PTTEPฟันกำไรQ3ถึง4.1พันล้าน


ผู้จัดการรายวัน(2 พฤศจิกายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ปตท.สผ.โชว์งบ ไตรมาส 3 กำไร 4,111 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้รวม 12,757 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จากการขายก๊าซธรรมชาติของโครงการบงกชและการขายคอนเดนเสทและราคาขายผลิตภัณฑ์ก็เพิ่มขึ้นตามความต้องการในตลาดโลก

นายสมเกียรติ จันทร์มหา รองผู้จัดการใหญ่สายงานกลยุทธ์และพัฒนาศักยภาพ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 3 สิ้นสุด 30 กันยายน 47 ว่า บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 4,111.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 3,891.26 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มจาก 5.97 บาทเป็น 6.30 บาทต่อหุ้น

เนื่องจากในไตรมาสนี้ บริษัทฯและบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 12,757 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,834 ล้านบาท หรือ 29% เมื่อเทียบ กับไตรมาสที่ 3 ปี 2546 ซึ่งมีรายได้รวม 9,923 ล้านบาท ในส่วนของ ค่าใช้จ่ายนั้น มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 5,152 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,560 ล้านบาท หรือ 43% เมื่อเทียบกับไตร-มาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 3,592 ล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานงวดเก้าเดือน ปี 2547 บริษัทฯและบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 34,797 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 15,062 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 10,766 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 16.50 บาท เมื่อเทียบกับงวดเก้าเดือน ปี 2546 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 10,035 ล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 15.39 บาท

ผลงานไตรมาส 3 รายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้น 9% เนื่องจากราคาขายผลิตภัณฑ์ในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นเป็น 23.83 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เมื่อเปรียบเทียบกับราคาขายผลิต-ภัณฑ์ในไตรมาสก่อนที่ 22.86 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และปริมาณการขายในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นเป็น 135,456 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณขายไตรมาสก่อนที่ 133,101 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลจากการขายก๊าซธรรมชาติของโครงการบงกชและการขายคอนเดนเสทของโครงการไพลิน ปตท.สผ.และบริษัทย่อย มีค่าใช้จ่ายในไตรมาสนี้รวมทั้งสิ้น 5,152 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนจำนวน 5,347 ล้านบาท ลดลง 195 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 4 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลสุทธิจากผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลง ค่าเสื่อมราคาที่ลดลงจากการปรับเพิ่มปริมาณสำรอง (Proved Developed Reserve) ในโครงการไพลิน และค่าใช้จ่ายในการ ผลิตเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุง และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต

ทั้งนี้ ปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผลจากการขายน้ำมันดิบโครงการเอส 1 (ตามสัดส่วนการเข้าซื้อหุ้นในบริษัท ไทยเชลล์ เอ็กซ์พลอเรชั่น แอนด์ โปรดักส์ชั่น จำกัด) รวมทั้งการขายก๊าซธรรมชาติและคอนเดนเสทในโครงการบงกช เยตากุน และไพลิน

สำหรับค่าใช้จ่ายในรวมของบริษัทและบริษัทในไตรมาส 3 ปีนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 5,152 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,560 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบ กับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จำนวน 3,592 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 43% ส่วนใหญ่เป็นผลจากค่าเสื่อมราคาและการตัดจ่ายที่เพิ่มขึ้นของโครงการเอส 1 ตามสัดส่วนจากการเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดในบริษัทไทยเชลล์ และค่าเสื่อมราคาของโครงการบงกช ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นตามปริมาณการผลิตและสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น รวมค่าภาคหลวงสำหรับปิโตรเลียม ซึ่งสูงขึ้นตามรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ บริษัทและบริษัทย่อยยังมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนอีก 206 ล้านบาท อันเป็นผลจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง และในไตรมาสนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายภาษีเงิน ได้เพิ่มขึ้น 1,064 ล้านบาท ส่วนใหญ่จากภาษีที่เพิ่มขึ้นจำนวน 507 ล้านบาทจากโครงการเอส 1 ตามสัดส่วนที่ซื้อเพิ่มและค่าใช้จ่ายภาษี ในสหภาพพม่าที่เพิ่มขึ้นในโครงการยาดานา จากการลดลงของการ ใช้ผลประโยชน์ในส่วนของ Cost Recovery ส่งผลให้กำไรทางภาษีเพิ่มขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.