สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการสำรวจความคิดของบุคคลทั่วไปเกี่ยวกับภาพพจน์และการบริหารงานบุคคลบริษัทในประเทศไทย
เพื่อทำการจัดอันดับบริษัทของไทยภายใต้หัวข้อต่อไปนี้ 1.
บริษัทที่เป็นองค์กรชั้นนำที่ดีที่สุดในประเทศไทย 2. บริษัทที่ให้ความสำคัญกับงานบริหารและพัฒนาบุคลากรมากที่สุด
3. บริษัทที่มีบุคลากรที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด 4. บริษัทที่มีหน่วยงานบริหารงานบุคคลที่มีคุณภาพมากที่สุด
5. บริษัทที่สามารฝ่าฟันวิกฤตทางเศรษฐกิจได้ดีที่สุด
ทั้งนี้จากการสำรวจ พบว่า บริษัทที่ได้คะแนนเฉลี่ยทุกด้านสูงสุด ได้แก่ บริษัท
ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทที่ได้คะแนนในอันดับรองลงมา ได้แก่ บริษัท ชิน
คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จำกัด สำหรับบริษัทอื่น
ๆ ที่มีคะแนนอยู่ใน 10 อันดับแรก ไม่ว่าจัดด้วยคะแนนรวมทุกด้าน หรือคะแนนเฉพาะด้านอื่น
ๆ ก็ล้วนแต่เป็นบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียงของประเทศ ทำให้ผลการสำรวจครั้งนี้ มิได้พลิกความคาดหมายแต่อย่างใด
ผลจากการสำรวจดังกล่าว นายทายาท ศรีปลั่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท วัทสัน ไวแอท
(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารงานบุคคล ตั้งข้อสังเกตถึงคุณสมบัติโดยรวมของบริษัทที่เป็น
“ท็อปเทน” ของไทยเหล่านี้ว่า ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ มีพนักงานจำนวนมาก
มีการดำเนินงานในประเทศมาเป็นเวลาค่อนข้างนาน
นอกจากนี้ ฝ่ายบุคคลของบริษัทเหล่านี้ยังค่อนข้างมีบทบาทสำคัญในการพัฒนามาตรฐานงานบุคคลในประเทศทั้งในรูปของกิจกรรมในงานวิชาชีพ
การเข้าร่วมสัมมนาและการเผยแพร่ความรู้และการเปิดให้บริษัทอื่นเข้าไปเยี่ยมชมกิจการของตนเอง
ที่สำคัญ ผู้บริหารบุคคลมีความตื่นตัวในการเรียนรู้ และมีการนำเอาวิทยาการใหม่ๆ
มาใช้ มีการติดต่อกับบริษัทข้ามชาติทั้งที่อยู่ในและนอกประเทศมีการเปรียบเทียบกับบริษัทอื่น
ๆ อย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า บริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งมีวิศวกรในสายงานวิศวกรรมกลับให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรมากกว่าบริษัทในกลุ่มธุรกิจบริการ
เช่น ธนาคาร, บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ซึ่งบุคลากรจำเป็นจะต้องมีความรู้ความสามารถสูง
มีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา
ทั้งนี้ นายทายาทได้ชี้ว่า ความขัดแย้งข้อนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงที่สำคัญอันเป็นสาเหตุที่ทำให้หลาย
ๆ องค์กรในภาคบริการพบกับภาวะล้มละลาย หรือเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำนั่นคือ
การขาดความใส่ใจที่จะพัฒนาบุคลากรของตนซึ่งเป็นกลจักรสำคัญที่สุดขององค์กรในกลุ่มธุรกิจให้บริการ
องค์กรในภาคอุตสาหกรรมถึงแม้จะได้รับผลพวงจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่แต่กลับมาฟื้นตัวได้เร็วกว่า
เนื่องจากได้มีการพัฒนาบุคลากรอยู่อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ องค์กรในกลุ่มบริการยังมีการจัดจ้างบุคลากรในระดับปริญญาโทและผู้จบการศึกษาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากและบุคลากรเหล่านั้นมีความก้าวหน้าในตำแหน่งงานอย่างรวดเร็วจนเกินไปจนขาดความเชี่ยวชาญและช่ำชองในงานที่ตนทำ
ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรกลุ่มบริการให้ความสำคัญกับใบปริญญาความหรูหรา ปัจจัยนอกกายอื่น
ๆ ที่ไม่ใช่ผลงานหรือความมานะบากบั่นของพนักงาน
“วัฒนธรรมองค์กรในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่วนเวียนอยู่กับภาพลวงตาของความฟุ้งเฟ้อและความสำเร็จในระยะสั้น
มีการจ่ายเงินเดือนและโบนัสเป็นจำนวนมากให้กับพนักงานที่มีปริญญาหรือนามสกุลดี
ๆ ค่อนข้างมาก ถึงแม้ว่าบุคคลเหล่านั้นจะมีผลงานที่ค่อนข้างน้อยภาวะของการให้ค่าตอบแทนเกินจริงก่อให้เกิดความแตกแยกต่อองค์กร
ต่อทีมงาน มีความขัดแย้งระหว่างคนทำงานได้จริงกับคนทำงานแบบฉาบฉวย”
หากจะมีคำถามว่า วงจรอุบาทว์หรือค่านิยมอันนี้ในปัจจุบันได้หมดสิ้นไปหรือได้เจือจางลงหรือไม่หลังจากได้รับบทเรียนที่ขื่นขมที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์
นายทายาทให้ความเห็นว่า ยังอีกนาน เว้นแต่ภาวะการตกต่ำทางเศรษฐกิจจะเกิดต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย
5 ปี ค่านิยมของบ้านเราในเรื่องนี้อาจลดน้อยลงไปได้บ้าง
จากการดำเนินการสำรวจในครั้งนี้ ยังพบด้วยว่า ทักษะความสามารถของนักบริหารงานบุคคลที่กลุ่มตัวอย่างเห็นว่ามีความสำคัญที่สุดได้แก่
การคิดอย่างมีกลยุทธ์ และการจัดการกับความเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ทักษะความสามารถทั้งสองด้านนี้
เป็นสิ่งที่กลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าพัฒนาให้เกิดขึ้นได้ยากที่สุดเช่นกัน
บริษัทที่บุคคลทั่วไปเห็นว่าเป็นองค์กรชั้นนำที่ดีที่สุดในประเทศไทย
1. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จำกัด
3. บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
4. บริษัท เชลล์ (ประเทศไทย) จำกัด
5. กลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์
6. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
7. บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
8. บริษัท เทเลคอมเอเชีย จำกัด
9. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด
10. บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
บริษัทที่บุคคลทั่วไปเห็นว่าสามารถฝ่าฝันวิกฤตทางเศรษฐกิจได้ดีที่สุดในประเทศไทย
1. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
3. กลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์
4. บริษัท การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จำกัด
5. บริษัท เทเลคอมเอเชีย จำกัด
6. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด
7. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
8. บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
9. บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
10. บริษัท เชลล์ (ประเทศไทย) จำกัด