|
"วิโรจน์" ขอศาลปกครองสั่งKTBชะลอเอ็มดีใหม่
ผู้จัดการรายวัน(3 พฤศจิกายน 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
"วิโรจน์ นวลแข" แจงศาลปกครองปมฟ้อง "หม่อมอุ๋ย" พร้อมยื่นคำร้องขอศาลสั่งบอร์ดกรุงไทยชะลอการสรรหาเอ็มดีกรุงไทยใหม่ และให้ ธปท. รับผิดชอบค่าจ้างทนาย ขณะที่หม่อมอุ๋ยไฟเขียวบอร์ดกรุงไทยตั้ง "อภิศักดิ์" นั่งเอ็มดีโดยไม่ต้องเสนอ ธปท.พิจารณา
วานนี้ (2 พ.ย.) เวลาประมาณ 13.30 น. นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้เดินทางมาที่ศาลปกครอง พบกับนายไชยวัฒน์ ธำรงศรีสุข ตุลาการศาลปกครองกลาง ตามที่ศาลปกครองนัดไต่สวนคดีที่นายวิโรจน์ ขอให้ 1.เพิกถอนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 เรื่องประกาศ ธปท. เรื่องคุณสมบัติผู้บริหารสถาบันการเงินให้มีผลย้อนหลัง ไปถึงวันที่มีผลบังคับ และสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คือ ธปท. และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการ
ธปท. ละเว้นการกระทำในลักษณะเดียวกัน
และ 2.ขอให้ ธปท. เพิกถอนคำสั่ง ธปท. สกส (02) 1691/2547 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2547 เกี่ยวกับการแต่งตั้งนายวิโรจน์ นวลแข เป็นกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย เนื่องจากขาดคุณสมบัติของ ธปท. และไม่ให้ ธปท. ดำเนินการในลักษณะนี้อีก พร้อมทั้งเรียกร้องค่าเสียหาย 201 ล้านบาท
นายวิโรจน์ กล่าวภายหลังจากการชี้แจงกับศาลปกครองว่า การมาศาลปกครองในวันนี้ มาเป็นนัดแรกของการไต่สวนคดี ซึ่งศาลปกครองได้ให้ตนขยายข้อความคำร้องในคำฟ้องทั้ง 2 ข้อ ให้มีความชัดเจนขึ้น ซึ่งขั้นตอนต่อไปทางศาลปกครองจะพิจารณาว่าจะรับคำร้องหรือไม่
สำหรับการฟ้องคณะกรรมการธนาคารกรุงไทย นายวิโรจน์กล่าวว่า จะยังไม่มีการฟ้องในระยะนี้ เพราะการฟ้อง ธปท. และผู้ว่าการ ธปท.ในครั้งนี้ ดำเนินการตามหลักการไม่ใช่เรื่องส่วนตัว และศาลปกครองก็เป็นศาลที่มีอำนาจสูงสุดในขั้นนี้อยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงใบปลิวที่ออกมาโจมตี ไม่ให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย นายวิโรจน์ ตอบเพียงว่า ไม่ทราบเรื่อง คงจะวิจารณ์ไม่ได้ แต่เชื่อว่าธนาคารกรุงไทย เป็นธนาคารที่มีศักยภาพที่ดีมาก แต่ก็จำเป็นที่ต้องมีผู้บริหารที่แข็งแกร่งเข้ามาดูแล
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายวิโรจน์ ได้ยื่นคำร้องเพิ่มเติมอีก 2 ข้อ ต่อศาลปกครอง คือขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้บอร์ดธนาคารกรุงไทย ชะลอการสรรหากรรมการผู้จัดการแทนนายวิโรจน์ และให้ ธปท. เป็นผู้รับผิดชอบค่าจ้างทนายและค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด ซึ่งหากศาลปกครองรับ คำร้อง กระบวนการพิจารณาทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี
รายงานข่าวเปิดเผยว่า กระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ภายหลังจากที่นายวิโรจน์ได้เข้าไปชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม คาดว่าจะมีการพิจารณาภายใน 1 สัปดาห์ว่าจะรับเรื่องเพื่อทำการไต่สวนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคำร้องที่ยื่นเข้ามาใหม่เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว
"หม่อมอุ๋ย" การันตีอภิศักดิ์
คุณสมบัติพร้อมเป็นเอ็มดีกรุงไทย
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า คณะกรรมการธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ส่งเรื่องในการพิจารณาคุณสมบัติกรณีแต่งตั้งนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ให้เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย แทนนายวิโรจน์ เนื่องจากคณะกรรมการของธนาคารกรุงไทยพิจารณาแล้วเห็นว่า นายอภิศักดิ์ไม่เข้าเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งใน 8 ข้อที่ประกาศของธปท.เรื่องการแต่งตั้งผู้บริหารสถาบันการเงิน ดังนั้นสามารถดำรงตำแหน่งกรรมการ ผู้จัดการธนาคารกรุงไทยได้
ทั้งนี้ ตามประกาศที่ออกไป 8 ข้อนั้น เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ธปท.กับคณะกรรมการธนาคารหรือผู้ถือหุ้นตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่ง 5 ข้อแรกในประกาศเรื่องการแต่งตั้ง ผู้บริหารสถาบันการเงินนั้น ธปท. มาจากประกาศเรื่องการตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่ตามแผนแม่บทที่ออกโดยกระทรวงการคลังส่วนอีก 3 ข้อที่เหลือคัดลอกมาจากประกาศเรื่องคุณสมบัติของผู้บริหารของ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก ทรัพย์ฯ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น จึงเป็นคุณสมบัติที่ผู้บริหารควรจะมี
"กรณีของนายอภิศักดิ์ หากคณะกรรมการธนาคารพิจารณาแล้วไม่มีข้อสงสัยก็ไม่จำเป็นต้องส่ง มาให้ ธปท.พิจารณา ซึ่งได้เคยเป็นเอ็มดีอยู่ในแบงก์ และผู้บริหารระดับสูงอยู่แล้ว ธปท.ก็เห็นว่าไม่มีอะไรที่ผิดคุณสมบัติ แต่ถ้ากรุงไทยไม่แน่ใจในข้อไหน ก็ให้ถามเข้ามา ส่วนกรณีของนายวิโรจน์นั้นเมื่อมีกรรมการบางคนเห็นว่ามีข้อสงสัยก็สามารถถามมาที่ ธปท.ได้ ซึ่งก็พิจารณาและให้คำตอบ" ผู้ว่าการธปท.กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|