กรณีกรมศุลกากรเข้าจับกุมเรือน้ำมันสิงคโปร์ซึ่งเกี่ยวพันกับ บริษัทปตท.
จำกัด (มหาชน) และ บริษัทไทยออยล์ กลายเป็นประเด็นอื้อฉาวที่เปิดไปสู่การสืบสาวขบวนการค้าน้ำมันอย่างผิดกฎหมายบ่อนทำลายชาติ
‘เอนรอน’ภาคไทย
ทันทีที่กระแสข่าวนี้แพร่สะพัด พฤติกรรมของผู้บริหารบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งปตท.และไทยออยล์ก็ถูกมองเปรียบเทียบกับบริษัทเอนรอน
ผู้ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่เพิ่งล้มละลายลงจากฝีมือของผู้บริหารที่ใช้บริษัทเป็นเครื่องมือหาเงินเข้ากระเป๋า
แหล่งข่าวจากวงการค้าน้ำมัน เปิดเผยว่า ข้อกล่าวหาที่กรมศุลกากรแจ้งต่อปตท.
และไทยออยล์นั้น มีข้อน่าสังเกตว่าผู้บริหารของทั้งสองบริษัทจงใจ หลีกเลี่ยง
มาตรา 100 พ.ร.บ. ศุลกากร โดยขอยกเว้นภาษีเพื่อการส่งออกจำนวน 166 ล้านบาทเศษ
ขณะที่การเปลี่ยนสัญชาติน้ำมันเป็นของสิงคโปร์เพื่อขอเข้าคลังทัณฑ์บนของปตท.ส่อเจตนาเลี่ยงภาษีสรรพสามิต
มาตรา 100 ตามพ.ร.บ.ศุลกากร ระบุว่า สินค้าที่ส่งออกนอกราชอาณาจักร ให้ได้รับยกเว้นหรือคืนภาษีหรือลดอัตราภาษีตามหลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่หากสินค้านั้นนำกลับเข้ามาในราชอาณาจักร
ให้ผู้นำเข้าเสียภาษีตามอัตราที่ใช้อยู่ในเวลาที่นำเข้า ซึ่งถ้าเป็นกรณีลดอัตราภาษีให้นำค่าภาษีที่ชำระไว้แล้วมาหักออกได้
ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นการนำเข้าเพื่อส่งกลับคืนโรงงานอุตสาหกรรม หรือคลังสินค้าทัณฑ์บน
“คำถามตามมาอีกว่า ไทยออยล์กับคลังปตท.อยู่ติดกันมีท่อต่อถึงกันได้ ทำไม?
ปตท.จึงต้องร่วมมือกับบริษัทต่างประเทศให้เข้ามาซื้อกับไทยออยล์ แล้วขายคืนให้กับปตท.โดยถ่ายเรือกันกลางทะเล”
แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นตัวอย่างของการทำลายชาติต้องการที่จะปั่นราคาน้ำมันให้ขึ้นตามต้องการ
โดยเก็บไว้เข้าคลังทัณฑ์บนเมื่อมีราคาแพงก็นำออกมาขาย โดยปตท.ร่วมมือผลักภาระให้กับประชาชน
“ผมยังทราบมาว่า ได้มีการตกลงจะทำลักษณะนี้อีก 4ครั้ง หากไม่โดนจับกุม เพราะ
ทำแล้วได้กำไรดี แต่เงินไม่เข้าบัญชีปตท. หรือ ไทยออยล์ ไปเข้าอีกบัญชีหนึ่งที่เปิดกันไว้ที่เกาะเคย์แมน”
แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม เขาตั้งข้อสังเกตว่า การเข้าจับกุมของศุลกากรมีเงื่อนงำที่ชวนสังสัยด้วยเช่นว่า
อาจจะรู้เห็นกับขบวนการนี้ด้วย เพราะหากดูตามเงื่อนเวลาที่ศุลกากรทราบเรื่องตั้งแต่วันที่
21 ม.ค. แต่เพิ่งแจ้งข้อหาวันที่ 29 ม.ค.ทิ้งห่างกันถึง 8 วัน ปกติแล้วหากพบลักษณะความผิดเกิดขึ้นตามมาตรา
100 จะต้องดำเนินการภายใน 24 ชั่วโมงทันที
ย้อนรอยเงื่อนงำ
รายละเอียดของเรื่องนี้เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยฝ่ายปราบปราม
กรมศุลกากร ได้ยึดเรือชื่อ อาเซียน โปรโมเตอร์ (Asean Promoter) สัญชาติ
สิงคโปร์ พร้อมอายัดน้ำมันสำเร็จรูปเบนซิน 95 จำนวน 250,000 บาร์เรล หรือประมาณ
41 ล้าน ลิตร ซึ่งเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือเขาบ่อยา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อขนถ่ายน้ำมันที่บรรทุกมาเข้าบรรจุในคลังน้ำมันของบริษัท
ปตท. โดยสงสัยว่า กระทำผิดกฎหมายด้วยการสำแดงเท็จในการทำพิธีการศุลกากรขาเข้า
และ ปลอมแปลงเอกสาร
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ ยังพบหลักฐานที่แสดงว่า น้ำมันดังกล่าวเป็นสินค้าที่แจ้งว่า
จะส่งออกไปยังสิงคโปร์ แต่กลับไปทำการถ่ายสินค้ากันกลางทะเลแล้วย้อนกลับเข้ามาในราชอาณาจักร
ถือเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยง มาตรา 100 ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร
จากการตรวจสอบของกรมศุลกากร ระบุว่า ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ไทย
ออยล์ ได้ขายน้ำมันเบนซิน 95 ปริมาณดังกล่าวให้บริษัททราฟิกูร่า สิงค์โปร์
บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ประกอบกิจการด้านเชื้อเพลิงของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ชิปปิ้งของบริษัท
ปตท. โดยเงื่อนไขF.O.B.ขนส่งโดยเรือชื่อ “มันดาเลย์”(Mandalay)
ต่อมาประมาณวันที่ 17-18 ม.ค.บริษัททราฟิกูร่า โดยนายทิษณุ รัตน์รักษ์ ได้ทำสัญญาขายน้ำมันเบนซินให้กับบริษัท
พีทีที เทรดดิ้ง โดยนายสุรงค์ บูลกุล และคณะ แล้วดำเนินการสูบถ่ายน้ำมันกลางทะเลจากเรือมันดาเลย์ที่ออกจากไทยออยล์ไปสู่เรือ
อาเซียน โปรโมเตอร์ ที่บริเวณ จ. ประจวบคีรีขันธ์ โดยออกนอกน่านน้ำไทยเพื่อแปลงสัญชาติเป็นของสิงคโปร์
รายงานการตรวจสอบแจ้งว่า เป้าหมายแรกของเรือ อาเซียน โปรโมเตอร์ จะเข้าเทียบท่าที่
คลังทัณฑ์บนของปตท.เขาบ่อยา ประมาณวันที่ 19-21ม.ค.แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเอกสารบนเรือยังไม่เรียบร้อย
และ เพื่อตบตาศุลกากรจึงสั่งเรือไปวนรอบเกาะสิงคโปร์ก่อน โดยจอดพักที่ท่าเรือ
2 แห่งของสิงคโปร์ ที่ท่าเรือออยล์แทงกิ้ง และวอผัก
ทั้งนี้ ในวันที่ 22-25 ม.ค. เรืออาเซียน โปรโมเตอร์ ได้ขนถ่ายน้ำมันประมาณ
2 ล้านลิตรเศษลง แล้วนำเอาน้ำมันพิเศษที่เรียกว่า “เจพีออยล์” กลับขึ้นเรือเพื่อจะใช้เป็นส่วนผสมกับน้ำมันเบนซินในเรือให้ได้ชนิด
และ มาตรฐานเป็นน้ำมันเบนซิน 95 ตามคำสั่งซื้อของ ปตท.
เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2545 เรืออาเซียน โปรโมเตอร์ ได้เข้าน่านน้ำไทยเพื่อนำน้ำมันเข้าคลังทัณฑ์บนของปตท.ที่เขาบ่อยา
และ ถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรจับกุมเมื่อวันที่ 29 ม.ค.ดังกล่าว
จากการกรทำดังกล่าวนี้ กรมศุลกากรได้ตั้งประเด็นการค้าน้ำมันของปตท.และไทยออยล์ว่า
น่าจะได้กำไรจากส่วนต่างไม่น้อยกว่า 6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากการขายให้บริษัททราฟิกูร่า
ณ ราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันสิงคโปร์ ลบ 3 เหรียญสหรัฐฯ (MOP-3) และ เมื่อ ปตท.ซื้อกลับคืนมาขายในประเทศไทย
ก็จะขาย ณ ราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันสิงคโปร์ บวก 3 เหรียญ (MOP+3)
กรมศุลกากร ได้แจ้งข้อกล่าวหากว่า 10 ข้อหา กับผู้เกี่ยวข้องจำนวน 13 คน
ที่ต้อง สงสัยว่าจะร่วมกันกระทำความผิด เมื่อวันพุธที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา
โดยผู้เกี่ยวข้องดังกล่าว ประกอบ ไปด้วยผู้บริหารระดับสูงของบริษัทไทยออยล์
และ บริษัท ปตท. อาทิ นายจุลจิตต์ บุณยเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท
ไทยออยล์ นายวิเศษ จูภิบาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. นายสุรงค์ บุลกุล
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการค้าต่างประเทศ นายพิพัฒน์ สุวรรณชฏ กรรมการผู้จัดการ
ปตท. สาขาประเทศสิงคโปร์ รวมทั้งนายทิษณุ รัตนรักษ์ ตัวแทนบริษัททราฟิกูร่า
เจ้าของเรือซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น พร้อมเจ้าหน้าที่และลูกเรือที่เกี่ยวข้อง
ปตท.ยันโปร่งใส
นายวิเศษ จูภิบาล กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT
เปิดแถลงข่าววานนี้(14ก.พ.) ว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะ น้ำมันดังกล่าวเป็นของบริษัทผู้ค้าน้ำมันต่างชาติคือบริษัททราฟิกูร่า
ที่นำเข้ามาฝากเก็บไว้ ณ คลังน้ำมันทัณฑ์บนของปตท.ที่ศรีราชา เพื่อเตรียมรอส่งออกอีกครั้ง
ซึ่งจะเป็นช่วงใดนั้นขึ้นอยู่กับลูกค้า ที่มาใช้บริการฝากเก็บไว้ที่คลังน้ำมันทัณฑ์บน
แต่ทั้งนี้จะต้องฝากไว้ไม่เกิน 1 เดือน ตามข้อกำหนดของกรมศุลกากร
สำหรับขั้นตอนการทำงาน การเปิดให้บริการใช้คลังน้ำมันทัณฑ์บน มีขั้นตอนที่ชัดเจนและตรวจสอบได้
โดยปตท.แจ้งรายละเอียดสินค้าที่จะนำมาฝากแก่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรไว้ชัดเจนและครบถ้วน
เช่น หมายเลขถัง ที่จัดเก็บน้ำมัน ซึ่งถังที่รับฝากนี้ สามารถขนถ่ายน้ำมันจากเรือขนาดใหญ่เท่านั้น
และมีระบบท่อทางลับ และ จ่ายแยกไว้เฉพาะ
อย่างไรก็ตาม การให้บริการเช่าคลังน้ำมันทัณฑ์บนตามข้อกำหนดของกรมศุลกากร
เจ้าของคลังทัณฑ์บนจะต้องรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเสียหายหรือสูญหายของน้ำมันที่ฝากไว้
แต่เนื่องจากบริษัททราฟิกูร่า ไม่มีถิ่นฐานในไทย ปตท.จึงต้องทำสัญญาซื้อน้ำมันเพื่อให้มีสิทธิ์ดูแลน้ำมัน
เพราะหากเสียหายปตท.จะต้องรับผิดชอบ
ขณะเดียวกัน ได้ทำสัญญาขายคืนแก่เจ้าของเดิม ด้วยปริมาณและคุณภาพเดิม โดยกำหนดราคาไว้ชัดเจน
ตั้งแต่ต้น เพื่อให้มีส่วนต่างสอดคล้องกับค่าบริการเช่าถัง ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติทางการค้าทั่วไป
โดยปตท.ไม่มีการชำระเงินใดๆตามสัญญานี้
ด้าน นายอภิสิทธิ์ รุจิเกียรติ์ขจร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจน้ำมันบริษัทปตท.กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่ทราบเรื่องที่กรมศุลกากรจะฟ้องร้องผู้บริหารของปตท.
แต่ยืนยันว่าการดำเนินการครั้งนี้เป็นไปตามขั้นตอนและมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
ทั้งนี้ปตท.เพิ่งทำธุรกิจฝากเก็บน้ำมันและคลังน้ำมันทัณฑ์บนเป็นครั้งแรก
โดยจะเก็บค่าเช่าต่อเดือนเท่ากับ 23 เซ็นต์ต่อเดือนต่อบาร์เรล และจะรับฝากเพียง
6 เดือนตามข้อกำหนดเท่านั้น ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ปตท.จะต้องมีความรอบคอบในการตรวจสอบเรือที่มาใช้บริการมากขึ้น
นอกเหนือจากการตรวจสอบเอกสาร เพื่อป้องกันว่าเรือที่มาฝากน้ำมันไม่ได้แวะเปลี่ยนถ่ายน้ำมันระหว่างทาง
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าปตท.ยังคงจะดำเนินธุรกิจให้เช่าคลังน้ำมันทัณฑ์บนต่อไป
เนื่องจากต้องทำให้คลังน้ำมันศรีราชาเกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร แต่ปตท.จะไม่รับฝากเรือที่นำน้ำมันของไทยออกไปต่างประเทศ
และกลับเข้ามาใหม่ แต่กรณีที่เกิดขึ้นเป็นการนำน้ำมันออกไปจากไทย และไปผสมเปลี่ยนสูตรที่สิงคโปร์
จึงถือว่าทำได้และจะเป็นน้ำมันชนิดใหม่ ซึ่งไม่ใช่สูตรเดียวกับน้ำมันที่ซื้อจากไทยออยล์ไป
นอกจากนี้ ปตท.ได้นำตัวอย่างน้ำมันของเรือดังกล่าวจากกรมศุลกากร ที่เตรียมไว้
5 ชุด และพบว่า น้ำมันไม่ได้เป็นชนิดเดียวกับที่ซื้อไปจากไทยออยล์ อย่างแน่นอน
“สมคิด-สุริยะ”กร้าวเล่นงานเด็ดขาด
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
กล่าวว่า ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา และได้สั่งการให้
ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และ นายมานิต วิทยาเต็ม
อธิบดีกรมศุลกากรเข้าไปตรวจสอบร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความชัดเจน
และรายงานให้ทราบแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ ได้เรียนให้นายกรัฐมนตรีทราบ และนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้วโดยย้ำให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จะต้องรอรายละเอียดการตรวจสอบของกรมศุลกากรให้ครบถ้วนก่อน
หากพบทำผิดจริงก็จำเป็นต้องสั่งพักงานผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป และดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
แต่ทั้งหมดจะต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร
“หากองค์กรใดมีคนไม่ดีก็ต้องจัดการตามกฎหมาย” นายสมคดิ กล่าว
ด้าน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า
ได้รับทราบตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา และ ได้เชิญนายมานิต มาสอบถามข้อเท็จจริงแล้ว
พร้อมทั้งขอให้กรมศุลกากรดำเนินการสอบสวนเรื่องดังกล่าว อย่างตรงไปตรงมา
ว่า มีอะไรหรือไม่ หากมีสิ่งที่ไม่ถูกต้องขออย่าเกรงใจ ให้หาตัวผู้กระทำผิดออกมาให้ได้
โดยกระทรวงอุตสาห กรรมจะได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการไปยังกระทรวงการคลัง
ให้กำชับกรมศุลกากรดำเนินการสอบสวนอีกครั้งและหากผลตรวจสอบพบว่า มีการกระทำผิดจริง
แสดงให้เห็นว่า ในอดีตที่ผ่านมาก็ต้องมีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวมาก่อนเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้นายมนู เลียวไพโรจน์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏเป็นข่าวให้ครบทุกประเด็น
ทั้งนี้ จะต้องมีการพิสูจน์อีกหลายขั้นตอนว่า น้ำมันที่ออกไปจากบริษัทไทยออยล์
ไม่มีการผ่านกระบวนการที่ต้องทำ แต่กลับมีการนำเข้าน้ำมันดังกล่าวอีกนั้น
จะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติทางเคมีว่า เป็นน้ำมันล็อตเดียวกันหรือไม่ ซึ่งกรมศุลกากรจะต้องออก
ไปตรวจสอบให้ครบทุกประเด็น ยังไม่มีการจับกุมใครแต่อย่างใด
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว บริษัท
ปตท.ได้รายงานเรื่องมาให้ตนทราบเช่นกัน โดยรายงานว่า รายการที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นการซื้อน้ำมัน
แต่เป็นการให้เช่าคลังน้ำมัน ซึ่งตามมาตรา 6 ผู้ที่นำเข้าน้ำมันจะต้องมีใบอนุญาต
ดังนั้น บริษัททราฟิกูร่า ที่ต้องการนำเข้าจึงให้ทาง ปตท. ทำในลักษณะของใบสั่งซื้อ
และเวลาขายน้ำมันออกไปก็จะขายให้บริษัทเดิม และทาง ปตท.ก็จะได้ส่วนต่างจากค่าเช่าคลังน้ำมัน
เช่น สมมุติว่า ซื้อน้ำมันมาในราคา 100 ล้านบาท คิดค่าเช่าเดือนละ 1 ล้านบาท
ดังนั้น ในช่วงที่ขายน้ำมันออกไป จะเป็นราคา 101 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กระบวนการทั้งหมด จะต้องถูกตรวจสอบ เพราะตนยังไม่เชื่อข้อเท็จจริงว่า
จะเป็นอย่างที่ ปตท.ชี้แจงมาทั้งหมด โดยให้กรมศุลกากรเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ
เพราะว่า ในเรื่องนี้กรมศุลกากรได้แจ้งให้ทราบว่า ได้รับข่าวเรื่องดังกล่าวมาในทางลับจากสายสืบที่แจ้งมา
จึงอยู่ในขั้นตอนของการจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า เป็นไปตามที่สายสืบแจ้งมาหรือไม่
“หากได้ผลการตรวจสอบจากกรมศุลกากรแล้ว ผมจะให้ปตท.ชี้แจงต่อไป และประเด็นที่เกิดขึ้นนี้จะกระทบต่อราคาหุ้น
ปตท. หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการตรวจสอบ และหากมีการดำเนินการที่ทำแล้ว ไม่โปร่งใส
มีการกระทำทุจริต ไม่ถูกต้องจริง หรือขัดขวางการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ผู้บริหารก็ต้องถูกไล่ออก
” นายสุริยะ กล่าว
ส่งตำรวจคลี่คลายคดี
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้แจ้งให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี ทราบถึงปัญหาดังกล่าวแล้ว พร้อมกับขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาร่วมคลี่คลายปัญหานี้ให้เร็วที่สุด
ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ ส่ง พล.ต.อ. ชาญชิต เพียรเลิศ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
เข้ามาคลี่คลายปัญหาด้านกฎหมาย ทำเรื่องให้โปร่งใสที่สุดแล้ว
ด้าน นายมานิต วิทยาเต็ม อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรคาดว่า จะสรุปได้ใน
1-2 วันนี้ โดย กรมศุลกากรจะรายงานไปยังกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะที่เป็นผู้ดูแลปตท.
กับไทยออลย์ และกระทรวงพาณิชย์ในฐานะที่ดูแลคุณภาพน้ำมัน และเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีต่อไป
สำหรับการแจ้งดำเนินคดีนั้น ที่กรมศุลกากร เป็นเจ้าทุกข์นั้น กรมศุลกากรจะแจ้งความดำเนินคดีกับนิติบุคคลบริษัท
ปตท. จำกัด(มหาชน) เนื่องจากแจ้งความเท็จต่อศุลกากรกรณีที่ได้สำแดงนำเข้าน้ำมันเท็จ
ซึ่ง มีโทษจำคุก 6 เดือนปรับ 50,000บาท ซึ่งขณะนี้กำลังร่างเอกสารต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้องอยู่ ที่จะทำให้เบ็ดเสร็จทั้งเอกสารที่ส่ง 3 กระทรวงและตำรวจ
4 ทางพร้อมกัน สาเหตุที่เอาผิดปตท. เพราะได้แสดงตัวเป็นเจ้าของน้ำมันต่อศุลกากร
เพื่อรับน้ำมันเข้าเก็บคลังน้ำมันทัณฑ์บน
ส่วนจะเอาผิดเจ้าหน้าที่ปตท. กี่คน ก็คงจะเป็นเจ้าหน้าที่ในเนื้องานของปตท.
ถ้าพูดในฐานะองค์การ ผู้ว่าการปตท.เป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากน้ำมันเป็นขององค์กรที่เรียกว่า
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้มอบอำนาจให้รองผู้ว่าการ และให้ชิปปิ้ง
และให้ใครต่อใครปฏิบัติพิธีการแทน แต่ตัวการคือ ปตท. ที่มีผู้ว่าการเป็นผู้แทนนิติบุคคล
ไทยออลย์อาจรอดตัว
นายมานิต กล่าวว่า ในส่วนบริษัท ไทยออลย์ กรมศุลกากรยังไม่ได้แจ้งความเอาผิดอะไร
แต่ก็มีเงื่อนงำอย่างหนึ่ง คือ การที่เรือบรรทุกน้ำมันลำหนึ่งบรรทุกน้ำมันไปมีมูลค่า
100 กว่าล้าน และกลางทางไปถ่ายน้ำมันให้กับเรืออีกลำหนึ่งต้องมีคนสั่งการที่สามารถสั่งได้
ซึ่งตรงนี้ กรมศุลกากรสอบไม่ถึง ตำรวจจะทำการสอบสวนเรื่องนี้ต่อไป ซึ่งคนสั่งอาจเป็น
ก็เป็นทราฟิกูร่าก็ได้ ส่วนการทำผิดทางสรรพสามิตได้พิจารณากรณีที่กรมศุลกากรส่งไปแล้ว
เห็นว่า ไม่ผิดกฎหมายสรรพสามิต เพราะน้ำมันส่งออกไปขายต่างประเทศเสร็จ ไม่ได้ขายในประเทศ
ส่วนเรือบรรทุกน้ำมันจะเอาผิดอะไรยังไม่ได้ แต่สมคบอยู่ในกระบวนการ แต่กรมศุลกากรยังเอาผิดไม่ได้เพราะยังพิสูจน์ไม่ได้
“ขณะนี้กรมศุลกากรได้กักเรือเอเซียนโปรโมเตอร์ไว้ และไม่ให้เอาน้ำมันขึ้นแทงก์ฟาร์ม
ซึ่งเป็นคลังน้ำมันทัณฑ์บน เพราะหากมีการนำน้ำมันเข้าเก็บ จะทำให้หลักฐานเสียเพราะน้ำมันจะเข้าไปผสมกัน
และขณะนี้ปตท.ได้ยกเลิกคำขอนำน้ำมันขึ้นเก็บคลังสินค้าทัณฑ์บนแล้ว พร้อมกับขอส่งกลับไปยังต้นทางคือ
ขอส่งออกไปต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากรก็จะดำเนินการไปตามหลักฐานที่มี
เพราะมีตัวอย่างและมีผลการวิเคราะห์แล้ว รู้ว่า น้ำมันที่นำเข้ามาเป็นอย่างไร
โดยวิเคราะห์ไปตามผลตัวอย่างและรูปเรื่องต่าง ๆ เพราะความผิดเกิดขึ้นแล้ว
ล้างไม่ได้” นายมานิต กล่าว
นายมานิต กล่าวว่า กรมศุลกากร ได้ชักตัวอย่างน้ำมันจากเรือเอเซียนโปรโมเตอร์
โดยทำต่อหน้าตัวแทนของผู้นำเข้า ต่อหน้าเอเยนต์เรือ และวานนี้ ได้ชักตัวอย่างน้ำมันเพิ่มอีกสำรองไว้อีก
1 ชุด แทงก์ละ 4 ขวด และเรื่องนี้กรมศุลกากร เริ่มตรวจสอบเมื่อวันที่ 29
ม.ค.ที่ผ่านมา การตรวจสอบห้องแล็ปตรวจตัวอย่างละ 3 ชั่วโมง และตัวอย่างที่พบมีเสป็กมาจากเรือ
มันดาเลย์
“ส่วนบริษัททราฟิกูร่าอยู่ต่างประเทศ ยังไม่ได้เอาผิด แต่สรุปได้ว่า ทำอะไรพิรุธมาก
ๆ และกรณีนี้เป็นกรณีแรก” นายมานิต กล่าว
ปตท.ถือเป็นบทเรียน
นายสุรงค์ บูลกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ การค้าระหว่างประเทศ กลุ่มธุรกิจน้ำมัน
ปตท.กล่าวว่า ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นที่กรมศุลกากรถือว่าผิดกฏหมายเพราะเป็นการนำน้ำมันจากไทยออยล์ที่ส่งออกเข้ามาประเทศไทยอีกครั้ง
ก็ถือว่าเป็นบทเรียนที่ต่อไป ปตท.คงจะต้องตรวจสอบเข้มงวดว่าหากใครเข้ามาใช้คลังทัณฑ์บนแล้วต้องดูว่าเป็นน้ำมันที่ซื้อมาจากโรงกลั่นในไทยหรือไม่
หากเป็นน้ำมันจากโรงกลั่นฯไทยก็คงจะต้องดูว่าสมควรให้ใช้คลังทัณฑ์บนหรือไม่
หรืออาจจะต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดว่ามีการดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่
รวมทั้งจะต้องไปตรวจสอบที่มาที่ไปหรือปูมหลังของเรือขนส่งน้ำมันด้วยว่ามีที่มาอย่างไร
เพื่อจัดทำเอกสารจัดส่งแก่กรมศุลกากรถูกต้องและรวดเร็ว
ด้านนายจุลจิตต์ บุณยเกต กรรมการอำนวยการไทยออยล์ กล่าวเพียงว่าการซื้อขายน้ำมันครั้งนี้เป็นการซื้อขายปกติ
เพราะไทยอยอล์ส่งออกไปสิงคโปร์ 80-120ล้านลิตรต่อเดือน ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมันที่จำหน่ายในประเทศไทย
เพราะคนละสเป็กกัน
พาณิชย์ว่าเช่าโกดังไม่ผิดกม.
นายสกล หาญสุทธิวารินทร์ รองอธิบดีกรมทะเบียนการค้ากล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมทะเบียนการค้าอยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียดกับข่าวและข้อมูลดังกล่าวให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ ตามข้อมูลการรายงานของบริษัท ปตท. และบริษัท ไทยออลย์ ซึ่งระบุในเรื่องนี้ว่า
ทางปตท.ไม่ได้เป็นการซื้อน้ำมัน แต่เป็นการให้เช่าคลังน้ำมัน ซึ่งตามมาตรา
6 ผู้ที่นำเข้าน้ำมันจะต้องมีใบอนุญาต ดังนั้น บริษัททราฟิกูร่า ที่ต้องการนำเข้าจึงให้ทาง
ปตท. ทำในลักษณะของใบสั่งซื้อ และเวลาขายน้ำมันออกไปก็จะขายให้บริษัทเดิม
และทาง ปตท.ก็จะได้ส่วนต่างจากค่าเช่าคลังน้ำมัน ทำให้ต้องมีการตรวจสอบในรายละเอียดข่าวดังกล่าวก่อนที่ทางกรมทะเบียนการค้าจะออกมาบอกผิดหรือไม่
“ขณะนี้ผมคงบอกข้อมูลอะไรไม่ได้มากนัก เพราะต้องรอคำชี้แจงและข้อมูลที่ถูกต้องจากกระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรมก่อน
แต่หากเป็นการกระทำโดยระบุเพื่อต้องการส่งออกและไม่ได้ส่งออกแต่กลับนำมาขายหรือจำหน่ายภายในประเทศ
ตรงนี้ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายผู้ค้าน้ำมันของกระทรวงพาณิชย์ โดยถือว่าน้ำมันที่นำกลับเข้ามาเป็นน้ำมันไม่มีคุณภาพอาจสร้างความเสียหายให้กับผู้ใช้ได้
แต่หากเป็นการเช่าโกดังเพื่อเก็บน้ำมันไว้เพื่อการส่งออกตรงนี้ ไม่เข้าข่ายผิดกฎหมายเพราะเป็นน้ำมันไว้สำหรับการส่งออก
แต่หากเป็นการกระทำเพื่อหวังผลกำไรนำน้ำมันกลับเข้ามาจำหน่ายภายในประเทศแทน
ผิดตามกฎหมายผู้ค้าน้ำมันมีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-3 ปีปรับหลายหมื่นบาท”นายสกลกล่าว