ขายโทรศัพท์ แบบด่วนๆ เร็วกว่า ทศท.ครึ่งปี


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

กิตติศัพท์และความเชื่อที่ว่า การขอโทรศัพท์ไปติดที่บ้านสักเลขหมาหนึ่งเป็นเรื่องยากแสนยาก ต้องตั้งหน้าตั้งหน้าคอยเป็นปีๆ ยังเป็นความเชื่อที่ยังติดตรึงอยู่ในใจคนทั่วไป และก็มากพอที่ "นายหน้า" รับดำเนินเรื่องขอหมายเลขโทรศัพท์จะยึดเป็นอาชีพอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

วารินทร์ สินสูงสุด เป็นนักขายและเจ้าของสำนักพิมพ์วันทิพย์ เขาเคยเขียนหนังสือ "ศิลปะการขาย" ขายดีมากๆ พิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า สำนักงานและกิจการของเขาเป็นร้านขายรองเท้าสตรี อยู่แถวโรงภาพยนต์เพรสซิเดนท์ อีกอาชีพที่ทำชื่อเสียงให้เขามาก แม้กับเพื่อนฝูงที่ไม่ได้พบเขามาเกือบสิบปีก็ยังรู้ว่า เขามีอาชีพพิเศษอะไร นั่นคือ อาชีพ "รับจ้างติดต่อกับองค์การโทรศัพท์เพื่อความรวดเร็วในการขอหมายเลขโทรศัพท์.... แบบเยอะๆ เลขหมายและด่วนมากๆ"

กลุ่มเป้าหมายของวารินทร์พัฒนาไปตามกระแสความเติบโตทางเศรษฐกิจ ในเมื่อยุคนี้เป็นยุคคอนโดมิเนียม ออฟฟิศทาวเวอร์และอาคารสูง เขาก็ต้องก้าวตามไปให้ทันจนได้

วารินทร์ออกจดหมายเวียนถึงบรรดาเจ้าของและผู้บริหารธุรกิจขายคอนโดมิเนียมทั้งหมาย เชิญชวนให้ขอหมายเลขโทรศัพท์ผ่านบริการของเขา จดหมายเวียนนี้เป็นที่สนใจมากในบรรดาผู้รับ เพราะโฆษณาขายคอนโดมิเนียมทุกหลังจะต้องประกาศกับผู้ซื้อทุกคนว่า ทุกห้องมีโทรศัพท์สายตรง นั่นหมายความว่า คอนโดมิเนียมหลายแห่งจะต้องมีโทรศัพท์สายตรงไม่น้อยกว่า 100 เลขหมาย ซึ่งในความเป็นจริง ผู้บริหารโครงการหลายแห่งยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า จะขอได้จริงตามโฆษณาหรือไม่

วารินทร์กล่าวกับผู้บริหารโครงการรายหนึ่งที่ไปติดต่อว่า การขอหมายเลขโทรศัพท์โดยเขาเป็นคนติดต่อนั้น ความรวดเร็วขึ้นอยู่กับสถานที่ เช่น คอนโดมิเนียมที่อยู่แถวๆ ซอยสุขุมวิท 3 จะได้รับเร็วกว่าบริเวณสุขุมวิท 50 เพราะเขาอ้างว่า "มีข้อมูลเพียบ" พร้อมที่จะบริการให้ทันที ในจำนวน 20 หมายเลขแรก สามารถติดต่อได้ใน 2-3 สัปดาห์ ส่วนที่เหลืออีก 100 หมายเลข เขารับประกันยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ไม่เกิน 6 เดือนจะได้หมด

สนนราคาแต่ละหมายเลข คือ 15,000 บาท ซึ่งย่อมบวกค่าบริการไปแล้ว เพราะถ้าติดต่อกับ ทศท.โดยตรง ราคาจะอยู่ในระดับ 6,700 บาทเท่านั้น แต่จุดขายที่วารินทร์ย้ำนักย้ำหนา คือความรวดเร็วและความแน่นอน รับรองได้หมด ขณะที่เจ้าหน้าที่ ทศท.จะพิจารณาติดต่อให้แล้วเสร็จในจำนวน 100 เลขหมายใน 1 ปี!

วารินทร์ยังได้อ้างถึงโครงการที่มีชื่อเสียงแห่งอื่นที่เคยมารับบริการจากเขา เช่น โครงการของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ทั้งหมด โครงการพีเอสทาวเวอร์ สยามเพนท์เฮาส์ เป็นต้น

"เมื่อตัดสินใจมาใช้บริการกับผมก็เชิญมาคุยกันได้ พร้อมกับตกลงในรายละเอียด เช่น หมายเลขโทรศัพท์ที่มีอยู่แล้ว หรือใกล้เคียง ถ้าวาดแผนที่อย่างละเอียดไปประกอบการพิจารณาด้วย จะยิ่งเร็วขึ้น และรับรองครับว่าบริการนี้... แน่นอน" วารินทร์กล่าวตบท้ายกับผู้บริหารโครงการที่ไปติดต่อ

ทางด้านเจ้าหน้าที่ของ ทศท.กล่าวโต้แย้งกับ "ผู้จัดการ" อย่างหนักแน่นว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่ผู้บริหารโครงการคอนโดมิเนียมจะต้องติดต่อขอหมายเลขโทรศัพท์ผ่านนายหน้า เขากล่าวว่า มันอยู่ที่การวางแผนของผู้บริหารเอง เมื่อตัดสินใจเริ่มทำโครงการ ผู้บริหารควรมาติดต่อเจรจากับศูนย์พาณิชย์ของ ทศท.โดยตรง ซึ่งระยะเวลากว่าที่โครงการจะก่อสร้างเสร็จสิ้น โทรศัพท์ก็เข้าไปติดตั้งเรียบร้อยพอดี

"ปัญหามันอยู่ที่ว่าหลายๆ โครงการไม่แน่ว่าจะก่อสร้างได้หรือไม่ คิดแต่จะขายห้องให้มันได้ก่อน พอปุบปับมา ก็จะเอาโทรศัพท์พรวดเดียว 100 เลขหมาย จริงๆ แล้วก่อนก่อสร้างควรคุยกับเรา เพราะมันมีวิธีการติดชุมสายย่อยเข้าไปเลย สะดวกมาก แต่ต้องเผื่อเนื้อที่ให้เรา หรือบางทีเราร้อยสายเข้าแต่เนิ่น เขาเกิดเลิกสร้างขึ้นมา ทศท.ก็ลงทุนฟรี ผู้บริหารต้องมาคุยกับเราเนิ่นๆ เป็นระยะๆ" เจ้าหน้าที่ ทศท.อธิบายเชิงตัดพ้อ แต่เขาก็ยอมรับว่า มี "นายหน้า" เหล่านี้จริงประมาณ 3-4 ราย สำหรับวิ่งเข้าหาผู้บริหารโครงการใหญ่ๆ ซึ่งไปห้ามไม่ได้ การว่าจ้างเป็นเรื่องยินยอมกัน และพวกนี้ก็ได้รับความยินยอมจากผู้บริหารโครงการให้เป็นตัวแทนมาติดต่อกับ ทศท.

ผู้บริหารระดับสูงของ ทศท.ซึ่งรับผิดชอบโครงการขยายเครือข่ายของ ทศท.กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า การขอหมายเลขโทรศัพท์ในบริเวณใจกลางเมืองในปัจจุบันเป็นอย่างรวดเร็วมาก เช่น ในบางพื้นที่ ขอวันนี้ พรุ่งนี้อาจจะได้เลย แต่เขาก็ยอมรับว่า ในกรณีคอนโดมิเนียมซึ่งต้องขอเลขหมายจำนวนมาก ก็อาจจะมีปัญหาบ้าง บางครั้งก็ต้องโยกสายมาจากที่อื่นให้โครงการนั้นๆ ใช้แก้ขัดไปก่อนสัก 2-3 หมายเลข

"ในอดีต ใครจะทำนายได้บ้างว่า จะมีคอนโดมิเนียมผุดขึ้นมากมายแถบสุขุมวิท เมื่อก่อนเราก็คำนวณตามพื้นที่ บ้านหลังหนึ่งให้สัก 2 เลขหมาย พอมีคอนโดมิเนียมขึ้นมา พื้นที่ก่อสร้างเท่ากับ แต่ตึกมันสูงตั้ง 30-40 ชั้น ใช้โทรศัพท์มากกว่า 2 เลขหมายที่เราเคยคำนวณไม่รู้กี่เท่า เราก็เลยต้องตามแก้ให้ทันความต้องการทุกวันนี้" เขากล่าว

ปัญหาแบบนี้ไม่ใช่จะเกิดเฉพาะที่สุขุมวิท ที่ถนนรัชดาภิเษกและพหลโยธิน ซึ่งมีคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นมากมาย ถ้าโครงการก่อสร้างเหล่านี้เกิดขึ้นจริง วิกฤตความขาดแคลนโทรศัพท์คงได้เห็นกันอีกแห่ง

ผู้บริหารระดับสูงของ ทศท.คนเดิมกล่าวย้ำ ทุกวันนี้ ทศท.ยังต้องพยายามสนองความต้องการโทรศัพท์ของผู้ที่ยื่นขอมาอีก 3 แสนเลขหมาย ทศท.กำลังเร่งก่อสร้างท่อร้อยสายเป็นการใหญ่ ซึ่งจะสามารถเพิ่มเลขหมายได้อีก 1.2 ล้านเลขหมาย ซึ่งต้องใช้งบทั้งสิ้นถึง 54,000 ล้านโครงการดังกล่าวจะเสร็จสิ้นในปี 2535 ซึ่งถึงตรงนั้นปัญหาต่างๆ คงคลี่คลายไปมากทีเดียว

"แต่กว่าจะถึงตอนนั้นความต้องการก็อาจจะเพิ่มขึ้นอีกไม่รู้เท่าไรก็ต้องไล่กวดกันแบบนี้แหละ เพราะในความเป็นจริงไทยเรามีประชากรประมาณ 55 ล้านคนควรมีโทรศัพท์ 5 ล้านเลขหมาย ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนอีกเป็นแสนล้าน คิดแค่นี้ก็เหนื่อยแล้ว" ผู้เชี่ยวชาญใน ทศท.กล่าว

เพียงแค่ตอนนี้ก่อนปี 2535 คอนโดมิเนียมทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาคงต้องวางแผนเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะคว้าโทรศัพท์มาให้ได้หลายๆ เลขหมายตามต้องการ โดยเฉพาะแถบถนนสุขุมวิท, พหลโยธิน, รัชดาภิเษก ซึ่งอาจเป็นถนนดวลฝีมือกันระหว่างองค์การโทรศัพท์กับวารินทร์ สินสูงสุด ว่าระหว่างเทคโนโลยีกับเส้นสาย ใครจะบริการแบบ "เสือปืนไว" ได้เจ๋งกว่ากันก็เป็นได้!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.