Turning Point


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

หากการแยกตัวออกมาเป็นอิสระจากธนาคารกรุงไทยและนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็น Turning Point แรกของบริษัทบัตรกรุงไทย (KTC) แล้ว การที่ KTC มีสมาชิกบัตรเครดิตครบ 1 ล้านใบ ก็น่าจะถือเป็น Turning Point ที่ 2 ของ card issuer รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยรายนี้ได้เลยทีเดียว

เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา KTC เพิ่งอนุมัติบัตรเครดิต ใบที่ 1 ล้าน ให้กับสุนัดดา พัดคุ้ม ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัทซันทาว เวอร์ ส่งผลให้ยอดผู้ถือบัตรเครดิตของ KTC ทะลุระดับ 1 ล้านใบ เป็นรายแรกของ card issuer ในประเทศไทย

ถือเป็นยอดการเติบโตที่รวดเร็วมาก สำหรับ KTC ที่เพิ่งทำ ธุรกิจอย่างเป็นเอกชนเต็มรูปแบบมาได้เพียงแค่ 2 ปีเศษๆ เท่านั้น

KTC ตั้งขึ้นในปี 2539 เพื่อเป็นบริษัทลูก ทำหน้าที่บริหารบัตรเครดิตให้กับธนาคารกรุงไทย ซึ่งในช่วงนั้นยอดผู้ถือบัตรเครดิต ของธนาคารกรุงไทย มีอยู่เพียง 94,156 ใบเท่านั้น

ต้นปี 2545 ก่อนที่จะแยกตัวออกมา ยอดผู้ถือบัตรเครดิตธนาคารกรุงไทยเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1.8 แสนใบ แต่หลังจากแยก ตัวเป็นอิสระ และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในสิ้นปี 2545 ยอดผู้ถือบัตร KTC ได้เพิ่มขึ้นมาถึง 595,375 ใบ และขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็น 785,107 ใบ ในสิ้นปี 2546

การที่มีจำนวนสมาชิกบัตรเครดิตครบ 1 ล้านใบ เมื่อรวมกับจำนวนลูกค้าประเภทอื่น เช่นบัตรเดบิต ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ประมาณ 4 แสนใบ และลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลอีกประมาณ 1 แสนบัญชี ทำให้ KTC ต้องพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ให้สอดรับกับจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นมาดังกล่าว

"เราเชื่อว่าอีก 3-5 ปี จำนวนลูกค้าของเรา ในทุกธุรกิจจะเพิ่มขึ้นมาเป็นประมาณ 5 ล้านคน" นิวัตต์ จิตตาลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC บอก

จำนวนคน 5 ล้านคน ถือเป็นชุมชนย่อมๆ ชุมชนหนึ่ง เมื่อผนวกกับจุดแข็งเรื่องการเก็บข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน ถือได้ว่าเป็นจุดได้เปรียบที่สำคัญของ KTC

โมเดลธุรกิจของ KTC ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาใหม่ ถือเป็น การต่อยอดจากโมเดลเดิมที่เน้นการสร้างสรรค์สินค้า ตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค โดยในโมเดลใหม่ KTC ได้นิยามตัวเองเป็น membership company โดยลูกค้าทุกคนในทุกสินค้า ถือเป็น 1 ในสมาชิกของบริษัท ซึ่ง KTC ต้องพยายามสรรหาสินค้าหรือบริการ มานำเสนอให้ตามความต้องการจากพฤติกรรมที่แสดงออกมาของสมาชิกเหล่านี้

ปัจจุบันสมาชิกผู้ใช้บริการของ KTC นอกจากสามารถใช้บริการบัตรเครดิต บัตรเดบิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อผ่อนชำระสินค้า ที่ได้เปิดตัวบริการไปแล้ว KTC กำลังเตรียมจะขยายบริการออกไปยังธุรกิจอื่นๆ อีก เช่น Virtual Payment คือการให้บริการ ชำระค่าบริการต่างๆ ผ่านระบบของ KTC การออกบัตร Purchasing Card ให้กับหน่วยงานราชการไว้ใช้จ่ายชำระรายการสินค้า ซึ่งเป็น โครงการต่อเนื่องจากโครงการ GFMIS ของธนาคารกรุงไทย

นอกจากนี้ KTC กำลังจะขยายการให้บริการสินเชื่อผ่อนชำระจากเดิมที่บริการเฉพาะผู้ถือบัตร KTC ไปยังกลุ่มลูกค้าทั่วไป รวมถึงการเสนอขายบริการประกันภัย และประกันสุขภาพ

ที่สำคัญคือธุรกิจให้บริการสมัครสมาชิกหนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่างๆ รวมถึงการเปิดบริษัทท่องเที่ยวในนาม KTC World ที่เริ่มทดลองเปิดให้บริการแล้ว ฯลฯ

เรียกได้ว่าใครก็ตามที่เข้ามาเป็นสมาชิกในชุมชน KTC มีโอกาสที่จะได้รับการบริการแทบจะครบวงจรของการใช้จ่ายในแต่ละวัน

"สินค้า และบริการทุกประเภท เราสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสมาชิก แต่เรายังยืนยันว่าธุรกิจหลักของเรา คือการให้บริการบัตรเครดิต" นิวัตต์กล่าว

Membership Company น่าจะเป็นโมเดลใหม่ที่สร้างสีสัน ให้กับธุรกิจของ KTC นับจากนี้เป็นต้นไปได้มากพอสมควร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.