|
"BANPU” โชว์ผลงานไตรมาส3พุ่ง69%ยอดขายโตกำไรขายเงินลงทุนหลักทรัพย์
ผู้จัดการรายวัน(12 พฤศจิกายน 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
“BANPU” แจงกำไรไตรมาส 3 ปีนี้ พุ่ง69% เนื่องจากราคาขายและปริมาณขายถ่านหินเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีกำไรจากการขายเงินลงทุนในหลักทรัพย์เผื่อขายจำนวน 700 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมาก
นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU)
เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปีนี้ ของบริษัทสิ้นสุด 30 กันยายน 2547 ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิรวมสำหรับไตรมาสนี้ จำนวน 1,193 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มี 708 ล้านบาท และมีกำไรต่อหุ้น 4.39 บาทต่อหุ้น และ 1.85 บาทต่อหุ้น ตามลำดับ ขณะที่มีรายได้จากการขายรวม 4,785 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 1,319 ล้านบาท คิดเป็น 38% จากราคาขายและปริมาณขายถ่านหินเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
โดยมีต้นทุนขายรวม 2,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 382 ล้านบาท คิดเป็น 15% ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณขายที่สูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อน กำไรขั้นต้นรวมจำนวน 1,925 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 937 ล้านบาท อัตราส่วนการทำกำไรขั้นต้นต่อยอดขาย (Gross Profit Margin) ในไตรมาสนี้คิดเป็น 40% สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีกำไรขั้นต้น 29%
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารรวม 528 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 93 ล้านบาท คิดเป็น 22% จากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายสำนักงาน และค่า Commission ซึ่งเพิ่มขึ้น 66 ล้านบาท และ 23 ล้านบาท ตามลำดับ ในขณะที่ค่า Barge to vessel ซึ่งลดลงจาก 134 ล้านบาท เป็น 116 ล้านบาท ขณะที่ค่าภาคหลวง เพิ่มขึ้นจากปริมาณยอดขายที่เพิ่มขึ้น
กำไรจากการขายเงินลงทุนในหลักทรัพย์เผื่อขายจำนวน 695 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 655 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีกำไรจำนวน 41 ล้านบาท และไม่มีการบันทึกรายได้ที่ยังไม่เกิดขึ้นจากหลักทรัพย์เพื่อค้าในขณะที่ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีการบันทึกราย การนี้จำนวน 115 ล้านบาท เงินปันผลรับจำนวน 203 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 38 ล้านบาท โดยเป็นเงินปันผลรับจากบริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจไฟฟ้าแห่งหนึ่ง
การรับรู้ผลขาดทุนของบริษัทร่วมจำนวน 22 ล้านบาท ลดลง 256 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีส่วนแบ่งกำไรของบริษัทร่วมจำนวน 278 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทได้ปรับโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัท ไตร เอนเนอจี้ จำกัด ซึ่งเคยรับรู้ผลกำไรขาดทุนไว้เป็นบริษัทร่วม
ดอกเบี้ยจ่ายรวม 107 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 24 ล้านบาท หรือ 18% จากการบริหารต้นทุนเงินกู้ให้ต่ำลง ภาษีเงินได้นิติบุคคล จำนวน 456 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 401 ล้านบาท จากกำไรของบริษัทย่อยในสาธารณรัฐอินโดนีเซียที่สูงขึ้น และจากกำไรจากการขายเงินลงทุนในหลักทรัพย์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|