|
มุมมองเรื่อง ESOP ในสายตา SHIN Corp.
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
การให้หุ้นกับพนักงาน ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่หลายบริษัทขนาดใหญ่กำลังนำมาใช้ ด้วยกระบวนการที่แตกต่างกัน แต่กับผู้บริหารกลุ่ม SHIN นี่อาจเป็นผลตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมจากรายได้ประจำ
ESOP หรือ Employee Stock Ownership Plan เป็นแผนให้ผลตอบแทน ผู้บริหารระดับสูงที่กลุ่ม SHIN ได้เริ่มใช้เมื่อกว่า 2 ปีก่อน เนื่องจากเป็นแผนที่จัดว่าเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย มีรายละเอียด ปลีกย่อย กลุ่ม SHIN จึงได้จัดให้มีการบรรยายพิเศษในหัวข้อนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีวีระ วีรธรรมสาธิต ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานบริหารทรัพยากรบุคคลของ SHIN เป็น วิทยากร
เป็นการออกมาพูดถึงเรื่อง ESOP เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปี ที่ SHIN เริ่ม นำ ESOP เข้ามาใช้ และเป็นการพูดในช่วง ที่สังคมกำลังตั้งข้อสงสัยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับกลุ่ม SHIN เนื่องจากในช่วง 1 เดือน เศษก่อนหน้านี้มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ฯ ออกมาว่าผู้บริหารกลุ่ม SHIN ได้มีการขายหุ้นออกมาเป็นจำนวนมาก ติดต่อกันตลอดทั้งเดือน (รายละเอียดดูจากตารางการขายหุ้นของผู้บริหารกลุ่มชินคอร์ป)
ESOP ต่างจาก Stock Option Plan ตรงที่ Stock Option Plan เป็นการ ให้หุ้นกับพนักงานโดยตรง ตามอัตราส่วนของเงินเดือนหรืออายุงาน เมื่อได้รับหุ้นแล้ว พนักงานจะถือครองหุ้นนั้น หรือขายต่อได้ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อถึงกำหนดเวลา
แต่ ESOP ที่ SHIN นำมาใช้จะมีความสลับซับซ้อนกว่า
ESOP ของ SHIN เป็นการให้สิทธิ์โดยการออกใบสำคัญแสดงสิทธิ์ (warrants) ให้กับผู้บริหารในการซื้อหุ้น ในสัดส่วนไม่เกิน 5% ของทุนจดทะเบียน warrants ดัง กล่าวมีระยะเวลาใช้สิทธิ์ (vesting period) 3 ปี โดยในแต่ละปีจะสามารถใช้สิทธิ์ได้เพียง 1 ใน 3 ของปริมาณที่ได้รับ ยกตัวอย่างเช่นผู้บริหารรายหนึ่งได้รับสิทธิ์ซื้อหุ้น 30,000 หุ้น ก็จะสามารถใช้สิทธิ์ซื้อได้ 10,000 หุ้นในปีแรก อีก 10,000 หุ้นในปีที่ 2 และ 10,000 หุ้นสุดท้ายในปีที่ 3
โดยเมื่อถึงเวลาใช้สิทธิ์จะสามารถซื้อหุ้นในราคาที่กำหนดในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ของปีก่อน ซึ่งหุ้นส่วนใหญ่มักจะมีมูลค่าสูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งหมายถึงผู้ใช้สิทธิ์ จะได้รับส่วนต่างของราคาเป็นผลตอบแทน
ตั้งแต่ปี 2545 SHIN ได้ออก warrants มาแล้ว 3 ครั้ง คิดเป็น 2% ของ ทุนจดทะเบียน โดยมีผู้บริหารตั้งแต่ระดับผู้ช่วย VP ขึ้นไปมากกว่า 170 คนที่ได้รับสิทธิ์ และบางส่วนได้เริ่มทยอยใช้สิทธิ์ไปบ้างแล้ว
แต่ดูเหมือนว่าในช่วงเดือนกันยายน เป็นช่วงที่ผู้บริหารระดับสูงใช้สิทธิ์นี้มากที่สุด
ธีระกล่าวว่าการขายหุ้นของผู้บริหาร กลุ่ม SHIN ที่ผ่านมาถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งไม่น่ามีผลต่อราคาหุ้น และเชื่อว่านักลงทุน สถาบันคงมีความเข้าใจ เพราะจำนวนที่ขายออกมามีไม่มากนัก
สำหรับ ESOP ในต่างประเทศ โดย เฉพาะในสหรัฐอเมริกานั้น มีมานานกว่า 30 ปี โดยมีเป้าหมายแรกเริ่มคือการให้พนักงานมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของบริษัท ต่อมาได้มีการพัฒนา มีประโยชน์เรื่องการยกเว้นภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ปัจจุบันมีบริษัทมากกว่า 11,000 แห่ง ทั้งที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทขนาดเล็กได้นำ ESOP มาเป็นส่วนหนึ่งของ benefit plan
ด้วยประโยชน์ในเรื่องการยกเว้นภาษี ทำให้ ESOP ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่นๆ เช่น การระดมเงินทุนจากพนักงานเพื่อการขยายกิจการ การขายกิจการให้ กับพนักงานในกรณีที่ผู้ก่อตั้งต้องการที่จะ เกษียณ นอกเหนือจากใช้เป็นแรงจูงใจให้พนักงานทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากผลการวิจัย บริษัทที่นำ ESOP เข้ามาใช้จะสามารถเพิ่มยอดขายและผลผลิตได้ประมาณ 2-3% เมื่อเทียบกับถ้าไม่ได้นำ ESOP มาใช้
ความรู้สึกเป็นเจ้าของบริษัทที่เกิดขึ้นโดย ESOP หากนำไปประยุกต์ใช้กับการให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมในระดับที่เหมาะสม ดูจะเป็นหัวข้อที่โลกตะวันตกให้ความสนใจมาได้ระยะหนึ่ง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|