Tele-design ขอโตจากฐานงานสถาปัตยกรรม


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

corporate management ของกิจการที่ประสบความสำเร็จในแขนงธุรกิจของตนย่อมเป็นจุดเด่นและเป็น "กรณีศึกษา" ในเชิงการบริหารจัดการไปโดยปริยาย

Tele-design ก็อยู่ในข่ายนี้เช่นกัน...

เริ่มจากโครงสร้างการถือหุ้นที่ประกอบด้วยสถาปนิกอิสระ 6 คนเกาะกลุ่มกันหลวมๆ และผู้อยู่ในวิชาชีพอื่นๆ อาทิ วิศวกร นักออกแบบ และผู้เชี่ยวชาญระบบแสง ซึ่งหมุนเวียนกันเข้ามารับงานตามชนิดของโครงการ

หุ้นส่วนหลักทั้งหกเป็นสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญงานต่างแขนงกันอีกต่างหาก เริ่มจาก Noriyuki Tajima - งานออกแบบ Chikara Matsuba - รายละเอียดตัวอาคาร Nobuyuki Nomura และ Toshimitsu Kuno - งานออกแบบขนาดใหญ่ project managers และบริษัทก่อสร้าง Kentaro Yamamoto - บ้านพักอาศัย และ Hiroshi Yanagihara - ภูมิสถาปัตย์

หลังจากผ่านพ้นไป 4 ปี กิจการของ Tele-design ก็ประสบผลสำเร็จเป็นที่จับตามองของวงการ มีผลงานอันหลากหลายตั้งแต่โครงการบ้านพักอาศัย การบูรณะซ่อมแซมอาคารพาณิชย์ ตลอดจนถึงงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์

ในส่วนของงานออกแบบอาคาร โครงการอาคาร News Complex เป็นตัวอย่างที่น่าศึกษา จากการที่ลูกค้าซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ในญี่ปุ่นต้องการอาคารที่มีทั้งสำนักงานคลังสินค้า บ้านพัก 2 หลัง และหอพักคนงานอยู่ในบริเวณเดียวกัน จึงเป็นหน้าที่ของ Tajima ผู้ถนัดงานออกแบบและ Matsuba ซึ่งถนัดเรื่องรายละเอียดของตัวอาคารต้องร่วมมือกันด้วยการใช้วัสดุต่างชนิดสำหรับงานก่อสร้างตัวอาคารแต่ละส่วน และใช้ความสามารถอันชาญฉลาดแบ่งพื้นที่ว่างเพื่อประโยชน์ใช้สอยสูงสุด จึงได้พื้นที่กว้างขวางสำหรับปฏิบัติงานตามด้วยบ้านอีก 2 หลัง ทั้งหมดอยู่ในตัวอาคารที่เชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวตามความต้องการของลูกค้าทุกอย่าง

ความสำเร็จ ณ วันนี้หาใช่เป้าหมายของ Tele-design ไม่ เพราะผู้ถือหุ้นหลักทั้งหกไม่ต้องการจำกัดตัวเองในฐานะบริษัทสถาปนิกเพียงอย่างเดียว

"จากฐานธุรกิจด้านสถาปัตยกรรม เราต้องการขยายกิจการออกไป 2 ทิศทางด้วยกันคือ งานโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเน้นโครงการในเมือง และงานโครงการขนาดเล็กที่เน้นเรื่องผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะ" Yamamoto สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านเฟอร์นิเจอร์และบ้านพักอาศัยพูดถึงเป้าหมายการเติบโตของ Tele-design

ปัจจุบัน Yamamoto กำลังรับผิดชอบงานออกแบบระบบชั้นวางของทำด้วยอะลูมิเนียมที่จะดำเนินการผลิตในปลายปี และ Tajima ก็เพิ่งเสร็จสิ้นงานออกแบบ modular kitchen ชุดเครื่องครัวที่สามารถนำแต่ละชิ้นส่วนมาประกอบเข้าด้วยกันหรือถอดออกจากกันได้ ถือเป็นนวัตกรรมเฟอร์นิเจอร์ในญี่ปุ่นก็ว่าได้ เพราะปัจจุบันชาวญี่ปุ่นต้องจำกัดตัวเองอยู่กับครัวเล็กๆ และประกอบติดกันตายตัว

Tajima สรุปเหตุผลของความจำเป็นในการขยายกิจการว่า

"เราต้องการรวมเอาคุณสมบัติดีที่สุดของกิจการขนาดเล็กและใหญ่มาไว้ด้วยกัน ในบริษัทขนาดเล็กคุณสามารถรับงานท้าทายน่าสนใจได้ แต่จะไม่มีวันได้งานชิ้นใหญ่มาทำ ขณะที่ผู้บริหารของบริษัทใหญ่ๆ ต้องหมกมุ่นกับงานบริหารทุกอย่าง แต่จะมีเวลาเหลือให้กับงานออกแบบน้อยมาก"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.