|
บิ๊กBTยันไม่ควบรวมกิจการ
ผู้จัดการรายวัน(1 พฤศจิกายน 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
บิ๊ก "ไทยธนาคาร" มั่นใจพร้อมลุยธุรกิจแบงก์ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องควบรวมกิจการกับแบงก์นครหลวงไทย หรือสถาบันการเงินอื่น พร้อมปรับโครงสร้างและดึงบุคลากรมืออาชีพเสริมทัพ หวังก้าวสู่ธุรกิจแบงก์ครบวงจร ตั้งเป้าอีก 3 ปี เพิ่มสัดส่วนรายย่อยเป็น 30% จากปัจจุบันมีเพียง 3%
นายพีรศิลป์ ศุภผลศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หรือ BT เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวการควบรวมกิจการระหว่าง ธนาคารไทยธนาคาร กับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB ว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีกระแสข่าวออกมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ธนาคารได้ล้มเลิกแผนการควบรวมกิจการกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือไอเอฟซีที
"การควบรวมกิจการกับธนาคารนครหลวงไทย ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เพราะหัวใจของการควบรวมจะต้องเกิดประโยชน์ และสามารถตอบคำถามให้กับทุกๆ ฝ่ายได้ ขณะเดียวกันในระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา ธนาคารสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองมาตลอด จนส่งผลให้ผลการดำเนินงานมีแนวโน้มที่ดีขึ้น"
สำหรับเงื่อนไขของการควบรวมกิจการนั้น นายพีรศิลป์ กล่าวว่า ธนาคารจะต้องพิจารณาถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ ประการแรก ฝ่ายจัดการ ซึ่งผู้บริหารระดับสูง และตนในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคาร มีความเห็นร่วมกันว่า ธนาคารไม่มีความจำเป็นต้องควบรวมกับสถาบันการเงินอื่น
"ณ วันนี้ เราพูดได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ฝ่ายจัดการไม่มีความเห็นที่จะต้องควบรวมกับสถาบันการเงินอื่นๆ ธนาคารสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพราะเชื่อมั่นในความแข็งแกร่ง ถือว่าเป็นแบงก์ขนาดเล็ก แต่มีความคล่องตัวสูง และมีผู้บริหารที่เป็น มืออาชีพ ขณะเดียวกันไทยธนาคารถือเป็นแบงก์ที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ซึ่งเป็นจุดแข็งของแบงก์ที่จะแข่งขัน และดำเนินธุรกิจของตนเองได้"
ประการที่ 2 คณะกรรมการของธนาคารที่มีนายทวี บุตรสุนทร ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ มีความเห็นสอดคล้องกันที่ไม่มีแนวคิดในการควบรวมธนาคาร และประการที่ 3 ส่วนของผู้ถือหุ้น กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนกว่า 49% ได้ยืนยันว่าจะไม่มีการควบรวมกิจการ
"ผมขอยืนยันว่าจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งเอ็มดีของธนาคารนครหลวงไทย ตามที่มีกระแสข่าวออกมา และมั่นใจว่าธนาคารนครหลวงไทยมีการดำเนินธุรกิจที่ดี และสามารถเติบโตได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว ขณะที่ไทยธนาคารเองก็ได้เดินมาถูกทางแล้ว และในปี 2548 ธนาคารจะลุยธุรกิจอย่างเต็มที่ และจะก้าวสู่ธนาคารที่มีการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร หรือ Universal Bank"
นายพีรศิลป์ กล่าวว่า ธนาคารจะดำเนินการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ จากเดิมที่เน้นนโยบายธนาคารที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน คือ เน้นเฉพาะลูกค้ารายใหญ่ หรือมีโครงสร้างสัดส่วนของลูกค้ารายใหญ่มากกว่า 70% ลูกค้ารายย่อย 3% ส่วนที่เหลือลูกค้าอื่นๆ แต่ในอนาคตธนาคารจะค่อยๆ ปรับตัวขยายเข้าสู่ธุรกิจรายย่อยมากขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ธนาคารเริ่มเข้าสู่สินเชื่อที่อยู่อาศัย และขยายกลุ่มรายย่อยต่อเนื่อง โดยจะพิจารณาจากธุรกิจที่ธนาคารมีความพร้อมในการดำเนินการก่อน ขณะเดียวกันได้มีการปรับปรุงระบบไอที และระบบเครือข่ายไปพร้อมๆ กัน เพื่อก้าวเข้าสู่ยูนิเวอร์แซลแบงก์
"ธนาคารจะต้องมีธุรกิจให้ครบ อาทิ แบงก์อินชัวรันส์ ซึ่งได้ร่วมกับบริษัทร่วมทุนของญี่ปุ่นที่มีความรู้และประสบการณ์เข้ามาเสริมทัพกับธนาคาร ขณะที่ธุรกิจหลักทรัพย์ มีหลักทรัพย์บีที เป็นตัวหลักในการดำเนินธุรกิจ ส่วนธุรกิจจัดการกองทุนรวมนั้น ธนาคารได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เรีบบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า"
สำหรับด้านการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจนั้น ขณะนี้ธนาคารมีทีมงานมืออาชีพ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านลูกค้ารายย่อยเข้ามาเสริมทัพ เพื่อเสริมให้ธนาคารเข้มแข็งเต็มรูปแบบ ก้าวเข้าสู่ยูนิเวอร์แซลแบงก์ได้ โดยในปี 2548 ธนาคารจะลุยธุรกิจด้านรายย่อยเต็มรูปแบบ และมีแผนในระยะ 3 ปี จะขยายสัดส่วนธุรกิจรายย่อย 30%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|