วิทิต ลีนุตพงษ์ อนาคตของยนตรกิจ ฝากไว้กับโฟล์ค


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ยนตรกิจในทุกวันนี้ สามารถเอ่ยปากกับทุกคนได้ว่า เป็นค่ายรถยนต์ คนไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ เพราะการตัดสินใจของวิทิต ลีนุตพงษ์ ที่ไม่ยอมเฉือนหุ้นให้บีเอ็มดับเบิลยู แล้วเปลี่ยนขั้วมาขายรถโฟล์คสวาเกน

เมื่อครั้ง ที่เครือยนตรกิจ ไม่สามารถตกลงเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการร่วมทุน กับบีเอ็มดับเบิลยู เอจี จัดตั้งบริษัท บีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย ส่งผลให้บริษัทแม่จากเยอรมนี ตัดสินใจเข้ามาตั้งโรงงาน และดึงการบริหาร การทำตลาดในประเทศไปรับผิดชอบเอง เมื่อต้นปี 2541 นั้น

หลายคนมองว่า อนาคตของยนตรกิจ คงจะเป็นเฉกเช่นเดียวกับค่ายรถยนต์ชาวไทยอีกหลายราย อย่างเช่น เบนซ์ หรือวอลโว่ ที่ถูกลดบทบาทเหลือเพียงเป็นดีลเลอร์รายหนึ่งเท่านั้น

แต่ยนตรกิจในทุกวันนี้ ยังคงยืน อยู่บนสนามการแข่งขันของอุตสาหกรรมรถยนต์ได้อย่างเต็มภาคภูมิ และสามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็นค่ายรถยนต์คนไทย ที่มีรถยนต์จำหน่ายมากที่สุดถึง 7 ยี่ห้อ

เพียงแต่ตัวสินค้าหลัก ได้เปลี่ยน จากบีเอ็มดับเบิลยู มาเป็นโฟล์คสวาเกน ซึ่งเป็นรถยนต์สัญชาติเยอรมันเช่นกัน

ยนตรกิจ ถือเป็นกลุ่มบริษัทของ คนไทย ที่เข้ามาบุกเบิกอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ ในยุคเริ่มต้นเมื่อกว่า 50 ปีก่อน โดยก่อกำเนิดขึ้นจาก 2 พี่น้อง อรรถพร และอรรถพงษ์ ลีนุตพงษ์ ที่เริ่มจากธุรกิจค้ายานพาหนะเหลือใช้จากสงครามโลกครั้ง ที่ 2

ต่อมาได้พัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์อย่างเต็มตัว โดยการนำเข้ารถยนต์จากสิงคโปร์ มาจำหน่ายในประเทศไทย และเริ่มก่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ของตนเองขึ้น โดยใช้ชื่อว่า วายเอ็มซี แอสเซ็มบลี เมื่อปี 2516

ปัจจุบัน การบริหารงานของเครือยนตรกิจได้ตกอยู่กับรุ่นลูกของอรรถพร และอรรถพงษ์ โดยมีวิทิต ลีนุตพงษ์ ทายาทคนสำคัญ เป็นคีย์แมนของกลุ่ม

ตลอดเวลา ที่ผ่านมา ยนตรกิจพยายามจะก้าวขึ้นเป็นที่ 1 ในการเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์จากซีกยุโรป โดยการนำเข้ารถยนต์หลายยี่ห้อมาจำหน่าย แต่บีเอ็มดับเบิลยู ก็เป็นสินค้าหลัก ที่ค่ายนี้ให้ความสำคัญในการขายมาถึง 33 ปี ก่อน ที่จะมีปัญหาเกิดขึ้น

ปมหลักของปัญหาคือ ธรรมเนียมของกลุ่มยนตรกิจ ไม่ต้องการให้บริษัทแม่ ซึ่งเป็นเจ้าของสินค้าเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในบริษัทร่วมทุน ดังนั้น เมื่อบีเอ็มดับเบิลยูได้เสนอสัดส่วนการถือหุ้น ที่น้อยกว่าให้กับยนตรกิจในบริษัทร่วมทุน วิทิตจึงไม่สามารถรับได้

"ธรรมชาติของการทำธุรกิจรถยนต์จะต้องดูแลความต่อเนื่องของลูกค้า ถ้าบริษัทท้องถิ่น ที่ทำธุรกิจนี้ไม่ถึงขั้นล้มพับไป บริษัทแม่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเข้ามาลงทุนเอง เพราะในแง่ของการทำตลาด และการขาย บริษัทท้องถิ่นทำได้ดีอยู่แล้ว" วิทิตให้เหตุผลไว้ในงานเซ็นสัญญาผลิตชิ้นส่วน และประกอบรถยนต์ให้กับโฟล์คสวาเกน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหม่ เมื่อกลางปี 2541

การตัดสินใจเปลี่ยนขั้วมาขายรถโฟล์คสวาเกน เท่ากับเป็นการประกาศ การแข่งขันกับบีเอ็มดับเบิลยูโดยตรง เพราะในเครือของโฟล์คกรุ๊ปนั้น มีรถออดี้ ซึ่งจัดอยู่ในเกรดรถระดับหรู เช่นเดียวกับบีเอ็มดับเบิลยู

ปัจจุบัน ออดี้ A6 ที่มาจากสายการผลิตของโรงงานวายเอ็มซี ได้เริ่มนำออกมาขายแล้วเมื่อปลายเดือนมิถุนา ยน ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ โรงงานดังกล่าว ก็ได้เริ่มผลิตรถโฟล์คสวาเกน รุ่น พัสสาท และเริ่มนำออกมาขายในตลาดตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม

แม้จะเป็นช่วงเริ่มต้นของการเปิดตัว แต่วิทิตก็ค่อนข้างมั่นใจในตลาดของรถโฟล์คสวาเกนในประเทศไทย เพราะอนาคตของยนตรกิจภายใต้การนำของเขานั้น ขึ้นอยู่กับยอดขายรถในกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.