|
ศักราชแรกของกีฬาจีนในคราบทุนนิยม
โดย
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
เหลืออีกเพียง 2 เดือน ก็จะย่างเข้าสู่ศักราชใหม่ ในแวดวงสื่อมวลชนด้านกีฬาของจีน เริ่มมีการหวนรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญๆ ของวงการกีฬาจีนในรอบปี ที่ผ่านมา
แน่นอนว่า 'เอเธนส์โอลิมปิก 2004' นั้นย่อมถูก ยกให้เป็นหนึ่งในเหตุการณ์กีฬาสำคัญสำหรับประเทศจีน เนื่องจากจีนนั้นกำลังจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งถัดไป ในปี ค.ศ.2008 (พ.ศ.2551) ซึ่งจัดขึ้นที่ปักกิ่ง นอกจากนี้ในกีฬาหลายประเภทนักกีฬาจีนยังแสดงผลงาน และพัฒนาฝีมือขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว อย่างที่คนทั่วโลกคาดไม่ถึง อย่างเช่น หลิวเสียง นักกรีฑาวิ่งข้าม รั้วระยะ 110 เมตร ทีมชาติจีน ที่คว้าเหรียญทองโดยวิ่งเข้าเส้นชัยนำนักวิ่งข้ามรั้วจากสหรัฐฯ และชาติอื่นๆ ไปหลายช่วงตัว
และในท้ายที่สุดแล้ว ทัพนักกีฬาจีนก็คว้าเหรียญ ทองมา 32 เหรียญ ในตารางอันดับเหรียญโอลิมปิกแล้วนับเป็นอันดับสอง กระโดดขึ้นมาอยู่เหนือรัสเซีย และเป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม หากไม่นับโอลิมปิกอันเป็นมหกรรมกีฬาที่ความตั้งใจเดิม ผู้จัด-ผู้เข้าร่วม เน้นไปที่ การเพิ่มสปิริต ความสมัครสมานของมนุษยชาติ และความภูมิใจของประเทศชาติแล้ว สื่อมวลชนจีนก็ชี้ให้เห็นว่า ในรอบปีที่ผ่านมา ใบหน้าของวงการกีฬาจีนได้เปลี่ยนโฉมไปแบบสังคมไม่ทันได้ตั้งตัว
วงการกีฬาจีน เปลี่ยนโฉมไปอย่างไรในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมา ?
เมื่อต้นปี 2546 ผมเคยเขียนเรื่อง ยุคบูมของกีฬา อาชีพในจีน (ย้อนอ่านได้ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือน เมษายน 2546) ว่าขณะนั้นกระแสกีฬาอาชีพจีนถูกปลุกขึ้นมาจากนักกีฬากลุ่มหนึ่งคือ นักฟุตบอลจีนกลุ่มหนึ่งที่ไปเล่นฟุตบอลอาชีพในลีกฟุตบอลยุโรป และ เหยา หมิง นักบาสเกตบอลจีนที่ไปเล่นอาชีพใน NBA
มาในปีนี้ กระแสกีฬาอาชีพของจีน ยิ่งถูกปลุกปั่นให้ร้อนแรงขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว โดยได้มีการขยายไปในกีฬาประเภทอื่นด้วย
ฟุตบอลอาชีพ - ปี 2547 เป็นปีแรกที่ลีกฟุตบอล อาชีพเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่อ 'Chinese Super League' ซึ่งเปิดฤดูกาลไปในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยสมาคมฟุตบอลจีนได้ตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ ในนามบริษัทพัฒนาอุตสาหกรรมฟุตบอลจีน (China Footbal Industry Development Corp. : CFIDC) เพื่อดูแลทางด้านธุรกิจให้กับลีกอาชีพที่จะเกิดใหม่นี้โดยเฉพาะ
ทั้งนี้ ซูเปอร์ลีกจีน แม้เพิ่งจะคลอดเป็นปีแรกแต่มีเงินหมุนเวียนในระบบมากเป็นพันล้านหยวน ทั้งจาก ผู้สนับสนุนการแข่งขันอย่างเป็นทางการ เงินสนับสนุนทีมฟุตบอลจากภาคเอกชน (อย่างเช่น ทีมปักกิ่งก็มีบริษัทรถยนต์ฮุนไดของเกาหลีเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลัก) รายได้จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขันทางโทรทัศน์ที่ Shanghai Media Group ระยะเวลา 3 ปี เป็นจำนวน 150 ล้านหยวน เป็นต้น
บาสเกตบอล NBA - ปี 2547 เป็นปีแรกที่จะมีการจัดแข่งแมตช์เอ็นบีเอ Pre-season เป็นครั้งแรกบน ผืนแผ่นดินจีนของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเป็นการแข่งขันระหว่างทีมซาคราเมนโต คิงส์ กับทีมฮูสตัน ร็อคเกตส์ ต้นสังกัดของเหยา หมิง ที่เซี่ยงไฮ้ (14 ต.ค.) และปักกิ่ง (17 ต.ค.) ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังมีการคาดหมายกันว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า บาสเกตบอลเอ็นบีเอ ฤดูกาลปกติ ก็อาจจะมีการบินมาแข่งกันที่ปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้เหมือนกับที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น แต่ทั้งนี้เมื่อเทียบจีนกับญี่ปุ่นแล้ว ด้วย ขนาดของประชากรและการเติบโตของความนิยมต่อเอ็นบีเอในจีนนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ในไม่ช้าจีนจะกลายเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดของเอ็นบีเอในทวีปเอเชียอย่างแน่นอน
เทนนิสอาชีพ - เดือนกันยายน ปี 2547 เป็นครั้งแรกที่ปักกิ่ง เมืองหลวงของจีนจัดการแข่งขันเทนนิส อาชีพ ชาย-หญิง (ATP และ WTA) รายการไชน่า โอเพ่น ขึ้น โดยเชิญนักเทนนิสอาชีพจากทั่วโลกเข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งก็รวมไปถึงภราดร ศรีชาพันธุ์ นักเทนนิสชายมือหนึ่ง ของไทยด้วย
ทั้งนี้นับจากนี้เป็นต้นไป รายการเทนนิส ไชน่า โอเพ่น ที่ปักกิ่ง จะมีการจัดอย่างต่อเนื่องไปอย่างต่ำอีก 10 ปี โดยได้รับการสนับสนุนอย่างหนาแน่นจากบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศ
กอล์ฟอาชีพ - ปลายเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ กอล์ฟยูโรเปี้ยน ทัวร์ ฤดูกาล 2005 จะประเดิมรายการ แรกที่สนาม Silport Golf Club ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ในชื่อ ของ Volvo China Open ทั้งนี้แม้กอล์ฟรายการนี้จะจัดต่อเนื่องกันมาหนึ่งทศวรรษแล้ว แต่ปีนี้ก็นับว่าเป็นครั้งแรกที่กอล์ฟรายการนี้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับรายการกอล์ฟอาชีพในระดับโลกคือ Asia PGA Tour และ European Tour
ฟอร์มูล่า 1 - การจัดแข่งขันรถสูตรหนึ่ง (F1) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีน ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่จะสร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้คนทั่วโลก แต่ยังสร้างความตื่นตะลึงให้กับคนจีนทั่วไปด้วย
เป็นที่ทราบกันว่า กีฬารถแข่งเป็นกีฬาที่อิงอยู่กับตลาดและผลประโยชน์ธุรกิจเป็นสำคัญ เพียงแค่รถคันหนึ่งที่ใช้เข้าแข่งก็มีราคาเหยียบล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนสนามแข่งที่ถูกออกแบบ-สร้างขึ้นใหม่ด้วยเงินจากเทศบาลเมืองเซี่ยงไฮ้ เป็นรูปตัวอักษรซ่าง อันเป็นตัวอักษรจีนตัวแรกของชื่อเมืองเซี่ยงไฮ้ ก็คิดเป็นมูลค่ามากถึง 2,600 ล้านหยวน (ประมาณ 320 ล้านเหรียญสหรัฐ)
การที่เทศบาลเมืองเซี่ยงไฮ้สามารถดึง F1 มาจัดแข่งที่เซี่ยงไฮ้ได้นั้นไม่ใช่ว่าเป็นเพราะเสน่ห์แห่งประวัติศาสตร์ หรือความสวยงามในทิวทัศน์ของเมืองจีน แต่อย่างใด แต่กลับเป็นเรื่องของการลงทุนและผลประโยชน์ล้วนๆ ทั้งนี้ในสัญญาที่เซ็นกับทางผู้จัดการแข่งขัน F1 ระยะเวลา 8 ปีเทศบาลเมืองเซี่ยงไฮ้ต้องควักกระเป๋าทั้งสิ้น 5,000 ล้านหยวน (ราว 610 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยนอกจากค่าสร้างสนาม 2,600 ล้านหยวนแล้ว ยังเงินเป็นค่าขอลิขสิทธิ์จัดการแข่งขัน 7 ปี เป็นเงินรวม 1,162 ล้านหยวน และค่าซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันผ่านโทรทัศน์อีก 1,200 ล้านหยวน
ทั้งนี้มีการคำนวณกันในแง่ธุรกิจแล้วว่า ถ้าเมือง เซี่ยงไฮ้จะถอนทุนคืนจากเงินที่ทุ่มลงไปในการขอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน F1 ดังกล่าว ก็จำต้องหาเงินมาให้ได้อย่างต่ำๆ ก็ปีละ 625 ล้านหยวน และนี่เองก็เป็น สาเหตุว่าทำไมบัตรเข้าชม 150,000 ใบ จึงต้องมีราคาเฉลี่ยถึงใบละ 2,000 หยวน (ราคาอยู่ระหว่างใบละ 370-3,700 หยวน หรือราว 45-450 เหรียญสหรัฐ) หรือ เท่ากับ 1 ใน 4 ของรายได้เฉลี่ยต่อปีของคนจีนหนึ่งคน
นอกจากนี้เงื่อนไขทางด้านเงินลงทุนมหาศาลยังเหมือนกับเป็นการเปิดให้บริษัทธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน F1 เข้ามาในจีนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะ บริษัทบุหรี่ที่ต่างก็สนับสนุนทีมรถแข่ง ก็ได้เวลาเบิกทาง สู่ตลาดใหม่ในเอเชีย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยุโรป องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคกำลังเสียงแข็งกับการต่อต้านบุหรี่
จำนวนประชากรกว่า 1,300 ล้านคน และตลาด ที่ใหญ่โตมหาศาลของจีน เป็นแม่เหล็กดูดทั้งของดีและ ของเสียเข้ามาพร้อมๆ กัน
เราได้หรือเสียมากกว่าจากกีฬาอาชีพเหล่านี้?
คำถามดังกล่าวถูกจุดขึ้นบนหน้าหนังสือพิมพ์ใน เมืองจีน โดยพยายามชี้ให้เห็นว่า กีฬาอาชีพด้านหนึ่งแม้จะเป็นการกระตุ้นกระแสการเล่นกีฬา หรือกีฬาอาชีพ ให้แพร่กระจายไปสู่ประชาชน แต่ในอีกด้านหนึ่ง การลงทุนนำเอากีฬาอาชีพอันเป็น "เกมการแข่งขันเพื่อธุรกิจ" อันเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยเหล่านี้เข้ามา จีนในฐานะที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ประชากรกว่าร้อยละ 80 เป็นเกษตรกร ยังทำไร่ไถนาอยู่ในชนบท และไม่มีส่วนรู้เห็น หรือรู้จักบรรดาคำว่า เอ็นบีเอ ไชน่า โอเพ่น ยูโรเปี้ยน ทัวร์ ซูเปอร์ลีก หรือ F1 เลยแม้แต่นิดเดียว อาจเป็น การกระทำที่เกินเลยไป
ที่สำคัญ ธุรกิจที่แฝงมาในคราบกีฬาอาชีพเหล่านี้ ในที่สุดก็อาจจะเป็น 'น้ำผึ้งผสมยาพิษ' ที่คนจีนทั้งประเทศต้องกล้ำกลืนฝืนกิน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|