|
Up Market
โดย
วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
ในสถานการณ์ปี 2547 มีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของบางสิ่งดูเหมือนเป็นแนวโน้มใหม่ว่าด้วย lifestyle
สังคมไทยที่กำลังยกระดับตัวเอง ผ่านผู้คนกลุ่มหนึ่ง เริ่มกระตุ้นอย่างเป็นระบบจากสื่อโฆษณาต่างๆ จนถึงจากการอ่านนิตยสาร lifestyle ของตะวันตก โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวได้เรียนรู้วิถีชีวิตสมัยใหม่แบบตะวันตก ซึ่งดูเหมือนมีความเชื่อมโยงโดยตรงไปถึงการกระตุ้นการซื้อสินค้าของพวกเขาด้วย ปี 2547 ปีเดียวพาเหรดกันมาอย่างน้อย 4 ฉบับ โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่มีวิถีสนใจรายละเอียดเจาะจงมากขึ้น จนถึงขั้นลงลึกถึงเรื่องผม นิตยสารผู้หญิงหัวนอกจึงครองพื้นที่มากที่สุดในแผงไว้อย่างเหนียวแน่น จาก Elle, Cosmopolitan ฯลฯ ที่มาก่อนแล้วหลายปี จนถึง marie claire, her world และ Hair ส่วนผู้ชาย ซึ่งดูเหมือนมีนิตยสารกระตุ้นชีวิตที่มีสีสันและสิ้นเปลือง ด้วย FHM จากอังกฤษเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ล่าสุดมาจากฝั่งสหรัฐฯ Maxim ด้วย
และแล้วสินค้าชั้นสูงใหม่จากโลกตะวันตกก็ทยอยตามมาเป็นพรวน โดยนักธุรกิจที่มองการพัฒนาวิถีชีวิตอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นแรงขับเคลื่อนที่รุนแรงพอใช้ ถึงขั้นธุรกิจรายเก่าแก่และอนุรักษ์อย่างเครือซิเมนต์ไทย ตัดสินใจครั้งสำคัญอีกครั้ง นำสุขภัณฑ์ตลาดบนจากเยอรมนี (Villeroy & Boch) มาขาย
แม้กระทั่ง Jim Tompson ซึ่งผลิตและจำหน่ายผ้าไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นแบรนด์ที่แข็งมาก ยังต้องตัดสินใจนำสินค้าประเภทเดียวกันหรือคู่แข่งในตลาดโลกจากตะวันตกมาแจมในร้านของตนเอง ด้วยความไม่ตะขิดตะขวงใจ ได้แก่ Gaston Y Danial จากสเปน Sacho จากเยอรมนี และ Elitis จากฝรั่งเศส
ยิ่งไปกว่านั้น เมืองไทยจะมีร้านอาหารของฝรั่งเศส เป็นฝรั่งเศสแท้มาเปิดบริการโดยตรง เป็นความต่อเนื่องที่มหัศจรรย์และดูละเมียดเป็นอย่างมาก พัฒนามาจากเครือ fast food จาก KFC, McDonald's ที่ดูแสนจะธรรมดา ดูจะอิ่มตัวแล้วในระดับกลางและล่าง มาถึง Starbucks ร้านกาแฟของอเมริกันที่ใช้รสนิยมของอิตาลี ที่ดูดีขึ้น ยังไม่พอ ต้องเป็นร้านที่ไม่มีเครือข่ายที่คงความเป็น fast food แบบอเมริกัน และจะต้องเป็นร้านที่มาจากชนเผ่าที่มีความรู้และความชำนาญการทำและบริโภคที่ละเมียดที่สุดของโลกอย่างฝรั่งเศสด้วย (Peter Mayle นักเขียนอังกฤษชื่อดัง ผู้อพยพไปอยู่ตอนใต้ของฝรั่งเศสเขียนเรื่องฝรั่งอ่านสนุก จนรวย ได้เขียนเรื่องทำนองนี้ไว้ มีการแปลเป็นภาษาไทยด้วย)
ไม่น่าเชื่อที่กลุ่มนักลงทุนกลุ่มนี้จะเข้าใจรสนิยมเช่นว่านี้ได้ กลุ่ม N-PARK กลุ่มนักลงทุนที่ดูโลดโผนมากที่สุดในวงการ ตัดสินใจลงทุนนำร้าน LENOTRE ที่มีอายุกว่า 80 ปี มาเปิดในเมืองไทย
นี่เป็นเพียงตัวอย่าง หากจะยกมาทั้งหมดจะยาวมากทีเดียว นั่นแสดงเป็นแนวโน้มใหญ่ของความเชื่อมั่นในพัฒนาการของเมืองไทยของกลุ่มคนที่คิดว่าตนเองเข้าใจสังคมไทยดีกันทั้งนั้น
ประการแรก พวกเขาเชื่อมั่นความมั่งคั่งของสังคมไทยมีมากขึ้นจากเดิมพอสมควร พวกเขาคงไม่คิดว่า เป็นตลาดบนที่แคบมากๆ เช่นอดีตอย่างแน่นอน
ประการต่อมา เชื่อมั่นต่อเนื่องมาจากประการแรกที่ว่าด้วย lifestyle ได้พัฒนามากขึ้น มีความละเมียดและรสนิยมมากขึ้น ซึ่งว่าไปแล้วเป็นเรื่องทัศนคติด้วยก็ได้ คนในสังคมไทยบางส่วนให้ความสำคัญกับการแสดงตัวตน (Explosure) มากเป็นพิเศษ การเปิดตัว ประชาสัมพันธ์ ของสินค้า ที่รวมถึงคนมีการลงทุนอย่างมากมาย อย่างไม่เคยมาก่อนในปีที่ผ่านมา บางงานลงทุนถึง 50 ล้านบาท กันงานเปิดบูธแสดงภาพลักษณ์สินค้า (โดยไม่ขายสินค้า) เพียงสัปดาห์เดียว เป็นผลพวงให้ event organizer ซึ่งเป็นธุรกิจค่อนข้างใหม่ในเมืองไทยเติบโตมากที่สุดในประวัติศาสตร์
ผู้อ่านหลายคนถามว่า สังคมไทยมีแนวโน้มอย่างไร ตามประสาของคำถามตามฤดูกาล ในช่วงปลายปี
ผมขอตอบว่าข้างต้นเป็นแนวโน้มอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาในปี 2547 และก็มีแนวโน้มว่า จะมีการปรับตัวในเชิงวิตกกังวลอย่างชัดเจนในเรื่องเดียวกันนี้ในปี 2548
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|