โรงเรียนบ้านสันกำแพง หน่ออ่อน constructionism

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) แห่งนี้ มิได้มีความน่าสนใจเพียงเพราะเคยเป็นโรงเรียนเก่าของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน หากแต่เนื่องเพราะรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ของที่นี่ กำลังปรากฏขึ้นเป็นหน่ออ่อนบนฐานรากเดิมของระบบที่กำลังจะถูกปฏิรูป

กระบวนการเรียนรู้แผนใหม่ที่โรงเรียนบ้านสันกำแพง ได้นำมาปรับใช้สำหรับการเรียน การสอนในบางห้องเรียนขณะนี้ อยู่ภายใต้โครง การนำร่องที่เรียกว่า Lighthouse Project ที่มีพื้นฐานมาจากแนวความคิด Constructionism ซึ่งมูลนิธิศึกษาพัฒน์ และมูลนิธิไทยคมพยายาม ผลักดันให้เกิดเป็นทางเลือกสำหรับการเรียนรู้ในอนาคต

ภายใต้โครงการความร่วมมือในโครงการ Lighthouse ที่เริ่มมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2541 มูลนิธิศึกษาพัฒน์ และมูลนิธิไทยคมได้จัดหาบุคลากรและเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนตามแนวทฤษฎีของ Seymour Papert แห่ง Media Lab. MIT. (Massachusetts Institute of Technology) สหรัฐอเมริกามาอย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มครู เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนในแบบบูรณาการเพิ่มขึ้น

"การจะสร้างให้เกิดห้องเรียนแบบ constructionism ขึ้นในโรงเรียนเช่นนี้ได้ ต้องอาศัยความเอาใจใส่ สนใจของผู้บริหารโรงเรียน ด้วย" พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ซึ่งเป็นหัวแรง สำคัญในการผลักดันโครงการ Lighthouse กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เขาเล่าว่า ในช่วงแรกของการเข้ามาดำเนินกิจกรรมในโรงเรียนบ้านสันกำแพงนั้น เป็นช่วงที่ เพชร วงศ์แปง เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสันกำแพงแห่งนี้ได้ไม่นาน โดยความช่วยเหลือเบื้องต้นอยู่ที่การจัด หาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เพื่อรองรับกับการถ่าย ทอดเทคโนโลยีโปรแกรม MicroWorlds พร้อมกับการอบรมความรู้ให้แก่ครูด้วย

"ผู้บริหารโรงเรียนส่วนใหญ่อาจจะสนใจ เฉพาะความช่วยเหลือด้านคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอื่นๆ โดยไม่ได้คำนึง ถึงการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์เหล่านี้อย่าง จริงจัง สิ่งที่เราต้องทำคือการโน้มน้าวให้เห็นว่าเครื่องมือเหล่านี้สามารถช่วยในการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างไร"

กล่าวสำหรับ เพชร วงศ์แปง ซึ่งก่อนหน้านี้เคยได้รับรางวัลผู้บริหารสถานศึกษาดีเด่น ในระดับจังหวัดมาก่อนหน้าที่จะเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสันกำแพงนั้น การเข้า ร่วมในโครงการ Lighthouse เพื่อเป็นต้นแบบก่อนที่จะขยายผลไปสู่โรงเรียนแห่งอื่นๆ ทำให้เขาและคณะครูโรงเรียนบ้านสันกำแพงอีกจำนวน หนึ่งได้รับรางวัลในฐานะครูแห่งชาติและต้นแบบ ในระดับจังหวัดและระดับชาติอีกหลายรางวัลเป็นการตอบแทน

แต่หนทางดังกล่าวใช่ว่าจะราบรื่น โดยปราศจากอุปสรรค เพราะการเข้าร่วมในโครงการ เช่นนี้ หมายถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอนไปสู่รูปแบบใหม่ที่บุคลากรในโรงเรียนไม่คุ้นเคยนัก

เพชร วงศ์แปง บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า มีแรงเสียดสีพอสมควร เพราะครูจำนวนหนึ่ง ไม่มั่นใจว่าระบบใหม่จะใช้ได้ผลหรือนำไปสู่สิ่งใด ซึ่งต้องอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจ ควบคู่กับการอบรมให้ความรู้ไปพร้อมกัน

สอดคล้องกับทัศนะของโสภาพรรณ ชื่น ทองคำ ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/5 ซึ่งเป็นห้องเรียนนำร่องของโครงการ ในปีการศึกษา 2543 ก่อนที่ผลของความพยายามของโสภาพรรณ จะขยายไปสู่ห้องเรียนในสายชั้นที่ต่อ เนื่อง ตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1-4 ในปีการศึกษา 2544

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนภายใต้การดูแลของโสภาพรรณ ที่สามารถจับต้องได้ทันทีที่พบเห็น นอกจากจะอยู่ที่การแปลง สภาพห้องเรียนที่เต็มไปด้วยโต๊ะเก้าอี้มากมายให้เหลือเพียงพื้นที่โล่งเพื่อเด็กๆ จะได้สร้างสรรค์ กิจกรรมร่วมกันแทนการฟังการบรรยายจากครูผู้สอนแบบทางเดียวแล้ว สื่อการสอนที่มีทั้งคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ได้สร้างเสริมขึ้นมาเป็นสิ่งที่เพิ่มให้ห้อง 3/5 มีความแตกต่างจากห้องเรียนแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง

"ในช่วงแรก มีอุปสรรคพอสมควรในการทำความเข้าใจกับเพื่อนครู ถึงการใช้วิธีการเรียนการสอนแบบบูรณาการมาใช้ แต่ปัจจุบันทัศนคติของครูเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมาก" โสภาพรรณ ซึ่งสนุกกับการทำงาน และมีผลงาน เป็นที่ยอมรับในวงการศึกษา โดยได้รับรางวัลครูตัวอย่างและครูต้นแบบในช่วงปีที่ผ่านมา สะท้อนปัญหาพื้นฐานให้ฟัง

ความสำเร็จจากโครงการนำร่อง ทำให้ปัจจุบันผู้ปกครองและนักเรียนจำนวนมากให้ความสนใจกับวิธีการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ และส่งผลให้ในช่วงปีที่ผ่านมา จำนวนนักเรียนที่ สมัครเข้าร่วมเรียนในโครงการมีปริมาณล้นเกินจากจำนวนที่สามารถรับได้ในสัดส่วนที่สูงถึง 5:1 ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเป็นแรงกระตุ้นให้การเปลี่ยน แปลงอย่างสมบูรณ์แบบในโรงเรียนบ้านสันกำแพง เกิดขึ้นในอัตราเร่งที่เร็วขึ้นกว่าที่ผู้เกี่ยวข้องคาดหวังไว้ก็ได้

ประเด็นที่น่าสนใจติดตามอีกประการหนึ่ง นับเนื่องจากนี้อยู่ที่การปรับเปลี่ยนรูปแบบ การเรียนการสอนทั้งในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษา เพื่อรองรับนักเรียนซึ่งเป็นผล ผลิตของการเรียนการสอนแบบใหม่นี้จะดำเนินการไปในทิศทางเช่นไร หรือถึงที่สุดแล้วโครงการ ในลักษณะที่ได้ดำเนินการที่โรงเรียนบ้านสัน กำแพง จะเป็นเพียงความพยายามที่สูญเปล่าเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนแห่งนี้ ไม่สามารถนำไปต่อยอด ในระดับสังคมที่กว้างออกไปได้

"การปฏิรูปการศึกษาจำเป็นต้องมี แต่จะด้วยวิธีการอย่างไรนั้น นักการศึกษาคงต้องถกเถียงกัน สิ่งที่ทำได้ในขณะนี้ก็คือการพิสูจน์ให้เห็นว่าในทางปฏิบัติ มีรูปแบบทางเลือกอะไรได้บ้าง" พารณกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ในช่วงหนึ่ง ของการพาชมกิจกรรมของนักเรียนที่โรงเรียนบ้านสันกำแพง

แม้ว่าการนำเอาทฤษฎี constructionism เข้ามาเป็นสื่อในการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนในโรงเรียนสังกัด สปช. เช่น โรงเรียนบ้านสันกำแพงนี้ จะมิได้ดำเนินไปในฐานะที่เป็นนโยบายด้านการศึกษาอย่างเปิดเผย แต่หากพิจารณาจากกรณีว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษาที่กำลังเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางในขณะนี้ ต้องยอมรับว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้บ่งบอกนัยสำคัญเกี่ยวกับทิศทางของการจัดการศึกษาในอนาคตได้ไม่น้อย

นอกจากนี้ หากพิจารณาความเกี่ยวข้อง สัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนบ้านสันกำแพง และโรงเรียนดรุณสิกขาลัย ซึ่งล้วนแต่ดำเนินกิจกรรม ในแนวทาง constructionism โดยมีมูลนิธิศึกษาพัฒน์และมูลนิธิไทยคมเป็นองค์กรผู้ให้การ สนับสนุนหลักเช่นเดียวกันแล้ว นี่อาจเป็นความพยายามในการเสนอทางเลือกของการปฏิรูปการศึกษาโดยไม่ต้องประกาศเป็นนโยบายก็ เป็นได้

ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาจากถ้อยแถลง ของทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งเดิน ทางไปเป็นประธานเปิดโรงเรียนดรุณสิกขาลัย อย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งระบุถึงแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ที่มีจุดเน้นอยู่ที่คุณภาพและศักยภาพในการเรียนรู้ร่วมกันของครูและนักเรียน มากกว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจการบริหารแล้ว ดูจะปรากฏภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

กระนั้นก็ดี ภายใต้สถานการณ์เช่นในปัจจุบันนั้น อาจจะเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าหนทาง ใดเหมาะควรสำหรับการปฏิรูปการศึกษามากกว่ากัน และแนวทาง constructionism ซึ่งได้รับการนำเสนออยู่ในขณะนี้จะสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยเพียงใด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.