถูกกว่าคู่แข่งรายอื่น

ปัจจุบันสามารถเทเลคอมมีบริการหลากหลายรูปแบบดังนี้คือ

สามารถลิงค์ เป็นบริการสื่อสารข้อมูลผ่านดาวเทียมจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งเท่านั้น ซึ่งข้อมูลจะเป็นความลับ

สามารถเน็ท เป็นบริการสื่อสารข้อมูลผ่านดาวเทียมจากจุดหนึ่งไปยังหลายๆ จุด โดยข้อมูลนี้สามารถใช้ร่วมกันได้หมด

สามารถบรอดคาสต์ เป็นบริการสื่อสารข้อมูลได้ทางเดียว ไม่มีการตอบรับกลับ

สามารถสตอกลิ้งค์ เป็นบริการสื่อสารข้อมูลแบบโต้ตอบ ระหว่างสำนักงานใหญ่ของบริษัทสมาชิกกับสาขา หรือสำนักงานตัวแทนซื้อ-ขายหลักทรัพย์ เพื่อส่งคำสั่งขายจากห้องค้าในต่างจังหวัดเข้าสู่กรุงเทพฯ และยืนยันรายการกลับไปยังสาขา

สามารถพีอาร์เอส เป็นการส่งข้อมูลสื่อสารทางเดียวจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปยังบริษัทสมาชิกสาขาต่างจังหวัดและผู้สนใจลงทุนทั่วไป

สามารถอิเล็กทรอนิคส์ ดาต้า อินเตอร์เชนจ์ เป็นการส่งข้อมูลผ่านจอคอมพิวเตอร์และส่งสัญญาณโดยผ่านดาวเทียม บริหารนี้จะส่งข้อมูลหรือข้อความตอบกลับถึงกันได้หลายคน

เมื่อเทียบกับคอมพิวเนทแล้ว บริการที่ให้จะคล้ายคลึงกับบริการหลักๆ ของทางสามารถเทเลคอม คือ ดาต้าแซท, แซทลิงค์ และดาต้าแคสต์ จะเหมือนกับบริการของสามารถเน็ท, สามารถลิงค์ และสามารถบรอดคาสต์

การแข่งขันเริ่มเข้มข้นขึ้นตามลำดับเมื่อบริษัทอคิวเมนท์ได้รับสัมปทานจากองค์การโทรศัพท์ภายใต้โครงการไอเอสบีเอ็นในปี 2533 และบริษัทธนายงเป็นรายล่าสุดที่ได้รับสัมปทานโดยชนะการประมูลจากการสื่อสารแห่งประเทศไทยไปเมื่อต้นปี 2534

ความได้เปรียบของคู่แข่งขันทั้ง 2 รายที่เข้ามาใหม่คือ การให้บริการเสียงได้ด้วย นอกเหนือจากขอบข่ายการให้บริการด้านข้อมูลและภาพ กลายเป็นเรื่องที่ทำให้สามารถเทเลคอม และคอมพิวเนทต้องจำมือกันเข้าพบกระทรวงคมนาคม เพื่อเรียกร้องให้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ของการให้บริการ ซึ่งควรให้อยู่บนพื้นฐานเดียวกันหมด เพื่อที่จะได้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน

ถึงแม้ว่าการเรียกร้องดังกล่าวยังไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างไร ด้วยเหตุผลของเงื่อนไขทางข้อกฎหมายที่ยังไม่เอื้ออำนวย แต่สามารเทเลคอมก็ได้พยายามหาทางออก ด้วยการยื่นเรื่องขอโอนสังกัดจากกรมไปรษณีย์โทรเลขมาอยู่กับการสื่อสารแห่งประเทศไทย แม้ว่าผลประโยชน์จะต้องจ่ายเพิ่มจากเดิมที่เคยจ่าย 5% ของรายได้ให้กับกรมไปรษณีย์โทรเลขจะต้องจ่ายเพิ่มเป็น 20% ของรายได้ หากโอนมาสังกัดกับการสื่อสารแห่งประเทศไทยก็ตาม

ธุรกิจอีกประเภทหนึ่งที่กำลังขับเคี่ยวกันอย่างหนักในช่วงครึ่งหลังของปี 2534 คือ จานรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ความพยายามที่จะเปิดตลาดและเป็นผู้นำในธุรกิจด้านนี้ของสามารถแซทคอม กลายเป็นการสร้างโอกาสให้กับคู่แข่งที่เริ่มมองเห็นอนาคตของธุรกิจนี้เข้ามาในตลาดมากขึ้น

บริษัทเจ๊ปเซ่น แอนด์ เจ๊สเซ่น (ประเทศไทย) เป็นรายที่ 2 ที่เดินเข้ามาในตลาดนี้ด้วยการนำจานดาวเทียมภายใต้ชื่อ "แดนแซท" ตามด้วยบริษัทล็อกซเล่ย์ ซึ่งเบนเข็มไปนำเข้า "เพช" และ "เดรก" ภายหลังจากที่พ่ายแพ้ในการชิงสิทธิ์เป็นตัวแทนจำหน่าย "แอคโค่ สตาร์" ผลิตภัณฑ์จากอเมริกาซึ่งตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของสามารถเทเลคอม

น้องใหม่อีกรายที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่แล้วคือ บริษัทฟิวเจอร์ อิมเมจ จากการนำเข้ายี่ห้อ "ซีแซท" ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของอเมริกา แต่เป็นการนำเข้าจากสิงคโปร์ และรายล่าสุดที่เข้ามาคือ บริษัทเอ เอ แอรอนซึ่งจะลงสนามจานดาวเทียมด้วยการเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับ "โตชิบ้า"

การเข้ามาของคู่แข่งขันถึงแม้จะทำให้สามารถแซทคอมสูญเสียส่วนแบ่งตลาดที่เคยครองอยู่คนเดียวไปบ้าง แต่จานดาวเทียมสามารถก็ยังคงครองสัดส่วนตลาดในอัตราที่สูงอยู่ การมีฐานการผลิตภายในประเทศ รวมถึงการปูฐานด้านการจำหน่ายไว้อย่างมั่นคงและต่อเนื่อง ทำให้จานดาวเทียมของสามารถอยู่ในสภาพที่เป็นต่อคู่แข่งขันในทุกกระบวนท่า

โรงงานและสามารถแซทคอมสามารถผลิตได้ทั้งจานดาวเทียมและเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 700 ชุดต่อเดือน และเริ่มทำการผลิตมาตั้งแต่ปี 2533

ถึงแม้ว่าจะเป็นบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน แต่การผลิตที่ผ่านมายังคงเป็นการผลิตป้อนตลาดภายในประเทศเป็นหลัก แต่หลังจากปี 2535 ไปแล้วตลาดใหญ่ของจานดาวเทียมสามารถจะกลายเป็นตลาดต่างประเทศ โดยปัจจุบันสามารถแซทคอมมีลูกค้าอยู่ใน 30 ประเทศจากการขายโดยตรง และขายผ่านตัวแทนจำหน่ายซึ่งขณะนี้มีอยู่ 6 ประเทศ ในขณะที่มีตัวแทนจำหน่ายในกรุงเทพฯ ประมาณ 15 ราย และต่างจังหวัดอีก 45 ราย

ถึงวันนี้ธุรกิจของกลุ่มสามารถจะขยายตัวออกไปอย่างมากมายก็ตาม แต่กลุ่มสามารถยังคงหนีไม่พ้นข้อจำกัดของการเป็นบริษัทครอบครัว โดยเฉพาะข้อจำกัดในเรื่องของเงินทุน หากต้องการจะโตไปมากกว่านี้

แม้ว่าที่ผ่านมาธุรกิจในเครือของสามารถจะได้รับความสนใจจากบรรดายักษ์ใหญ่ในวงการโทรคมนาคม ทั้งในประเทศและต่างประเทศเสนอขอเข้าร่วมทุนด้วยก็ตาม แต่การตกลงในครั้งนั้นเป็นการตกลงในเงื่อนไขและเหตุผลที่ไม่ใช่เรื่องของเงินทุน

ในปี 2532 โอทีซี อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการทางด้านสื่อสารโทรคมนาคมระหว่างประเทศของออสเตรเลีย เข้ามาร่วมทุนกับสามารถเทเลคอมในธุรกิจให้บริการสื่อสารข้อมูลผ่านดาวเทียม โดยเข้าถือหุ้นจำนวน 40% ของทุนจดทะเบียนในสามารถเทเลคอม ส่วนที่เหลืออีก 60% เป็นของกลุ่มสามารถ

การเข้าของโอทีซีเป็นช่วงเดียวกันกับที่ สามารถเทเลคอมได้สัมปทานในการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมจากกรมไปรษณีย์โทรเลข การตัดสินใจให้โอทีซีเข้าร่วมทุนครั้งนั้น ก็ด้วยเหตุผลในเรื่องของเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบสื่อสารโทรคมนาคม ที่โอทีซีสะสมมานานกว่า 40 ปี ซึ่งแน่นอนว่าโอทีซีจะต้องถ่ายทอดความรู้ด้านนี้ให้กับสามารถเทเลคอมด้วย

เช่นเดียวกับการเข้ามาของบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ในปี 2533 โดยการเข้าร่วมทุนจำนวน 20% ในบริษัทสามารถแซทคอมผู้ผลิตจานดาวเทียม

ทักษิณ ชินวัตร ได้เจรจาที่จะขอเข้าร่วมทุนกับสามารถแซทคอม ก่อนหน้าที่จะยื่นประมูลโครงการดาวเทียมกับกระทรวงคมนาคมเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น

ถ้ามองจากจุดนี้ดูเหมือนว่าสามารถฯ ค่อนข้างจะมั่นใจในชัยชนะที่ชินวัตรจะได้รับจากการเข้าประมูลโครงการดาวเทียมครั้งนี้ เพราะนั่นหมายถึงธุรกิจมูลค่ามหาศาลที่จะต้องตามมาในอนาคตอย่างแน่นอน หลังจากที่ดาวเทียมถูกส่งขึ้นไปในอวกาศเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียม

ที่ผ่านมากลุ่มสามารถได้ใช้เงินลงทุนในการขยายกิจการออกไปจำนวนไม่น้อย โดยเงินที่ใช้ไปส่วนหนึ่งเป็นเงินของครอบครัว ส่วนที่เหลือหากไม่พอก็ขอกู้แบงก์ ซึ่งเป็นวิธีการทำธุรกิจแบบธรรมดาทั่วๆ ไป

แต่ในยุคของคนหนุ่มรุ่นลูกจากนี้ไป สามารถกรุ๊ปจะเปลี่ยนรูปแบบของการบริหารไปโดยสิ้นเชิง

เจริญรัฐและธวัชชัย วิไลลักษณ์ ทายาทสองพี่น้องของเชิดชัย วิไลลักษณ์ คือคนที่เข้ามามีบทบาทในการบริหารกิจการของสามารถกรุ๊ปตั้งแต่ปี 2529 และไม่ผิดนักถ้าจะพูดว่า การเติบโตของสามารถฯ ในยุคหลังเป็นผลงานของพวกเขา

เจริญรัฐเป็นคนหนึ่งอายุเพียง 31 ปี เรียนจบปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้ามาจากออสเตรเลีย เขาเป็นคนที่สนใจทางด้านอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียนมัธยม ถึงขั้นเปิดสมาคมอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นในห้องเรียน หลังจากที่เรียนจบกลับมา เจริญรัฐก็เข้าบริหารงานในบริษัทเทลคอมเป็นแห่งแรกในตำแหน่งรองประธานกรรมการ ด้วยความรักในงานด้านนี้นี่เองที่ทำให้เจริญรัฐให้ความสำคัญกับงานด้านวิจัยและพัฒนาเป็นพิเศษ และนั่นคือบทบาทที่เด่นที่สุดของสามารถกรุ๊ปในปัจจุบัน

ธวัชชัยเป็นคนที่มีบทบาทมากที่สุดในด้านการบริหารงานของสามารถกรุ๊ป ในฐานะกรรมการผู้จัดการ ธวัชชัยเรียนจบคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากเรียนจบ เขาได้เข้าร่วมงานกับบริษัทตรวจสอบบัญชีแห่งหนึ่ง ทำอยู่ 7-8 เดือนก็ลาออกไปเรียนต่อที่อังกฤษ แต่เรียนได้เพียงครึ่งปีก็ต้องเดินทางกลับเมืองไทย เนื่องจากพ่อ (เชิดชัย) เกิดป่วยกะทันหัน ในขณะที่พี่ชายก็ยังเรียนไปจบ ธวัชชัยจึงต้องเข้ามาช่วยบริหารกิจการในสามารถวิศวกรรม จนกระทั่งพี่ชายเรียนจบกลับมา และช่วยกันขยายธุรกิจของสามารถฯ ออกไป โดยมีเชิดชัยผู้เป็นพ่อคอยให้คำปรึกษา

การตัดสินใจที่จะนำบริษัทในเครือของสามารถกรุ๊ปเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับธุรกิจครอบครัวที่ดำเนินกิจการมานานกว่า 25 ปี

ด้วยเหตุผลสำคัญคือ การหาแหล่งเงินทุนในประเทศที่ต้นทุนต่ำที่สุด

ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ในขณะเดียวกันก็ต้องใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวผลกำไรจากการลงทุนนั้นค่อนข้างนาน ดังนั้นเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งที่จำต้องขยายธุรกิจอกไป แต่ต้องรอให้ธุรกิจที่ลงทุนไปนั้นออกดอกออกผลเพื่อนำมาลงทุนต่อ บางทีโอกาสมันไม่ได้หยุดรออยู่แค่นั้น

สามารถเทเลคอมใช้เงินลงทุนในการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับให้บริการสื่อสารข้อมูลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประมาณ 700-800 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นถึง 1,000 ล้านบาทในปีนี้ ขณะที่รายได้จะมาจากการคิดค่าบริการจากลูกค้าเป็นเดือน

เช่นเดียวกับสามารถเคเบิ้ล เน็ทเวิร์คที่ต้องใช้เงินในการลงทุนวางระบบเคเบิ้ลทีวีให้กับค่ายทหาร โดยลงทุนต่อค่ายประมาณ 20-30 ล้านบาท ต้องใช้เวลา 5-6 ปีจึงจะคุ้มทุน

สามารถแซทคอมใช้เงินลงทุนในการสร้างโรงงานผลิตจานดาวเทียมและเครื่องรับสัญญาณผ่านดาวเทียมเป็นเงินถึง 200 ล้านบาท ในขณะที่สามารถแอดแซทต้องใช้เงินลงทุนในการสร้างบิลบอร์ดตามจุดต่างๆ ในปีนี้กว่า 100 ล้านบาท

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมผลประกอบการของบริษัทในเครือข่ายสามารถปรากฏผลขาดทุนอยู่ในช่วง 1-3 ปีแรกของการดำเนินงาน

"สามารถจะเน้นหนักเรื่องสื่อสารดาวเทียมเป็นหลักจนกว่าจะเคี่ยว และบุคลากรพร้อมที่จะเติบโตไปด้านอื่นแล้ว เราค่อยไป อีก 1-2 ปีข้างหน้าเราต้องการเป็นบริษัทข้ามชาติขายอุปกรณ์ในนามของสามารถ" นั่นคือทิศทางและเป้าหมายของสามารถกรุ๊ปที่ธวัชชัยได้พูดถึง

สามารถต้องการนำเงินจากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปทำอะไร?

เมื่อธุรกิจของสามารถกรุ๊ปต้องอิงอยู่กับเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แผนกวิจัยและพัฒนาจึงเป็นเหมือนหัวใจสำคัญของธุรกิจโดยเฉพาะสายงานด้านการผลิต สามารถแซทคอมใช้เงินลงทุนในส่วนของแผนกวิจัยและพัฒนาปีละประมาณ 20-30 ล้านบาท เพื่อคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ออกมาใช้กับผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตจานดาวเทียม ซึ่งในระยะหลังมีการพัฒนาขึ้นไปมาก รวมถึงเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถแซทคอมพัฒนาขึ้นมาด้วยตัวเอง เริ่มต้นจากศูนย์จนก้าวข้นมาเทียบเคียงกับผลิตภัณฑ์ในตลาดชั้นนำของโลกได้

"เรามีที่ปรึกษาเป็นคนอเมริกันชื่อ Lawrence W. Yonge ซึ่งเป็นเจ้าของ Ray DX หลังจากที่เขาขายกิจการให้เราแล้ว เขาหันไปทำธุรกิจส่วนตัวทางด้านวิจัยและพัฒนาทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเขาจะทำหน้าที่ในการช่วยเราหาข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ในฐานะที่ปรึกษาทางด้านเทคโนโลยีให้กับสามารถแซทคอม" เจริญรัฐกล่าวถึงแหล่งที่มาของการรับรู้ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในโลก

นอกจากนี้การพัฒนาเทคโนโลยีในการให้บริการสื่อสารข้อมูลก็มีความจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ถึงแม้ว่าโอทีซีจะมีความชำนาญในด้านนี้ก็ตาม แต่สามารถเทเลคอมก็จำเป็นที่จะต้องมีทีมวิศวกรของตัวเองคอยศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาผสมผสาน เนื่องจากมีเรื่องของตลาดเข้ามาเป็นตัวกำหนดว่าทำได้หรือไม่

ความจำเป็นในเรื่องนี้เห็นได้ชัดจากกรณีความไม่พร้อมของธนายง ในเรื่องของเทคโนโลยีในการให้บริการสื่อสารข้อมูลผ่านดาวเทียม อันเป็นเหตุสำคัญในการเข้ามาของล็อกซเล่ย์ในฐานะผู้ร่วมทุน โดยเข้าถือหุ้นจำนวน 40% ในขณะที่ธนายงถือหุ้น 60%

ดังนั้นการลงทุนในส่วนของการทำวิจัยและพัฒนายังคงเป็นการลงทุนสำคัญ ที่ต้องใช้ทั้งเงินทุนควบคู่ไปกับเวลา ทั้งนี้เพื่อเตรียมพร้อมที่จะรองรับงานที่กำลังจะขยายออกไปในอีก 2 ปีข้างหน้า เมื่อดาวเทียมขึ้นแล้ว

ในปีนี้สามารถฯ มีโครงการที่จะลงทุนในโรงงานผลิตแผงวงจรพิมพ์ เป็นการขยายธุรกิจสู่ภาคการผลิตอีกแขนงหนึ่ง โดยเน้นตลาดในประเทศเป็นหลัก

สามารถฯ ได้เข้าไปเจรจาขอซื้อโรงงานผลิตแผงวงจรพิมพ์เดิมซึ่งเป็นของบริษัทไทยเซอร์คิท (Thai Circuit) จากแบงก์กสิกรไทยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ในราคา 30 กว่าล้านบาท ในขณะที่บริษัทนี้เป็นหนี้แบงก์อยู่ในราว 50 ล้านบาท

ย้อนหลังไปปี 2531 บริษัทไทยเซอร์คิทก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 3 ราย คือ บริษัทธนสถาปนา ที่มีเฉลียว สุวรรณกิตติ เป็นหัวเรือใหญ่, บริษัทมานิสตี และกลุ่มสามารถ ซึ่งถือหุ้นในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน และในปีเดียวนั้นเองโรงงานนี้ก็ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ

โรงงานของไทยเซอร์คิทใช้เงินลงทุนประมาณ 40 ล้านบาท เป็นค่าที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ โดยเครื่องจักรบางส่วนรับโอนมาจากบริษัทเซอร์คิทคอนซัลแต้นท์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตแผงวงจรพิมพ์ของดาร์ราอี. แม็คคลูร์ ซึ่งเลิกกิจการไป โดยได้ออกหุ้นของไทยเซอร์คิทจำนวน 12,750 หุ้น มูลค่าหุ้นลง 100 บาท เป็นการตอบแทน และได้รับมอบหมายให้ดาร์ราอี. แม็คคลูร์เป็นคนเซ็ทระบบการผลิตแผงวงจรพิมพ์ให้

จนกระทั่ง 3 ปีให้หลัง ไทยเซอร์คิทก็ยังไม่สามารถทำการผลิตสินค้าออกมาได้

แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับไทยเซอร์คิทดี เล่าให้ฟังว่า "ไทยเซอร์คิทมีปัญหาหลายๆ ด้าน ทั้งในด้านเทคนิคการผลิต สินค้าที่ผลิตออกมาในช่วงแรกด้อยคุณภาพ จนทำให้ลูกค้าไม่ยอมรับจนมีผลกระทบถึงตลาด ทางการบริหารงานก็มีปัญหา โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนทำให้ไม่มีการตัดสินใจเพื่อแก้ไขปัญหาในระดับบริหารออกมาสักที เพราะคุยกันไม่รู้เรื่อง จนในที่สุดโรงงานก็ต้องปิดไปเมื่อต้นปี 2534 และแบงก์เจ้าหนี้ต้องเข้ามายึด เพราะเป็นหนี้แบงก์อยู่ 50 กว่าล้านบาท

การที่สามารถฯ เข้าไปถือหุ้นในไทยเซอร์คิทช่วงนั้น ก็เพื่อต้องการใช้เป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบให้กับทางโรงงานของสามารถวิศวกรรม

เมื่อโรงงานปิดไปประมาณครึ่งปี สามารถฯ จึงเข้าเจรจาขอซื้อกับแบงก์เพื่อนำมาปรับปรุงใหม่ จนกระทั่งสำเร็จเมื่อปลายปีที่แล้ว ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงของการปรับปรุงโรงงานและเครื่องจักร โดยคาดว่าจะต้องใช้เงินเพิ่มอีกประมาณ 30 ล้านบาทในการปรับปรุงโรงงานใหม่ รวมถึงเครื่องจักรด้วย ทั้งนี้สามารถฯ จะจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ขึ้นมาแทน

สิ่งสำคัญที่สุดของการผลิตแผงวงจรพิมพ์ จากบทเรียนที่ผ่านมาคือความรู้หรือเทคนิคในการผลิต ซึ่งสามารถฯ จำเป็นต้องหาผู้ร่วมทุนที่มีประสบการณ์ด้านนี้ และได้เลือกที่จะนำเอาเทคโนโลยีจากไต้หวันเข้ามา ซึ่งปัจจุบันสามารถฯ กำลังอยู่ในช่วงของการเจรจาที่จะร่วมทุน โดยเลือกจากคนที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด พร้อมทั้งกำหนดสัดส่วนของผู้ร่วมทุนซึ่งจะอยู่ในราว 30-40% หลังจากนั้นการผลิตก็จะเริ่มขึ้นในกลางปีนี้

ทำไมสามารถฯ จึงสนใจเข้ามาในตลาดผู้ผลิตแผงวงจรพิมพ์

ประการแรกแน่นอนว่า เพื่อซัพพอร์ตส่วนการผลิตให้กับบริษัทในเครือของสามารถฯ ที่นับว่าความต้องการยิ่งมีมากขึ้น

ประการที่สอง ถ้ามองจากภาพโดยรวมของอุตสาหกรรมด้านนี้ในประเทศไทยแล้ว โรงงานที่ผลิตแผงวงจรพิมพ์มีทั้งหมด 20 บริษัท ในจำนวนนี้เป็นโรงงานที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอทั้งหมด 14 แห่ง ดังนั้นสินค้าที่ผลิตได้ส่วนใหญ่จะต้องส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยมีมูลค่าการส่งออกในปี 2532 จำนวน 575.34 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2533 (ตัวเลข 10 เดือน) เพิ่มขึ้นเป็น 1,056.52 ล้านบาท และคาดว่าตัวเลขทั้งปีจะอยู่ในราว 1,270 ล้านบาท

ในขณะที่ยอดการนำเข้าแผงวงจรพิมพ์ในปี 2532 ของประเทศไทยมีมูลค่า 910.97 ล้านบาท และในปี 2533 (ตัวเลข 10 เดือน) เพิ่มขึ้นเป็น 1,222.82 ล้านบาท และคาดว่าตัวเลขนำเข้าทั้งปีจะอยู่ในราว 1,470 ล้านบาท

จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ถึงปริมาณความต้องการภายในประเทศ ซึ่งมีปริมาณมาก ในขณะที่ผู้ผลิตภายในประเทศเองไม่สามารถที่จะผลิตป้อนให้ได้ โดยเฉพาะตลาดแผงวงจรพิมพ์แบบ double size ซึ่งมีปริมาณความต้องการสูง

ในขณะที่ไทยพาราอุตสาหกรรมและดราโก้พีซีบี ซึ่งเป็นผลิตแผงวงจรพิมพ์รายใหญ่ ที่ผลิตป้อนตลาดภายในประเทศ ยังคงเน้นไปที่การผลิตแผงวงจรพิมพ์แบบ single size

ดังนั้นโอกาสในการเข้าสู่ธุรกิจการผลิตแผงวงจรพิมพ์ในประเทศยังเปิดกว้างมากพอที่กลุ่มสามารถจะกระโดดเข้าไปไม่ว่าจะเป็นแบบ single size หรือ double size ก็ตาม

สามารถคอมเทคจะเป็นบริษัทแรกที่จะยื่นเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เดือนมีนาคมนี้

ด้วยเหตุผลข้อแรกคือ สามารถคอมเทค (ยกเว้นสามารถวิศวกรรม) ที่มีผลกำไรปรากฏให้เห็นในงบการเงินปี 2534 เป็นปีแรกของการดำเนินงาน ในขณะที่บริษัทในเครืออื่นๆ ยังคงขาดทุนอยู่

ข้อที่สอง สามารถคอมเทคจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนในการขยายโครงการต่างๆ อีกมาก อย่างเช่น ระบบเคเบิลทีวีใหญ่ๆ ในหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งจะเริ่มเข้าไปในลักษณะของการร่วมทุนกับเจ้าของหมู่บ้าน จัดวางระบบให้และช่วยกันบริหาร ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนครั้งแรกสูง นอกจากนี้ในส่วนของแผนกวิจัยและพัฒนาก็ต้องมีการลงทุนเพิ่มในการทำระบบสื่อสารต่างๆ อุปกรณ์ เครื่องทดสอบ การรับพนักงานเพิ่ม ซึ่งเดิมสามารถคอมเทคมีส่วนนี้อยู่แล้ว แต่ยังเล็ก โดยเฉพาะในปีนี้ โครงการที่สามารถคอมเทคได้มามีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท จำเป็นที่จะต้องใช้บุคลากรและเครื่องมือเพิ่ม

ทั้งนี้โครงสร้างของสามารถคอมเทคจะเปลี่ยนแปลงไปหลังจากเข้าตลาดหุ้นแล้ว ประการแรกคือ ชื่อบริษัทจะเปลี่ยนเป็น "สามารถคอร์ปอเรชั่น"

ประการที่สอง ทุนจดทะเบียน เดิม 5 ล้านบาท จะเพิ่มทุนเป็น 100 ล้านบาท เพื่อเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทในเครือ ช่วงแรก 2 บริษัท คือ สามารถแซทคอม และสามารถแอดแซท ในอัตราส่วน 51% พร้อมกันนี้ก็จะนำไปลงุทนในโรงงานผลิตแผงวงจรพิมพ์ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยถือหุ้นประมาณ 51% นอกจากนี้มีโครงการจะเข้าร่วมทุนกับบริษัทอื่นในโครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมายด้วย

การที่สามารถคอมเทคไม่เข้าไปถือหุ้นในสามารถเทเลคอม เนื่องจากบริษัทนี้ยังมียอดการขาดทุนอยู่มาก ส่วนสามารถวิศวกรรมนั้นต้องการที่จะให้คงไว้เป็นธุรกิจของครอบครัวต่อไป

สามารถคอมเทคจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนหนึ่งจะเป็นโฮลดิ้งคัมพานี อีกส่วนหนึ่งก็จะดำเนินธุรกิจเดิมที่เคยทำ แต่จะเพิ่มงานบางอยางเข้าไปอีก คือธุรกิจเทรดดิ้ง เมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้ว สามารถคอมเทคจะมีทั้งหมด 4 ฝ่ายคือ

- งานทางด้านทีวี ซึ่งประกอบด้วยงานติดตั้งระบบทีวีรวม และงานติดตั้งระบบรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม
-
- ธุรกิจเทรดดิ้ง ซึ่งเดิมส่วนนี้มีสินค้าขายอยู่บางส่วนเป็นพวกอุปกรณ์โทรคมนาคม แต่ต่อไปในอนาคตจะมีสินค้าเพิ่มขึ้น อย่างเช่น ระบบวิทยุโทรศัพท์ ซึ่งเป้าหมายของสามารถคอมเทคในส่วนนี้คือ การเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารที่ทันสมัยที่สุดในโลก
-
- งานประมูลโครงการและงานติดตั้งระบบสื่อสาร
-
- โฮลดิ้งคัมพานี
-
นั่นเป็นเพียงก้าวแรกที่จะทำให้สามารถกรุ๊ปเปลี่ยนโฉมหน้าจากการเป็นบริษัทครอบครัว สู่การเป็นบริษัทมหาชน

ในขณะที่การลงทุนยังคงมีต่อเนื่อง พร้อมไปกับการเปิดรับพันธมิตรเข้ามามากขึ้น นั่นหมายถึงอนาคตของธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ที่จากนี้ไปจะมีเพียงรายใหญ่ๆ ที่ต่อสู้แย่งชิงตลาดกันเพียงไม่กี่รายเท่านั้น ซึ่งในจำนวนที่ว่านั้นขอมีสามารถกรุ๊ปรวมอยู่ด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.