ผ่านแผนฟื้นTPI-ประชัยสู้ต่อ


ผู้จัดการรายวัน(11 พฤศจิกายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ศาลล้มละลายกลาง เห็นชอบการแก้ไขแผนฟื้นฟูฯทีพีไอ ยกเว้นเรื่องการเปลี่ยนคณะกรรมการบริษัท และการปลดภาระค้ำประกัน "ประชัย" พอใจคำตัดสินศาล จี้คลังจัดสรรขายหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน ยืนยันพร้อมซื้อหุ้นทั้งหมด ด้านคลังเร่งสรุปเรื่องพันธมิตรร่วมทุนภายใน พ.ย.นี้ ดึงผู้ร่วมทุนใหม่เป็นบอร์ดเพิ่มครบ 25 คน ก่อนเดินหน้า หาผู้บริหารแผนใหม่ หวังให้ ปตท.หาคนมีความสามารถในธุรกิจปิโตรเคมี "ขุนคลัง" ยันถึงไม่เปลี่ยนบอร์ดก็ไม่กระทบงานบริหาร เชื่อบอร์ดมีคุณวุฒิ ติงประชัยเลิกคิดเรื่องบริหาร

วานนี้ (10 พ.ย.) ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบข้อเสนอการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) (ทีพีไอ) ตามที่ตัวแทนกระทรวงการคลังในฐานะผู้บริหารแผนฯเสนอ เว้นแต่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท และการปลดภาระค้ำประกันผู้บริหารลูกหนี้

การตัดสินชี้ขาดของศาลล้มละลายกลางครั้งนี้ได้มีพนักงานทีพีไอ จากจังหวัดระยองร่วมเดินทางมาให้กำลังใจคณะผู้บริหารแผนฯประมาณ 274 คน โดยไม่มีกลุ่มผู้สนับสนุนนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เดินทางมาคัดค้านที่หน้าศาลล้มละลายกลางเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาดูแลความสงบเรียบร้อยมีจำนวนมากถึง 400 คน

นายกมล ธีระเวชพลกุล รองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลล้มละลายกลาง กล่าวว่า ศาลได้พิจารณาข้อเสนอ การแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯมีข้อความที่ครบถ้วน ซึ่งกระทรวงการคลังในฐานะผู้บริหารแผนฯ ทีพีไอ น่าจะแก้ไขปัญหาของทีพีไอให้สำเร็จลุล่วงได้ เพราะมีการเสนอปรับโครงสร้างหนี้และโครงสร้างทุน สอดคล้องกับสถานการณ์ ทำให้มีรายได้เพียงพอในการชำระหนี้ และสามารถฟื้นฟูกิจการได้จริง

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังเป็นคนกลาง ได้ดำเนินการแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ จนเป็นที่ยอมรับของเจ้าหนี้และพนักงาน แม้ว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริหารลูกหนี้ เพราะสูญเสียอำนาจในการบริหารจัดการกิจการและทรัพย์สิน

ส่วนประเด็นข้อโต้แย้งของผู้บริหารลูกหนี้นั้น ทางศาลได้พิจารณาเห็นสอดคล้องกับผู้บริหารลูกหนี้ใน 2 ประเด็น คือ เรื่องการขอปลดคณะกรรมการของลูกหนี้ และภาระค้ำประกันของลูกหนี้ โดยศาลฯ ได้ตัดสินใจยืนตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ลูกหนี้จะถูกจำกัดสิทธิในการบริหารจัดการทรัพย์สินชั่วคราว โดยไม่สามารถปลดออกจากตำแหน่งกรรมการได้

อนึ่ง การแก้ไขแผนฟื้นฟูฯนี้จะทำให้เจ้าหนี้ได้หนี้คืน 72% ของมูลหนี้ทั้งหมด แต่หากเทียบกับวิธีการปล่อยให้ทีพีไอล้มละลาย แล้วนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ เจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้เพียง 44% ของมูลหนี้ทั้งหมด ดังนั้น ศาลล้มละลายจึงเห็นชอบการแก้ไขแผนฟื้นฟูฯทีพีไอ จี้คลังขายหุ้นให้ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน

นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีพีไอ ในฐานะผู้บริหารลูกหนี้ กล่าวว่า รู้สึกพอใจกับการตัดสินของศาลฯพอสมควร หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของกระทรวงการคลัง โดยศาลไว้วางใจว่ากระทรวงฯจะให้ความเป็นธรรมได้ โดยตนสงสัย ว่ากระทรวงฯจะรักษาความเป็นธรรมหรือไม่ เพราะตามข้อกฎหมายระบุว่า เมื่อออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้ว ทรัพย์สินต่างๆ จะต้องส่งคืนลูกหนี้

หากกระทรวงฯจะให้ความเป็นธรรมจริง ควรให้สิทธิลูกหนี้หรือผู้ถือหุ้นเดิมในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนก่อนพันธมิตรรายอื่น เว้นแต่ว่าลูกหนี้หรือผู้ถือหุ้นเดิมไม่มีความสามารถในการซื้อหุ้น ซึ่งตนในฐานะผู้บริหาร ลูกหนี้มีความพร้อมที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุน ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงฯไม่ดำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรม ตนก็จะดำเนินการอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาต่อไป "ช่วงเวลา 1 ปีนี้คงต้องทนดูเขาปล้นเราต่อไป" นายประชัย กล่าว

ก.คลังลั่นโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่เสร็จทันพ.ย.

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากที่ศาลล้มละลาย กลางเห็นชอบแผนฟื้นฟูฯ ของทีพีไอแล้ว คณะกรรมการจัดสรรหุ้นทีพีไอให้แก่ผู้ร่วมทุนรายใหม่ ที่มีนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล เป็นประธาน จะเดินหน้า ในการหาพันธมิตรร่วมทุน และพิจารณาโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ ซึ่งจะได้ข้อสรุปภายในเดือนพฤศจิกายน 2547 นี้ อย่างแน่นอน โดยต่อไปจะเดินหน้าหาทีมผู้บริหารเข้ามาทำหน้าที่บริหารบริษัทให้ดีขึ้นต่อไป

โดยความคืบหน้าในส่วนของพันธมิตรรายใหม่ ที่เคยเจรจากันก่อนหน้านี้ อาทิ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จะมีการจัดสรรหุ้นให้ในสัดส่วนเท่าใดนั้น จะต้องรอให้นายศุภรัตน์ เป็นผู้ให้คำตอบในรายละเอียด หลังจากได้ข้อสรุปดังกล่าวแล้ว

สำหรับกรณีที่ศาลฯ ยกเว้นเรื่องการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ (บอร์ด) ทีพีไอนั้น นายสมคิด กล่าวว่า จะไม่มีผลต่อการบริหารงาน เพราะบอร์ดจะทำหน้าที่ในการสรรหาทีมผู้บริหาร ซึ่งผู้บริหารชุดใหม่จะมีหน้าที่ในการบริหารให้บริษัทให้มีความก้าวหน้า นอกจากหนี้ ศาลฯ เพียงแต่ยังไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงบอร์ดทั้ง 15 คนเดิมในขณะนี้ แต่สามารถเพิ่มจำนวนบอร์ดเข้าไปได้อีก 10 คน ซึ่งในส่วนของบอร์ดทั้ง 10 คนใหม่ที่จะส่งเข้าไปเพิ่มนั้น จะมาจากตัวแทนของผู้ถือหุ้นรายใหม่ด้วยอย่างแน่นอน และกระทรวงการคลังต้องการให้ตัวแทนจาก ปตท. สรรหาทีมผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจ ปิโตรเคมีเข้ามาร่วมบริหารงานด้วย

ส่วนจะให้นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เป็นประธานคณะกรรมบริหารหรือไม่ เป็นเรื่องที่ถือว่าเร็วเกินไปที่จะตอบในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ทีมผู้บริหารเดิมควรเลิกคิดที่จะกลับมาบริหารกิจการของทีพีไอได้แล้ว แต่ควรหันกลับมาช่วยกันดูแลและบริหารกิจการของบริษัทให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

ต่อข้อถามของผู้สื่อข่าวที่ว่า การเพิ่มบอร์ดเป็น 25 คน แต่ไม่มีการเปลี่ยนตัวบอร์ดเดิมที่มีอยู่ จะส่งผลให้การโหวตเลือกตัวผู้บริหารทีพีไอ มีปัญหาเรื่องจำนวนเสียงหรือไม่ เนื่องจากเท่ากับว่า มีบอร์ด ฝ่ายเดิม 15 คน และฝ่ายของบอร์ดใหม่เพียง 10 คนเท่านั้น นายสมคิด กล่าวว่า "โดยส่วนตัวไม่มองว่าเป็นปัญหา และหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลล้มละลายกลาง มีความเห็นชอบไปในทางเดียวกันกับแผนฟื้นฟูฯฉบับผู้บริหารแผน แสดงให้เห็นว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหาของกระทรวงการคลัง มีความเป็นธรรม
ทำไมต้องคิดว่าบอร์ด 15 คน จะไม่เห็นด้วย ไม่ต้องห่วงเรื่องนี้ อย่าไปคิดแทนเขา ตอนนี้ศาลเพียงแต่เห็นว่ายังไม่ควรเปลี่ยนตัวบอร์ดในขณะนี้ ซึ่งผมไม่เคยคิดว่าจะเป็นอุปสรรค และมาถึงขั้นนี้ผมยังไม่เห็นอุปสรรค สถาบันเครดิตเพื่อการบูรณะและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (KfW) เจ้าหนี้รายใหญ่ของทีพีไอ ยังบอกว่าจะลืมความหลังที่ผ่านมา แต่จะมองไปที่อนาคต ขณะที่กระแสสังคมทั้งในและต่างประเทศก็เห็นด้วยกับแนวทางในการแก้ไขปัญหา ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะต้อง ดำเนินการต่อไป คือ กระทรวงการคลังจะพยายามหาผู้บริหารที่มีความสามารถเข้ามาบริหารงานต่อไป"

ด้านนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในขั้นตอนต่อไปกระทรวงการคลังจะเร่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้น มา 1 ชุด เพื่อพิจารณาสรรหาผู้ร่วมทุน การจัดสรรหุ้น และการทำ โครงสร้างผู้บริหารหุ้นให้แล้วเสร็จ ซึ่ง คณะทำงานดังกล่าวจะต้องทำความเข้าใจแผนฟื้นฟูฯ เพื่อเดินหน้าตามแผนต่อไป โดยเชื่อว่าจะสามารถดำเนิน งานให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลา 1 เดือน หลังจากที่ศาลมีคำสั่ง ตามที่รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังได้เคยให้นโยบายไว้อย่างแน่นอน

หวั่นพันธมิตรร่วมทุนเมิน

นายอภิชาติ พันธุ์เกษร ที่ปรึกษากฎหมายของคณะกรรมการเจ้าหนี้ทีพีไอ กล่าวว่า การพิจารณาของศาลในครั้งนี้ ระบุชัดว่าไม่สามารถปลด บอร์ดทีพีไอเดิมทั้งหมดได้ ทำให้คณะกรรมการเจ้าหนี้และตัวแทนกระทรวงการคลังในฐานะผู้บริหารแผนฯต้องหารือกันปรับโครงสร้างกันใหม่ ซึ่งถือเป็น ประเด็นสำคัญในการสรรหาพันธมิตรร่วมทุน เพราะจะมีพันธมิตรรายใดใส่เงินเข้ามาก่อนแต่บริหารงานไม่ได้หรือไม่

"เมื่อศาลฯมีคำสั่งเช่นนี้ ทำให้เกิดปัญหาในการ สรรหาพันธมิตรใหม่ที่ต้องการเข้ามาบริหารทีพีไอ ซึ่งอาจดำเนินการแก้ไขโดยการตั้งบอร์ดใหม่เพิ่มเติมในจำนวนที่มากกว่าบอร์ดทีพีไอเดิม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการทำงาน โดยประเด็นการขายหุ้นให้พันธมิตรนั้น กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่การสรรหาผู้ร่วมทุน (TOR) ส่วนประชัยจะเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ ของกระทรวงฯว่าจะยอมหรือเปล่า"

ส่วนประเด็นการปลดภาระค้ำประกันนั้น ผู้บริหารแผนฯได้กำหนดเงื่อนไขการปลดภาระค้ำประกันไว้มาก ซึ่งศาลพิจารณาเห็นว่าไม่ควรอยู่ในการแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ แต่การปลดภาระค้ำประกันนั้นเป็นสิทธิของเจ้าหนี้แต่ละราย เชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบเจ้าหนี้

"เดิมคิดว่าจะปลดผู้บอร์ดทีพีไอได้ เพราะก่อนหน้านี้ได้เราได้ศึกษาเคสของพญาไท 3 ซึ่งเราก็มองและศึกษาตัวอย่างคดีนี้ซึ่งผู้บริหารแผนฯได้ปลด บอร์ดเดิมของบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่สามารถปลดบอร์ดทีพีไอเดิมได้ แต่การดำเนินการเรื่องเพิ่มทุน/ลดทุนทำได้เลย หากไม่สามารถหาพันธมิตรร่วมทุนได้ทันปี48 ก็จะยื่นแก้ไขแผนฯออก ไปอีกปีหนึ่ง ถ้าลากยาวต่อไป เมื่อครบกำหนดแล้วหาผู้ร่วมทุนไม่ได้ ก็ต้องออกจากการฟื้นฟูโดยแผนฯ ไม่สำเร็จ ซึ่งคลังในฐานะผู้บริหารแผนก็เสียชื่อ"

รายละเอียดการปรับโครงสร้างทุน ทีพีไอจะลดทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้ว 78,489 ล้านบาท ด้วยการลดพาร์จากเดิมหุ้นละ 10 บาทเหลือ 1 บาท เหลือทุนจดทะเบียน 7,848 ล้านบาท หลังจากนั้นจะออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 11,651 ล้านบาท รวมกับหุ้นที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิแปลงดอกเบี้ยค้างจ่ายเป็นทุนจำนวน 6 พันล้านหุ้น มาจัดสรรขายให้กับพันธมิตรใหม่ ซึ่งจะเป็นนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลังโดยคาดว่าจะได้เงินมาชำระหนี้ 650 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการลดทุนครั้งนี้จะนำไปล้างขาดทุนสะสม ทำให้บริษัทฯสามารถจ่ายเงินปันผลได้ภายใน2-3ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ทีพีไอจะดำเนินการขายหุ้นทีพีไอโพลีนที่ถืออยู่ 249 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐ มาชำระหนี้ด้วย ทำให้บริษัทคงเหลือหนี้เงินต้นเพียง 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งบริษัทฯ จะนำเงินจากการดำเนินงานมาชำระหนี้ภายในระยะเวลา 12 ปี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.