สถานการณ์คนต่างชาติในสเปน

โดย ธนิต แก้วสม
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

หากคุณได้เดินทางผ่านไปแถบประเทศในยุโรปในทุกวันนี้ อาจจะมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้คุณแปลกใจว่า ทำไม ผู้คนที่เดินสวนไปมากับเรา ไม่ได้เป็นฝรั่ง (อย่างที่คิด) แต่กลับมีผิวดำบ้าง ผิวเหลืองบ้าง รูปร่างเล็กก็มี รูปร่าง ใหญ่ก็มี บางทีทำให้ไม่แน่ใจว่า คนชาตินี้ประเทศนี้จริงๆ แล้วหน้าตาเป็นอย่างไรกันแน่ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ เมื่อคุณขึ้นรถ Metro ในปารีส พบว่า 6 ในสิบคน ไม่ได้มีหน้าตาเป็นคนฝรั่งเศส

และเมื่อมาดูใน Metro ของกรุงมาดริด เห็นว่า เป็นคนต่างชาติแค่ 3 ในสิบคนเท่านั้น ตัวเลขนี้บอกให้เราทราบว่าโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ยุคโลกาภิวัตน์ได้เบ่งบานแล้ว ตัวเลขนี้อาจบอกได้อีกว่า ที่ปารีสมีคนต่างชาติมากกว่าที่มาดริด แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะมาใช้วิเคราะห์สถานการณ์ของคนต่างชาติในประเทศต่างๆ เพราะเรายังไม่รู้ว่าพวกเขาเป็นใคร มาจากไหน มาทำอะไร มาอยู่นานแค่ไหน หรือจะพูดในอีกลักษณะว่า บางคนเป็นคนเชื้อชาติอื่น แต่เป็นได้สัญชาติใหม่ในประเทศใหม่ บางคนเป็นคนต่างชาติที่เกิดในประเทศใหม่ หรือบางคน เป็นคนต่างชาติที่มาทำงานหรือมาเรียน หรือมาท่องเที่ยว แต่ที่เป็นประเด็นที่ทุกประเทศให้ความสนใจและถือว่าเป็นปัญหาใหญ่คือ คนต่างชาติที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

ตามลักษณะทางภูมิศาสตร์แล้ว ประเทศสเปนเป็นประเทศหน้าด่านที่เป็นเป้าหมายของผู้หลบหนีเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย เพราะมีชายแดนติดทะเลที่ยาวมาก โดยเฉพาะที่ปลายคาบสมุทรอิเบเรีย มีเพียงช่องแคบยิบรอลตา ที่มีความกว้างเพียง 58 กิโลเมตร กั้นระหว่างทวีปยุโรปกับทวีปแอฟริกา (เป็นทวีปที่มีความพร้อมเสมอที่จะอพยพมุ่งหน้าสู่ยุโรป)

ระยะทางที่กั้นด้วยผืนน้ำเพียง 58 กิโลเมตรไม่ได้เป็นอุปสรรคใหญ่เลยสำหรับผู้ที่ต้องการแสวงหาชีวิตใหม่ในดินแดนแห่งความเจริญ ด้วยเหตุนี้จึงมีข่าว ผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายทางช่องแคบยิบรอลตาปรากฏให้เห็นตามสื่อต่างๆ อยู่เสมอๆ

แม้ว่าลักษณะทางภูมิศาสตร์จะเป็นใจ แต่ประเทศสเปนก็ไม่ได้เป็นประเทศที่มีชาวต่างชาติมากที่สุดในสหภาพยุโรป ปรากฏการณ์การอพยพเข้าสเปนเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหลัง ด้วยเหตุผลสองประการคือ สเปน เพิ่งเปิดประเทศมาได้ไม่ถึง 30 ปี เริ่มตั้งแต่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยใช้เป็นครั้งแรก ใน ปี ค.ศ.1978 ประการที่สองคือ สถานะทางเศรษฐกิจของสเปนในช่วงต้นยังอยู่ในกลุ่มท้ายแถวของยุโรป

ต่อมาเมื่อยุโรปมีความเป็นปึกแผ่นมากขึ้น ทำให้ สเปนได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเงินและพัฒนาอย่างมากมาย เป็นผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับ 2-3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ด้วยเหตุนี้อัตราการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายและถูกกฎหมายผ่านทางประเทศสเปน จึงมีอัตราสูงขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของสถาบันสถิติแห่งสภาพยุโรประบุว่า 92 เปอร์เซ็นต์ของคนสเปนใหม่เป็นชาวต่างชาติ ยกตัวอย่างในปี 2003 มีคนขึ้นทะเบียนทั้งหมด 647,000 คน ปรากฏว่าเป็นชาวต่างชาติถึง 594,000 คน ติดอันดับสองของสหภาพ ยุโรปในกลุ่มตัวเลขดังกล่าว

ถึงทุกวันนี้มีการเปิดเผยข้อมูลว่า มีคนต่างชาติ อาศัยอยู่ในสเปนทั้งหมด 2.6 ล้านคน และที่เป็นปัญหา ก็คือ กว่าหนึ่งล้านคนในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้อาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมาย

สำหรับประชากรกลุ่มดังกล่าว ในสเปนเรียกกันว่า "los sinpaples" แปลแบบตรงไปตรงมา ว่า "ผู้ที่ไม่มีกระดาษ" นั่นเอง

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมมากมาย เช่น มีอาชญากรรมเพิ่มขึ้น มีการใช้แรงงานเถื่อน มีข้อขัดแย้งทางสังคมอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลต้องหันมาใส่ใจและถือเป็นประเด็นเร่งด่วนระดับชาติ

ถ้าเทียบเป็นประเทศแล้ว จำนวนสูงสุดมาจากประเทศโมร็อกโก ตามด้วยเอกวาดอร์ และโคลัมเบีย แต่ถ้าเทียบเป็นกลุ่มประเทศ อันดับหนึ่งคือมาจากทวีปอเมริกาใต้ ตามด้วยแอฟริกา

รัฐบาลสเปนได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยว ข้องกับชาวต่างชาติเรื่อยมา จนกระทั่งในปี 2000 ภาย ใต้การปกครองของพรรคฝ่ายขวา PP ได้ออกกฎหมาย ฉบับหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ "ผู้ที่ไม่มีกระดาษ" มาทำกระดาษได้ นั่นก็คือมาทำบัตรประชาชนและทำใบอนุญาตทำงานได้ ขอเพียงให้มีแค่สัญญาจ้างงานและมีหลักฐานที่ระบุได้ว่า ได้เข้ามาอยู่ในสเปนเกินหนึ่งปีแล้ว กฎหมายดังกล่าวได้สร้างความยินดีให้กับชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก

และล่าสุดในปีนี้ 2004 ภายใต้การนำของพรรค PSOE ฝ่ายซ้ายสังคมนิยม ได้ประกาศออกมาแล้วว่าจะออกกฎหมายในลักษณะดังกล่าวมาอีกครั้งหนึ่ง โดยจะประกาศใช้ในเดือนตุลาคม ข่าวนี้ได้จุดประกาย ความหวังให้กับ (ประชากร) ผู้อาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมายขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ข้อแตกต่างของกฎหมายฉบับใหม่นี้คือ มีข้อกำหนดและข้อจำกัดเพิ่มขึ้น อย่างเช่น ผู้ที่จะมายื่นคำร้องขอใบอนุญาตทำงาน จะต้องทำงานมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี และต้องให้ตัวนายจ้างเป็นผู้ดำเนินเรื่อง ไม่ใช่ผู้ทำงาน เป็นต้น

แม้ว่าการออกกฎหมายในลักษณะดังกล่าวเป็นการทำในกรณีพิเศษ ไม่มีรอบและวาระแน่นอน ไม่มีใครทราบว่าเมื่อไหร่จะมีอีก แต่ก็ได้สร้างความสมหวังให้กับผู้อพยพในปัจจุบัน ยังได้สร้างความหวังให้กับผู้ที่จะอพยพหลบหนีเข้าสเปนในอนาคตอีกด้วย บางทียังได้ยินคำพูดที่ว่า "อยู่ๆ ไปเถอะ เดี๋ยวเขาก็ออก กฎหมายให้ทำกระดาษเอง" นั่นหมายความว่าให้เข้าประเทศให้ได้ ก็ถือว่าสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว ที่เหลือก็ทนๆ อยู่กันไป สักวันหนึ่งก็จะสมหวัง

การให้สัญชาติหรือการให้ทำบัตรประชาชนของสเปนยังเกิดขึ้นในกรณีพิเศษอื่นอีก อย่างเช่นในกรณีเหตุการณ์รถไฟระเบิดเมื่อ 11 พฤษภาคม 2004 รัฐบาลก็ได้ประกาศมอบสัญชาติให้กับผู้บาดเจ็บและครอบครัวของผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวต่างชาติทุกคน ปรากฏว่ามีผู้ประสบเคราะห์ที่โชคดีถึง 1,500 คน

สำหรับชาวต่างชาติแล้วการได้ถือครองบัตรประจำตัวประชาชนของประเทศที่ตนไปอาศัยหรือทำงานอยู่ เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพราะการไม่มี "กระดาษ" ก็หมายถึงไม่มีสิทธิ์ ไม่มีสิทธิ์ใช้บริการทาง สังคม ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงใดๆ และที่แย่ที่สุดคือ (ในบาง ครั้ง) ไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะเรียกร้องความเป็นธรรม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.