มาเต้นกับพอลลีน แฮนสัน กันเถอะ

โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ผมเพิ่งนั่งดูคุณพอลลีน แฮนสัน โชว์ สเต็ปเท้าจังหวะ ชะ ชะ ช่า ในรายการ Dancing with the Stars จบลง

Dancing with the Stars เป็นรายการใหม่ของช่อง 7 ออสเตรเลีย ซึ่งจะนำผู้มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในหลายๆ วงการ ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง นักกีฬา นักการเมือง ฯลฯ มาทำสิ่งที่เหล่าคนดูไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นคือ การเต้น

การออกอากาศครั้งแรกนี้ พอลลีน แฮนสัน คือ หนึ่งในสตาร์ที่จะมาโชว์ว่า นอกจากนโยบายการเมืองที่กล้าแข็งแล้ว เธอยังเต้นเป็นด้วย

เธอเต้นโชว์ในสัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นโค้งสุดท้ายที่สำคัญ

สำคัญสำหรับอนาคตการเมืองของเธอ

สำหรับคอการเมืองระหว่างประเทศ ไม่น่าจะมองข้ามและหลงลืมชื่อของพอลลีน แฮนสันได้

พอลลีน แฮนสัน ในฐานะหัวหน้าพรรค One Nation สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองให้กับประเทศออสเตรเลียในการเลือกตั้งปี 1996 ด้วยการประกาศนโยบายกีดกันสีผิว โดยเฉพาะการกีดกันคนเอเชีย ซึ่งอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศออสเตรเลีย เปลี่ยนสัญชาติเป็นออสเตรเลีย และถูกมองว่าเข้ามาแย่งงาน แย่งทรัพยากร ของคนออสเตรเลียมากขึ้นๆ รวมถึงนโยบาย การพยายามตัดการช่วยเหลือชาวพื้นเมืองอะบอริจิน

พอลลีน แฮนสัน เสนอให้มีการพิจารณานโยบายการอพยพคนเข้าเมืองเสียใหม่ รวมถึงการยกเลิกแนวคิดวัฒนธรรมหลากหลาย (multiculturalism) โดยอ้างว่า ออสเตรเลียกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูก ครอบงำด้วยคนเอเชีย นอกจากนี้ เธอยังผูกคนเอเชียเข้าไปกับเรื่องปัญหาอาชญา กรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจับเด็กนักเรียน เรียกค่าไถ่ การซื้อขายยาเสพติด (โดยบอกว่า เฮโรอีน 80% นำเข้าจากประเทศเอเชีย) การตั้งเขตพื้นที่เฉพาะสำหรับคนเอเชีย และเธออ้างว่า ภายในปี 2040 ประชากรออสเตรเลียครึ่งหนึ่งจะเป็นคนเอเชีย

และในช่วงหลังนโยบายของเธอไปไกลถึงขั้นว่า ประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศคริสต์อีกด้วย ซึ่งจะกีดกันคนนับถือ ศาสนาอื่นไม่ให้เข้าประเทศออสเตรเลีย

อย่างไรก็ตาม นโยบายของพอลลีน แฮนสัน ถูกวิเคราะห์ว่า จริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีอะไร ใหม่ เพราะสามารถพบได้ในนโยบายทางการเมืองของพวกขาวจัดในอเมริกา และเป็นเพียงนโยบายป๊อปปูลิซึมแบบหนึ่งเท่านั้น

แต่นโยบายนี้ก็สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการเมืองออสเตรเลียและทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วคนออสเตรเลียส่วนหนึ่งก็เห็นว่า พวกเขาดีที่สุดและไม่ต้องการให้คนสีผิวชาติพันธุ์อื่นเข้ามาอยู่ร่วมในสังคมเดียวกับพวกเขา

แนวคิดของพอลลีน แฮนสัน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในฮ่องกง, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไทย รวมถึงจีนแผ่นดิน ใหญ่, ไต้หวัน, เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น

ครั้งนั้นนายกรัฐมนตรี จอห์น โฮเวิร์ด ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำเฉยเกี่ยวกับบทบาท ทางการเมืองของพอลลีน แฮนสัน ก่อนที่ภายหลังเขาจะออกมาประกาศว่า รัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

ภายหลังเธอถูกตัดสินจำคุกในข้อหา ตั้งพรรคเพื่อหลอกลวงเงินประชาชน และออกจากคุกในเดือนพฤศจิกายนปีกลายหลังอยู่ในคุก 11 เดือน โดยศาลพิจารณากลับคำตัดสินหลังจากเธออุทธรณ์

ครั้งนั้นเธอได้รับความเห็นใจจากประชาชนค่อนข้างมาก

จากนั้นเธอมาตั้งบริษัทประชาสัมพันธ์ ชื่อ PLH Promotions โดยอาศัยชื่อเสียงของ เธอเป็นน้ำหล่อเลี้ยงการเติบโตของบริษัท

ในการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมานี้ พอลลีน แฮนสัน กลับมาอีกครั้ง โดยเธอกลับมาสมัครรับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิก รัฐควีนส์แลนด์ แต่ครั้งนี้เธอจะสมัครอิสระไม่ได้เป็นหัวหน้า หรือสมาชิกพรรค One Nation เหมือนอย่างเคย

ครั้งนี้เธอมาด้วยสโลแกน "Give the girl a fair go"

เธอไม่มีนโยบายที่ชัดเจน แต่เธอต้องการความกระจ่างแจ้งของรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องการแปรรูปองค์การโทรศัพท์ (Telstra) อย่างสมบูรณ์, การทำเอฟทีเอกับอเมริกา และการลดการควบคุมอุตสาหกรรมในชนบท ซึ่งเธอต่อต้านเต็มที่ นอกจากนี้ เธอยังต้อง การคำอธิบายเกี่ยวกับการจ้างงาน, ระบบสุขภาพ, การจัดการน้ำ และตั้งคำถามเดิมว่า ทำไมออสเตรเลียต้องอนุญาตให้คนอพยพเข้ามาในประเทศ ในขณะที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานและงานเพียงพอที่จะรองรับแม้แต่คนออสเตรเลียเอง

เธอบอกว่า เธอจะมาทำหน้าที่เป็น "สุนัขเฝ้าบ้าน" ให้กับประชาชน ถ้ามีกฎหมายใดที่ไม่ได้ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงแก่ประชาชนชาวออสเตรเลีย เธอจะคัดค้านอย่างเต็มที่ ที่สำคัญ เธอจะมาทำหน้าที่นำเสนอความจริงให้แก่ประชาชน เพราะปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ เป็นปัญหา หลักที่บั่นทอนความเชื่อมั่นต่อระบบการเมือง ออสเตรเลียในช่วงปีหลังๆ ที่ผ่านมา

การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 24 ชั่วโมงภายหลังพอลลีน แฮนสัน ประกาศว่า เธอจะกลับมาสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง พบว่า 22% จะลงคะแนนอันดับหนึ่งให้กับเธอ แต่ก็น้อยกว่าเสียงสนับสนุน 30% ในการสำรวจที่เธอได้รับภายหลังการออกจากคุกในเดือนพฤศจิกายน

อย่างไรก็ตาม 22% ก็เพียงพอที่จะทำให้เธอมีโอกาสได้รับเลือกตั้งแล้ว

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เธอไม่ได้มีเงินช่วยเหลือในการเลือกตั้งจากภายนอกแต่อย่างไร มีแต่เพียงความสนใจจากสื่อเท่านั้น ที่จะลงข่าวเธอต่อเนื่องและช่วยต่ออายุทางการเมืองให้กับเธอ อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายก็เห็นว่า ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากสำหรับเธอที่จะหาเงินช่วยเหลือการเลือกตั้ง

ปีเตอร์ บีทตี้ รัฐมนตรีการค้าแห่งรัฐควีนส์แลนด์ มีความเห็นเกี่ยวกับการกลับ มาของพอลลีน แฮนสัน ว่า ภาพลักษณ์ของเธอเป็นพวกกีดกันสีผิวและการได้รับเลือกตั้งจะมีผลต่อชื่อเสียงของรัฐควีนส์แลนด์ ต่อการค้า และการลงทุน

ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการขณะกำลังเขียนต้นฉบับนี้คือ พอลลีน แฮนสัน ไม่ได้รับเลือกเข้าสู่สภาพร้อมกับชัยชนะ ครั้งสำคัญของพรรคร่วมรัฐบาลเก่า ซึ่งมีแนวโน้มจะได้ครองเสียงส่วนใหญ่ทั้งสภาสูง และสภาล่างครั้งแรกในรอบยี่สิบปี

ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่สภา แต่คะแนน Primary vote ที่เธอได้รับก็เพียงพอที่จะทำให้เธอได้รับเงินช่วยเหลือจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประมาณ 150,000 เหรียญ จากคะแนนที่เธอได้ 77,452 คะแนน (จากกฎที่คณะกรรมการเลือกตั้งกำหนดว่า ถ้าได้รับคะแนน Primary vote เกิน 4% จะได้รับเงินช่วยเหลือการหาเสียงเลือกตั้ง 1.94 เหรียญต่อคะแนน) นอกจากนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้ยังเป็นจุดจบของพรรค One Nation พรรคที่เธอตั้งขึ้นมา เมื่อวุฒิสมาชิกเพียงคนเดียวของพรรคไม่ได้รับคัดเลือกกลับเข้าสู่สภา

แม้เธอจะทำคะแนนได้ไม่ดีนักในการเต้นออกอากาศครั้งแรกของเธอ

แต่อนาคต เราก็ยังไม่รู้ว่าจะเห็นเธอ ในรูปแบบไหนอีก ตราบใดที่ชื่อของเธอยังคงขายได้

เร็วๆ นี้ หนังสือเกี่ยวกับชีวิตช่วงที่เธออยู่ในคุกก็จะออกมาให้แฟนๆ ได้ติดตาม อีก แม้แฟนการเมืองอย่างผมจะต้องติดตาม พร้อมเสียวสันหลังไปด้วยก็ตามที


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.