วิชัยเผยแผนล้างขาดทุนสะสมPYTดึงพันธมิตรโรงพยาบาล"สวอปหุ้น"


ผู้จัดการรายวัน(1 พฤศจิกายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"วิชัย ทองแตง" เดินหน้าฟื้นฟูกิจการโรงพยาบาลพญาไท เล็งสวอปหุ้นโรงพยาบาลพันธมิตร ดันสินทรัพย์เพิ่ม "ทางลัด" ล้างขาดทุนสะสมที่มีกว่า 1.4 พันล้านบาท เกลี้ยงภายในครึ่งแรกปี 2548 ก่อนกลับเข้ามาเทรดในตลาดหุ้นอีกครั้งปลายปี

นายวิชัย ทองแตง ประธานคณะกรรมการ บริษัทประสิทธิพัฒนา จำกัด (มหาชน) (PYT) ผู้บริหารโรงพยาบาลในเครือพญาไท เปิดเผย ถึงความคืบหน้าในการฟื้นฟูกิจการโรงพยาบาลพญาไทว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างติดต่อหาพันธมิตรที่ทำธุรกิจโรงพยาบาลเข้าร่วมทุน โดยกระบวนการร่วมทุนจะเป็นการแลกหุ้น (สวอป) หุ้น ซึ่งจะทำให้ขนาดสินทรัพย์ของโรงพยาบาลพญาไทเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดขาดทุนสะสมที่มีอยู่ปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ ในปัจจุบันหลังจากที่เข้ามาบริหารโรงพยาบาลพญาไทมีสถานะดีขึ้นต่อเนื่อง โดยสามารถทำกำไรได้ตั้งแต่ออกจากศาลล้มละลายกลาง เมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดงบการเงินในไตรมาส 2 ปี 2547 มีกำไรสุทธิกว่า 91.58 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิกว่า 63.91 ล้านบาท

ขณะที่ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2547 มีกำไรสุทธิกว่า 181.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิกว่า 105.44 ล้านบาท

"ภายในปลายปีนี้ หรืออย่างช้าต้นปีหน้า จะมีดิวการสวอปหุ้นระหว่างโรงพยาบาลพญาไท กับโรงพยาบาลบางแห่งเกิดขึ้น และต่อเนื่อง ไปจนถึงครึ่งปีแรกของปีหน้า ซึ่งจะทำให้ขนาดสินทรัพย์ของโรงพยาบาลพญาไท เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ส่วนของ ผู้ถือหุ้นที่ขาดทุนสะสมอยู่ลดลง และคาดว่าจะเห็นยอดขาดทุนสะสมที่มีอยู่หมดไปภายในครึ่งปีแรก"

สำหรับยอดขาดทุนสะสมของโรงพยาบาลพญาไท ในครึ่งปีแรกของ ปี 2547 อยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท ลดลง จากสิ้นปี 2546 ที่มียอดขาดทุนสะสม กว่า 1.6 พันล้านบาท

นายวิชัยกล่าวว่า หลังจากที่ออกจากศาลล้มละลายกลาง สถานะของโรงพยาบาลพญาไทดีขึ้นต่อเนื่อง และคาดว่าจะสามารถกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้อีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลังของ ปี 2548

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างหารือกับพันธมิตรที่ทำธุรกิจโรงพยาบาลในต่างประเทศ เข้ามาร่วมทุนอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ นายวิชัยกล่าวว่า แนวโน้มการเปิดเสรีธุรกิจโรงพยาบาลในอนาคต ส่งผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลต้องเร่งปรับตัว โดยแผนทำธุรกิจของ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท ในอนาคตจะมุ่งเน้นการเป็นเครือข่าย เหมือนใยแมงมุม ภายใต้คอนเซ็ปต์การแลกหุ้นกับโรงพยาบาลที่เข้ามาเป็นพันธมิตร เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ

การสร้างระบบเครือข่าย (NET WORK) กับโรงพยาบาลต่างๆ จะทำให้ลดต้นทุนในการทำธุรกิจลงไปได้มาก เนื่องจากสามารถต่อรองราคาในการซื้ออุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ขณะเดียวกัน การลงทุนเกี่ยวกับแล็บ ยังสามารถที่จะใช้แล็บเดียวกันได้ หากมีการวางระบบสอดคล้องกัน แทนที่จะมีแล็บทุกๆ โรงพยาบาล โดยกลุ่มพันธมิตรจะใช้แล็บกลางร่วมกัน

ส่วนแนวโน้มในอนาคตหลังการร่วมเป็นพันธมิตรกันแล้ว อาจมีการใช้ระบบซักรีด การขนส่งผู้ป่วย อาจมีการจัดตั้งบริษัทขนส่ง เพื่อเป็นศูนย์กลางระบบขนส่ง (ลอจิสติกส์) ในการขนส่งผู้ป่วยให้กับโรงพยาบาลที่เป็นพันธมิตรได้

"เมื่อเรามีความเข้มแข็งแล้ว เราจะสามารถต่อรองกับต่างชาติได้ หากมีการเปิดเสรีธุรกิจโรงพยาบาล"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.