|

กสิกรฯลุยลูกค้ารายย่อย
ผู้จัดการรายวัน(1 พฤศจิกายน 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
เปิดแผนธุรกิจ "กสิกรไทย" ปีหน้า หันหัวเรือหากลุ่มลูกค้ารายย่อยเพิ่ม พร้อมตั้งบริษัทลีสซิ่งภายในไตรมาส 1 หวังผงาดเป็นธนาคารที่ให้บริการครบวงจร (ยูนิเวอร์แซลแบงก์) สอดรับมาสเตอร์แพลนของ ธปท. ดันสัดส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการทำแผนธุรกิจในปี 2548 ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการให้บริการลูกค้ารายย่อย (รีเทล) มากขึ้น จากที่ก่อนหน้ายังไม่สามารถขยายฐานลูกค้ารีเทลได้มากนัก เมื่อเทียบกับศักยภาพของธนาคารที่สามารถขยายฐานลูกค้ารายย่อยได้อย่างครอบคลุม เพื่อสร้างรายได้ให้กับธนาคาร นอกเหนือจากรายได้ที่เกิดขึ้นจากดอกเบี้ย "แม้หลายแบงก์จะหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้ารีเทล แต่เราเชื่อมั่นว่าศักยภาพของเราสามารถที่จะทำได้ และที่สำคัญกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก"
สำหรับการทำธุรกิจของธนาคารในช่วงต่อไป จะเป็นธนาคารที่ให้บริการครบวงจร (ยูนิเวอร์แซล แบงก์) สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (มาสเตอร์แพลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เปิดทางให้ธนาคารสามารถทำธุรกิจได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ในอนาคตการให้บริการของธนาคารจะมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขายประกันผ่านธนาคาร (แบงก์แอสชัวร์รัน) การขายผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆ ผ่านช่องทางของสาขา และธนาคารเตรียมที่จะตั้งบริษัทลีสซิ่ง ที่ธนาคารถือหุ้นในสัดส่วน 100% โดยเป็นการตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อให้บริการลีสซิ่ง ซึ่งจะช่วยหนุนรายได้ให้กับธนาคารมากขึ้น โดยการให้บริการผ่านช่องทางเครือข่ายสาขาของธนาคาร โดยคาดว่าไตรมาสแรกของปี 2548 จะสามารถจัดตั้งขึ้นได้
"การที่ธนาคารมีแผนที่จะเปิดตัวบริษัทลีสซิ่ง ก็เนื่องจากมองเห็นโอกาสทำธุรกิจ หลังจากที่ธปท. เปิดทางให้สามารถทำได้ จากเดิมที่มีข้อจำกัดตามกฎหมายธปท.มาตรา 12 (5) ที่ห้ามธนาคารพาณิชย์ ถือหุ้นในธุรกิจอื่นเกิน 10%"
นายประสารกล่าวว่า ในปี 2548 ธนาคารจะให้ความสำคัญกับลูกค้ารายย่อยมากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ โดยปัจจุบันมีสัดส่วนลูกค้ารายย่อยประมาณ 50% เมื่อเทียบกับลูกค้ารายใหญ่ ขณะที่ที่มาของรายได้ของธนาคารในปัจจุบันมาจากรายได้จากดอกเบี้ย 50% และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย 50%
ทั้งนี้ ในส่วนของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่มีสัดส่วนสูงถึง 50% แบ่งออกเป็นกำไรที่เกิดขึ้นจากการลงทุน กำไรที่เกิดขึ้นจากการค้าเงิน และรายได้จากค่าธรรมเนียม โดยในส่วนนี้กว่า 70% มาจากรายได้ที่เกิดขึ้นจากค่าธรรมเนียมไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมต่างๆ การออกตราสารอนุพันธ์ หรือการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (อินเวสต์เมนต์ แบงก์)
"แผนในปีหน้าธนาคารตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากการหาค่าธรรมเนียมมากขึ้น เพราะแนวโน้มรายได้ ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในปี 2548 มีแนวโน้มลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวลดลง"
สำหรับพอร์ตสินเชื่อของธนาคารกสิกรไทย ในปัจจุบัน มีสินเชื่อประมาณ 5.6 แสนล้านบาท แบ่งเป็นลูกค้าขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่ามีการกระจายความเสี่ยงพอสมควร
นายประสารกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2548 ว่า คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวลดลง เมื่อเทียบกับปีนี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่การส่งออกของไทยจะขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีนี้ที่การส่งออกทั้งปีขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 20% โดยปีหน้าการส่งออกจะอยู่ที่ 8-9% เท่านั้น
ขณะที่การบริโภคภายในประเทศคาดว่าจะขยายตัวลดลง เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง ขณะเดียวกันการลงทุนของภาคเอกชนในปีหน้าคาดว่าจะชะลอตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีนี้
นายประสารกล่าวว่าคงต้องจับตาสัญญาณ การใช้กำลังการผลิตของภาคเอกชนให้ใกล้ชิด เนื่องจากในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องจะทำให้เห็นชัดเจนว่าการลงทุน ของภาคเอกชนมีโอกาสลดลงในปีหน้า
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|